xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 พ.ค.2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


1.“ในหลวง” พระราชทานเงินที่ ปชช.ถวายในงานพระบรมศพ ร.9-งานอุ่นไอรัก 2.4 พันล้านให้ 27 รพ. ซื้ออุปกรณ์การแพทย์

ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม โดยเปลี่ยนสถานะจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงมีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" โดยทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้ วันเดียวกัน เวลาประมาณ 17.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระดำเนินกระหนาบข้างคู่เคียงพระราชยาน ในฐานะที่ทรงดำรงพระยศเป็นราชองครักษ์ในพระองค์

ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ ผ่าน มีประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองเฝ้ารอชื่นชมพระบารมีจำนวนมาก พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ

ต่อมา วันที่ 6 พฤษภาคม เวลาประมาณ 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยประชาชนที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องยาวนาน พร้อมโบกธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสีพระพักตร์แจ่มใส ทรงโบกพระหัตถ์และแย้มพระสรวลทักทายประชาชน ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวลทักทายประชาชนเช่นกัน ซึ่งภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตามางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จออกสีหบัญชรเคียงข้างพระองค์เช่นกัน ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีและเสียงทรงพระเจริญจากประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงยกโทรศัพท์มือถือขึ้นบันทึกภาพประชาชนด้วย ก่อนทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนอย่างเป็นกันเอง

ทั้งนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลแทนราษฎรทุกหมู่เหล่าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจนายกรัฐมนตรีและประชาชนที่มาร่วมแสดงความปรารถนาดีในวาระบรมราชาภิษกของพระองค์ในครั้งนี้ “...ทำให้ข้าพเจ้าอิ่มใจอย่างยิ่ง ขอให้ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายในการแสดงไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้ จงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคน ทุกฝ่าย จะพร้อมกันบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเราต่อไป ขอขอบใจในคำอำนวยพร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของทุกคน และขอสนองพรให้ทุกท่านมีความผาสุกสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาจงทั่วกัน”

ต่อมา วันที่ 7 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล และผู้อำนวยการสถานพยาบาล จำนวน 27 แห่ง เฝ้าฯ รับพระราชทานเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงการดูแลรักษาพยาบาลสุขภาพร่างกายประชาชน ตลอดจนประสิทธิภาพด้านการให้บริการทางการแพทย์ จึงพระราชทานเงินในการจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ จากทั่วประเทศที่ยังคงขาดแคลนและจำเป็น เพื่อให้ผู้ได้รับการรักษา มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยพระราชทานเงินที่ประชาชนได้ร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งหมด และส่วนหนึ่งเป็นเงินรายได้จากการจัดงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,407,144,487,59 บาท

2.5 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้รับพระราชทานอภัยโทษ
(บน) อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เพื่อพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยผู้ที่เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ มีอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย 5 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งศาลฎีกาตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2562 ในคดีชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังไม่เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากต้องโทษคดีอื่นด้วย แต่ได้รับการลดโทษตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะ ใสยกตะศิลา, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ซึ่งอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 4 คน ได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จากนั้นได้ถ่ายภาพร่วมกับแนวร่วมพันธมิตรฯ ที่มารอให้กำลังใจ

ส่วน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังเข้ารับรักษาอาการป่วย โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯ มารอรับและให้กำลังใจเช่นกัน ซึ่ง พล.ต.จำลอง กล่าวว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสมหามงคลพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษจนมีการปล่อยตัวในวันนี้ (10 พ.ค.)

ขณะที่นายสมศักดิ์ เผยว่า ในนามผู้ถูกคุมขังและครอบครัว รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและขอทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติต่อไป ที่ผ่านมาเมื่อศาลพิพากษาว่ากระทำความผิด ก็ยอมรับ เคารพการตัดสินของศาลในทุกคดี ไม่หลบหนี

ส่วนนายสุริยะใส กล่าวว่า ถือเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตที่ต้องนำมาคิดทบทวนในช่วงอยู่ในเรือนจำ เป็นเวลา 87 วัน แม้ศาลตัดสินว่ากระทำผิด ก็ยอมรับ ไม่หลบหนีศาล การโจมตีศาลและตำหนิคำพิพากษาที่ไม่ถูกใจ ไม่ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่การยอมรับคำพิพากษาในชั้นฎีกาเป็นทางเดียวที่ทำให้บ้านเมืองอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณผู้คุมและเพื่อนนักโทษซึ่งเปรียบเสมือนครู วอนสังคมอย่ามองนักโทษเป็นคนเลวหรือเป็นขยะ เพราะจำนวนไม่น้อยผิดพลาดแค่ครั้งเดียว บางคนเข้าคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว ดังนั้น การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นหน้าที่ต้องช่วยกัน "ระหว่างติดคุกผมได้เจอกับคนเสื้อแดง คุยกันทุกเรื่อง แต่ทุกคนมีบทเรียนเฉพาะตัว เราจึงต้องกล้าวิจารณ์ชีวิตตัวเอง และเวลา 87 วันของผมเป็นการดีท็อกซ์ชีวิตตัวเอง"

ด้านนายพิภพ กล่าวว่า ทุกคนในคุกต่างก็เป็นมนุษย์ที่อยากเป็นคนดี ขึ้นอยู่กับสังคมว่าให้โอกาสหรือไม่ และว่า จากสภาพความแออัดในคุก ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ใช่แค่นำคนมาติดคุก แต่ควรนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาดูแลผู้ต้องหาระหว่างต่อสู้คดี และขอฝากไปยังคณะนิติศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยเปิดภาควิชาคุกศึกษา นำผู้พ้นโทษและพัศดีมาร่วมถอดบทเรียนเพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

3.กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.เขตแล้ว 349 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรค ใช้สูตร กรธ.คำนวณ หลังศาล รธน.ชี้ ไม่ขัด รธน.!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางส่วน ถ่ายรูปร่วมกับ 15 รัฐมนตรีที่ลาออก (ล่าง) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเอกสารให้ กกต.เพิ่มเติมหลังพบ ธนาธร ถือหุ้นสื่อเพิ่มอีก 13 บริษัท
สถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว โดยประกาศผู้ได้รับเลือกตั้งจำนวน 349 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และขอให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ารับหนังสือรับรองที่สำนักงาน กกต.ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป ส่วนคำร้องคัดค้านต่างๆ อยู่ระหว่างตรวจสอบ

สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ กกต.ประกาศรับรอง 349 คน จาก 350 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย (พท.) 136 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 97 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 39 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 33 ที่นั่ง, พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 30 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 6 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ (ปช.) 6 ที่นั่ง, พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พรรคละ 1 ที่นั่ง ส่วนอีก 1 เขต ที่ยังไม่ประกาศรับรอง เนื่องจากต้องรอผลเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ คือ เขต 8 จ.เชียงใหม่ หลังผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยโดน กกต.แจกใบส้ม

วันต่อมา 8 พ.ค. ก่อนที่ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

หลังจากนั้น กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน โดยใช้สูตรคำนวณตามมาตรา 128 หรือสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีพรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 26 พรรค ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ 50 คน, พรรคพลังประชารัฐ 18 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน, พรรคภูมิใจไทย 12 คน, พรรคเสรีรวมไทย 10 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 5 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 คน, พรรคชาติพัฒนา 2 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน, พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม พรรคละ 1 คน

ทั้งนี้ กกต.ใช้วิธีประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ไปก่อน ส่วนกรณีที่มีผู้ถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติหลายคนนั้น กกต.จะเร่งตรวจสอบและให้โอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

ส่วนความคืบหน้าเรื่องโอนหุ้นสื่อให้แม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร และนายธนาธรได้ชี้แจงเรียบร้อยแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. หลังตรวจสอบเพิ่มเติมกับทางสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า นอกจากบริษัท วี-ลัค มีเดีย แล้ว นายธนาธรยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการว่าเกี่ยวข้องกับสื่ออีก 13 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด 2.บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสทตรี จำกัด 3. บริษัท ไทยซัมมิท พลาสเทค จำกัด 4.บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จำกัด 5.บริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด 6.บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด 7.บริษัท ไทยซัมมิท บ้านโพธิ์ จำกัด 8.บริษัท ไทยซัมมิท โกลด์ เพรส จำกัด 9.บริษัท ไทยซัมมิท โอโด เพรส จำกัด 10.บริษัท ไทยซัมมิท ระยอง โอโดพาร์ท อินดัสตรี จำกัด 11.บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด 12.บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด และ 13.บริษัท ไทยซัมมิท เอนจิเนียริง จำกัด จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบ หากพบข้อมูลที่เป็นจริง จะส่งผลให้นายธนาธรเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถามนายธนาธรเกี่ยวกับการถือหุ้นใน 13 บริษัทดังกล่าว นายธนาธรอ้างว่า โอนหมดแล้ว และโอนในวันที่ 8 ม.ค.เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย แต่นายธนาธรไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพื่อยืนยันว่า ได้โอนหุ้นดังกล่าวจริง

ส่วนความคืบหน้าการสรรหา ส.ว.250 คน ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯ รายชื่อว่าที่ 250 ส.ว.ขึ้นไปแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีลาออก เพื่อไปเป็น ส.ว.จำนวน 15 คน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า รัฐมนตรีที่เหลือ 17 คน สามารถทำงานและประชุมได้ตามปกติ โดยการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.เป็นครั้งสุดท้ายของรัฐมนตรีที่ลาออก

สำหรับรัฐมนตรีที่ลาออกแล้ว 15 คนตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ประกอบด้วย 1. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 2.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 5.นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7.พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 8.นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

9.นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 10.พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 12.นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 13.พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 14.นายอุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 15.นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าว สนช.เตรียมยื่นลาออก เพื่อไปเป็น ส.ว.ว่า จากการสอบถามสมาชิกที่มีความสนิทสนม คาดว่าจะมีสมาชิก สนช.เกิน 60 คน ยื่นใบลาออก

ด้าน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิก สนช.และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ได้เป็น ส.ว. และได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สนช.ไปแล้ว”

4.ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต 7 ช่อง คาดคนสื่อตกงานนับพันคน ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อจี้ผู้ประกอบการจ่ายเยียวยา พนง.มากกว่า กม.แรงงาน!
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
จากกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศคำสั่งเรื่องมาตรการเเก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์เเละกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ โดยให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 10 พ.ค. และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาความเหมาะสมในการจ่ายชดเชยให้ผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาตดังกล่าว

ปรากฏว่าหลังครบกำหนด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า มีช่องทีวีดิจิทัลยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตทั้งหมด 7 ช่อง ประกอบด้วย 1.ไบรท์ทีวี ช่อง 20 2.วอยซ์ทีวี ช่อง 21 3.MCOT Family ช่อง 14 4.สปริงนิวส์ ช่อง 19 5.สปริง ช่อง 26 (Now26 เดิม) 6.ช่อง 3 แฟมิลี่ ช่อง 13 และ 7.ช่อง 3 SD ช่อง 28 ส่งผลให้ช่องทีวีธุรกิจซึ่งเดิมมี 22 ช่อง เหลือเพียง 15 ช่อง

นายฐากรกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ จะเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อแจ้งความประสงค์ในการขอคืนใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการส่งเอกสารแจ้งกับทาง กสทช. เพื่อพิจารณาก่อนกำหนดมาตรการ ให้คืนใบอนุญาต และยุติการออกอากาศ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดไม่น่าจะเกินเดือนสิงหาคม “เมื่อคณะกรรมการ กสทช. เคาะวันยุติการออกอากาศแล้ว ต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยาก่อนในช่วง 30-45 วัน นับจากวันที่ กสทช.มีมติ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของการออกอากาศ ก็จะมีการคืนเงินภายในวันรุ่งขึ้น”

นายฐากรกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจและวิตกกังวลอย่างมาก คือ การเยียวยาบุคคลากรในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ซึ่งหลังจากที่ช่องดังกล่าวยุบเลิกไปแล้ว จะต้องมีพนักงานที่ตกงานนับพันคน โดยทางนายกรัฐมนตรี ได้กำชับต่อ กสทช. ว่าหลังจากที่ช่องทีวีดังกล่าวที่ยุบเลิกกิจการและได้รับเงินชดเชยแล้ว ให้รีบเยียวยากลับคืนพนักงานโดยเร็วที่สุดและให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดด้วย

ทั้งนี้ นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะได้รับเงินจากการคืนใบอนุญาตช่อง สปริงนิวส์ 19 ทั้งหมด 949.7 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดจาก กสทช. 730.1 ล้านบาท และค่าใบอนุญาตงวดที่ 6 ที่ไม่ต้องชำระอีก 219.6 ล้านบาท

ด้านเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการแจ้งความประสงค์คืนช่องสปริง 26 โดยมีแผนจะนำเงินค่าชดเชยดังกล่าวไปชำระหนี้สินกับทางสถาบันการเงิน และเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 918 ล้านบาท ซึ่งต้องรอสำนักงาน กสทช. พิจารณาเงินชดเชยตามกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วน วอยซ์ ทีวี ออกแถลงการณ์ว่า จะหันไปออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์แทน พร้อมกับปรับโครงสร้างการทำงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางและรูปแบบในอนาคต โดยให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างเดิมน้อยที่สุด

ส่วนทางบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการขอคืนช่องรายการโทรทัศน์แบบความคมชัดปกติ (SD) หมวดหมู่ช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว หมายเลข 14 ช่อง MCOT Family และยืนยันจุดยืนในการสนับสนุนส่งเสริมเด็ก เยาวชน สังคม และครอบครัวผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางต่อไป

ด้าน บมจ.บีอีซีเวิลด์ หรือ BEC ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 2 ช่องคือ ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 SD ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบปัญหาการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างรุนแรงจากจำนวนช่องที่มีมากเกินไป ขณะที่เม็ดเงินโฆษณากลับมีการหดตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ธุรกิจทีวีดิจิทัลยังได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชม ที่หันไปรับชมรายการต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องแบกรับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

ด้านสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กสทช. ขอความร่วมมือ/กำชับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาต ไห้ชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงาน มากกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากการคืนใบอนุญาตดังกล่าว ผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช.เช่นกัน นอกจากนี้ยังขอให้ผู้ประกอบการ เจ้าของสื่อ ชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงานด้วยความเป็นธรรมและมากกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากเป็นการปิดบริษัทอย่างกระทันหัน ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด และการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช. เช่นกัน รวมทั้งต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้ด้วย

5.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก “จุฑามาศ” อดีตผู้ว่าฯ ททท. 50 ปี คดีรับสินบน ส่วนลูกสาวแก้โทษเหลือจำคุก 40 ปี!
นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสินบนข้ามชาติ ที่อัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 72 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 45 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตาม พ.รบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอรราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ .2542 มาตรา 12 จากกรณีรับเงินตอบแทนจากสามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (หรือปี พ.ศ.2545 - 2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2558 ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี และจำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 44 ปี พร้อมกันนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ริบเงินจำนวน 62,724,776 บาท

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว พิพากษาแก้โทษจำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทงๆ ละ 4 ปี เป็นจำคุก 10 กระทง เหลือจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วนนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทงๆ ละ 6 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้วให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี พร้อมยกคำสั่งริบทรัพย์จำนวน 62,724,776 บาท เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายคำฟ้อง

หลังศาลฯ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสองกลับไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น