ในยุคที่มีการเปิดโลกทางทะเลเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีก่อน ชาวดัตซ์ หรือชาวฮอลันดา เป็นชาติหนึ่งที่ส่งกองเรือออกล่าแผ่นดินใหม่ไปทั่ว เมื่อพบที่เหมาะก็เข้ายึดครองและตั้งสถานีการค้าขึ้น อย่างเช่นเมืองนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาในวันนี้ ก็เคยเป็นสถานีการค้าของฮอลันดาในชื่อ นิวอัมสเตอร์ดัม มาก่อน โดยชาวดัตซ์ได้ยึดครองทางตอนใต้ของเกาะแมนฮัตตัน ตั้งเป็น นิวเนเธอร์แลนด์ ใน พ.ศ.๒๑๖๗ ส่วนตอนใต้สุดของเกาะแมนฮัตตัน ปากแม่น้ำฮัดสัน ก็คือ นิวอัมสเตอร์ดัม สถานีการค้าของฮอลันดา พร้อมป้อมปราการที่มั่นคง ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองใน พ.ศ.๒๒๐๗ และเปลี่ยนชื่อเป็น นิวยอร์ค
ยุคเดียวกัน ใน พ.ศ.๒๑๔๗ สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ฮอลันดาได้เข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่ออิทธิพลของโปรตุเกสที่เข้ามาเป็นชาติแรกลดลง เนื่องจากประเทศแม่ถูกสเปนยึดครอง หวังจะอาศัยสำเภาไทยไปค้าขายกับจีนและญี่ปุ่นที่ไม่ต้อนรับฝรั่ง ไทยไม่ยอมเป็นนายหน้า แต่ยินดีที่จะขายสินค้าให้ฮอลันดาเอาไปขายต่อ
ต่อมาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินปากคลองบางปลากด เหนือเมืองพระประแดงให้ฮอลันดาตั้งสถานีการค้า มีการก่อสร้างโกดังสินค้าพร้อมบ้านพักและหอสังเกตการณ์เดินเรือ ตั้งชื่อว่า นิวอัมสเตอร์ดัม จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีผู้รับใช้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ ได้กีดกันการค้าของฮอลันดาจนต้องย้ายฐานออกไปจากกรุงสยามไปพักหนึ่ง
มีบันทึกของชาวต่างประเทศหลายรายที่เดินทางเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา และได้กล่าวถึงนิวอัมสเตอร์ดัมที่ปากคลองบางปลากดไว้ อย่างเช่น
บันทึกการเดินทางของเรือดีไลท์ โดย กัปตันจอห์น สมิธ ในภารกิจของบริษัทอิสอินเดียของอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศจีนว่า
“...วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๖๘๓ (พ.ศ.๒๒๒๖) เราได้มาถึงก้นอ่าวสยามและพบแม่น้ำ ได้ส่งนายอับร. นาวาโรขึ้นฝั่งไป...ในตอนเย็นนายนาวาโรได้กลับมายังเรือ และได้นำตัวคนนำร่องชาวฮอลันดาจากสำนักงานของนายท่าที่อยู่ปากแม่น้ำมาด้วย เพื่อนำเรือของเราข้ามสันดอน และได้มาทอดสมอในแม่น้ำประมาณ ๑ ลีกเหนือที่ทำการท่าเรือของฮอลันดา ซึ่งเรียกว่า อัมสเตอร์ดัม...”
ส่วนนายแพทย์แอนเจลเบีร์ท แกมเฟอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยากับคณะทูตฮอลันดาใน พ.ศ.๒๒๓๓ ในสมัยระเพทราชา ได้บันทึกถึงช่วงมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ว่า
“...ปากแม่น้ำนั้นบานออกเป็นทะเล ในระหว่างที่ดินอันเป็นดอนเตี้ยๆขนาบทั้งสองข้าง ซึ่งไม่มีอะไรเลยนอกจากกองโคลน ไม่ไกลออกไปเท่าไรนัก เราเห็นรังดินปืนทิ้งอยู่กับปืนใหญ่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ตั้งแต่คราวเกิดเหตุยุ่งยากกับฝรั่งเศสที่แล้วมา... ตกเที่ยงเราก็มาถึงหมู่บ้านและโรงสินค้าของเนเธอร์แลนด์ ชื่อ อัมสเตอร์ดัม ตั้งอยู่ห่างปากแม่น้ำมาเกือบ ๒ ลีก นายบ้านตำบลนี้ชื่อคอเร เป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิด วันที่ ๘ มิถุนายน ตอนเช้า ข้าพเจ้าไปเดินเลียบเลาะป่าละเมาะใกล้หมู่บ้าน แต่ไม่ได้ผลอะไรมากนัก ด้วยว่าบริเวณป่านั้นน้ำท่วมเสียเป็นส่วนมาก ส่วนบริเวณที่น้ำมิได้ท่วมก็เป็นที่อยู่ของเสือและสัตว์ร้ายอื่นๆ...”
อีกทั้งในบันทึกของคณะสงฆ์ไทยที่เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปลังกาทวีปใน พ.ศ.๒๒๙๔ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้บันทึกไว้ว่า
“...ลงไปถึงเมืองธนบุรีเพลาบ่าย ๕ โมงเย็นมีเศษ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ เพลาเช้า กรมการนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปฉัน ณ ศาลากลาง แล้วมาเวียนเทียนสมโภชพระราชสาส์น แล้วลงไปที่ตึกวิลันดา ณ บางปลากด นายกำปั่นได้ทอดสมอบรรทุกฝาง ๖ วัน.. ถึงเมืองพระประแดงรุ่งขึ้นวันพุธ เดือนยี่ เวียนเทียนสมโภชพระราชสาส์นแล้ว ออกไปถึงน้ำเขียวปากน้ำบางเจ้าพระยา...”
ในบันทึกของแอลเจลเบิร์ท แกมเฟอร์ ตอนหนึ่งยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า โกดังสินค้าและสำนักงานของนิวอัมสเตอร์ดัมนี้สร้างด้วยไม่ไผ่ แต่ในบันทึกของคณะสงฆ์ในอีก ๖๑ ปีต่อมา บอกว่า “ลงไปที่ตึกวิลันดา” แสดงว่าภายหลังมีการสร้างเป็นอาคารถาวร
แต่อย่างไรก็ตาม นิวอัมเสตอร์ดัมที่ปากคลองบางปลากดก็ไม่รุ่งเรืองเหมือนนิวอัมเตอร์ดัมที่ปากแม่น้ำฮัดสัน ถูกทอดทิ้งให้จางหายไปจากประวัติศาสตร์หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ และกล่าวกันว่า ในสมัยกรุงธนบุรีก็มีการรื้ออิฐจากนิวอัมสเตอร์ดัมที่ถูกทิ้งร้างมาสร้างกรุงธนบุรี อีกทั้งบริเวณนั้นก็เป็นคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่ถูกน้ำพุ่งเซาะ ตลิ่งพังลงน้ำไปทุกปี เวลาเป็นร้อยๆก็คงพังเข้าไปเป็นร้อยๆเมตร ตึกวิลันดาและนิวอัมสเตอร์ดัมก็ลงไปอยู่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ไม่เหลือร่องรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นเลย
จากการสำรวจคาดเดาในสมัยนี้ ก็บอกได้แต่เพียงว่า คงอยู่แถวบริษัทกระจกไทยอาซาฮี ที่ปากคลองบางปลากดนั่นเอง