xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอีก! "ทรามาดอล" อันตรายหากใช้ผิดวิธี พบใช้มากในกลุ่มวัยรุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทย์หญิง โรงพยาบาลแม่สอด โพสต์เป็นอุทาหรณ์ถึงพิษของยา "ทรามาดอล" หากใช้ผิดวิธีมีอันตรายถึงชีวิต พบมากในกลุ่มวัยเรียน วอนนึกถึงตัวเองและครอบครัว

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. แพทย์หญิง ณัฐกานต์ ชื่นชม แพทย์จากโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ได้ออกมาโพสต์เตือนภัยของยา "ทรามาดอล" หลังพบเด็กวัย 16 ปี ถูกหามส่งที่โรงพยาบาลในสภาพเกือบโคม่า ภายหลังการรักษาทราบว่าเด็กรายดังกล่าวได้รับประทานยา ทรามาดอล จึงทำให้มีสภาพดังกล่าว

แพทย์หญิง ณัฐกานต์ จึงอยากจะโพสต์เตือนภัยผู้ที่ชอบลองของ นำยาชนิดดังกล่าวมาผสมในน้ำอัดลม หรือ สุรา แล้วดื่มกินด้วยความคึกคะนอง ถึงยาชนิดดังกล่าวจะมีประโยชน์ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่หากนำไปรับประทานผิดวิธีก็อาจจะทำให้ถึงชีวิตได้

สุดท้าย ได้ฝากข้อคิดถึงกลุ่มวัยเรียนว่า "น้องๆนักเรียนเรายังมีหน้าที่เรียน ไม่ใช่มีหน้าที่ลอง..บางครั้งการลองผิดลองถูกอาจก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่บางครั้งเราลองไปแล้วอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟื้นกลับมารับรู้โทษของสิ่งที่เราทดลองก็ได้..ยิ่งได้เห็นแววตาของพ่อและแม่ของน้องๆแล้ว หมอรู้เลยว่าสิ่งที่น้องๆทำไป ไม่ได้มีคุณค่าทัดเทียมกับความรักที่พ่อแม่มีให้เลยค่ะ"

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน มีทั้งแบบยาเม็ดและแคปซูล ในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง ผลข้างเคียงที่พบจากการใช้ยาทรามาดอล เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม หากใช้ในปริมาณมากอาจเกิดประสาทหลอน ชัก และนำไปสู่การเสียชีวิต หากใช้ยาหลายตัวร่วมกัน โดยเฉพาะยาอี ยาบ้า จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาทรามาดอลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยาทรามาดอลจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องควบคุมโดยแพทย์ และห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการลักลอบขายให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งการใช้เสพแบบยาเดี่ยวและผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ

ขณะที่นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนกลุ่มวัยรุ่นที่นำยาทรามาดอลมาใช้ในทางที่ผิด ให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวให้มาก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น