วันนี้ (5 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่ารัฐมนตรีหลายท่านในคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยหนึ่งในรัฐมนตรีตามกระแสข่าวดังกล่าวคือ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ซึ่งในระยะ 2-3 วันที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกกำหนดการในสัปดาห์นี้ทั้งหมด และในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินสายไปติดตามการทำงานของหน่วยงานสังกัด ทส.แทบทุกกรม โดยได้มีการพูดถึงผลงานของตนเองที่ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ทส. เช่น โครงการป่าในเมือง โครงการ คทช. ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีการพูดถึงโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น โครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น
นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า โครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ให้ ทส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวเขตป่าไม้ พร้อมจัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4,000 รวมทั้งพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบแนวเขตป่าไม้
นายโสภณกล่าวอีกว่า ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 และแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) เพื่อรวบรวมและแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทุกประเภทที่ไม่ชัดเจน และจัดทำให้อยู่ในมาตราส่วนเดียวกันทั้งหมด สามารถนําไปกําหนดเป็นแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบบูรณาการในอนาคต ทั้งนี้ ได้เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 งบกลาง จำนวน 65,215,600 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 5 คณะ พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามความจำเป็น
"สำหรับ ทส. ในฐานะประธานและฝ่ายเลขานุการในคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 ได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการจำนวน 20,057,200 บาท เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ จัดเตรียมข้อมูล ฐานข้อมูลในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและการฝึกอบรมด้านเทคนิคการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว"
นายโสภณกล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานภาพรวมโครงการ ณ ปัจจุบัน คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการฯ ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2562 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบและมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติรับไปพิจารณาดำเนินการกำกับติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐให้ถูกต้อง ตรงกัน และเห็นชอบร่วมกันจนเป็นที่ยุติ และเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบรับรองแนวเขตที่ดินของรัฐอีกครั้ง พร้อมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ อีกทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นใด เพื่อให้การจัดทำแนวเขตที่ดินของรัฐและราษฎรเกิดความชัดเจนและยั่งยืนต่อไป
นายโสภณกล่าวเพิ่มว่า การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) เป็นการต่อยอดผลการดำเนินงานจากโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552-2555 ซึ่งเริ่มดำเนินการและแล้วเสร็จก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ารับตำแหน่ง อีกทั้ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2558 จึงมิได้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการตามที่เป็นข่าว แต่ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินงานโครงการก็สามารถต่อยอดในการแก้ไขปัญหาการซ้อนทับของแนวเขตที่ดินป่าไม้ของประเทศ แต่เนื่องจากในบางพื้นที่ยังไม่มีข้อยุติของแนวเขตป่าไม้ที่ชัดเจน รวมถึงยังไม่มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันกับราษฎรในพื้นที่เพื่อหาข้อยุติต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานเดียวกันกับแนวเขตที่ดินของรัฐทุกประเภท รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงได้ต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) เพื่อเป็นมาตรฐานและใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่ทราบกัน
ด้าน นายวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวชี้แจงในประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นว่า ขั้นตอนและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ ตั้งแต่การดำเนินการจัดการกับพื้นที่ที่ถูกบุกรุก การฟื้นฟู การสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว รวมถึงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เอกชน และการส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริให้คนอยู่กับป่าได้ โดยการดำเนินงานภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยเน้นประโยชน์และความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องเกิดความยั่งยืนในระยะยาว นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน
"ซึ่งผลที่ได้ตามมา คือ สามารถลดปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 153 พื้นที่ ใน 58 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5 แสนไร่ จัดคนลงในพื้นที่และรับรองรายชื่อแล้ว จำนวนกว่า 41,000 ราย พร้อมส่งเสริมอาชีพแล้ว 118 พื้นที่ ใน 56 จังหวัด ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีศักยภาพและคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังจัดตั้งป่าชุมชนอีกจำนวน 6,228 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 3.68 ล้านไร่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนในการอนุรักษ์และดูแลป่าไม้ของประเทศ ทำให้ผืนป่าของประเทศไทยค่อยๆ กลับฟื้นคืนสภาพสู่ความสมบูรณ์ และพื้นที่ป่าไม้ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ" นายวิจารณ์กล่าว
นายโสภณกล่าวเสริมว่า การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูหลายปี ตั้งแต่เริ่มปลูก และดูแลจนกลับสู่สภาพความเป็นป่าสมบูรณ์ ซึ่งต้องอาศัยระยะกว่าภูเขาหัวโล้นจะกลับคืนสู่สภาพป่าสมบูรณ์ นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินงานของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน โดยได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่สำคัญๆ ได้แก่ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่...) พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศบังคับใช้แล้วหลายฉบับ และเตรียมการประกาศในส่วนที่เหลือต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการที่รัฐบาลได้ผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนอีกประการ ได้แก่ การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่เอกชน โดยประชาชนสามารถปลูกไม้มีค่า และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันได้ หรือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่สามารถปลูกและตัดขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนและช่วยอนุรักษ์ผืนป่าให้คงอยู่ต่อไป