xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 เม.ย.-4 พ.ค.2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


1."ในหลวง ร.10" ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็น "พระมหากษัตริย์" โดยสมบูรณ์แล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์มหามงคลของคนไทยเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ โดยพระราชพิธีเริ่มด้วยเมื่อวันที่ 3 พ.ค. เป็นการเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ พระราชลัญจกร จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ จุดเทียนชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ขณะที่วันนี้ (4 พ.ค.) เวลา 10.09-12.00 น. มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สรงพระมุรธาภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง อันเป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยสมบูรณ์, เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, เวลา 16.00 น. เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระสงฆ์ 80 รูป ถวายพระพร ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์, เวลา 18.00 น. เจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภช ณ หมู่พระมหามณเฑียร เฉลิมพระราชมณเฑียร เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในเวลา 13.09-20.30 น.

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

สำหรับพระนามเต็มของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พ.ค. เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จากนั้น เวลา 19.00 น. พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

วันที่ 6 พ.ค. เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

ทั้งนี้ ก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 1 พ.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ณ ห้อง ว.ป.ร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ในการสถาปนาสมเด็จพระราชินี

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อารักษ์อ่านประกาศสถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา เป็นสมเด็จพระราชินี ความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โอกาสนี้ ผู้อำนวยการเขตดุสิต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงพระนามาภิไธย ในฐานะทรงเป็นสักขีพยาน และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ต่อจากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายทะเบียนราชาภิเษกสมรสแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4 พ.ค.

สำหรับพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2521 ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี 2543 ต่อมา ทรงเป็นนายทหารบกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชองครักษ์เวรในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

2.โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขังในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้าน 5 แกนนำพันธมิตรฯ เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัว!
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5 คน ที่เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวตามเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 มีใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

สำหรับนักโทษที่เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ (1) ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

(2) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะ (ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ค) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ (ง) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ

(จ) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

(ฉ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ

(ช) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ยังระบุกรณีนักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ และนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกหลายกรณี

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ มีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5 คนด้วย ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งศาลฎีกาตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2562 ในคดีชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ยกเว้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 2 คดี อาจยังไม่เข้าข่ายได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับการลดโทษตามเกณฑ์ที่กำหนด

3.กกต.ฟันผู้สมัครพรรค ปช.6 คน เหตุเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน ด้าน อนค.แพ้แล้วพาล จี้ กกต.เลือกตั้งใหม่ เขต 1 นครปฐม!
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ได้มีการนับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครปฐม ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำสั่งให้นับคะแนนใหม่ หลังพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) คาใจที่ผลนับคะแนนเมื่อวันที่ 24 มี.ค.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชนะเลือกตั้งในเขตดังกล่าว จึงร้องขอให้ กกต.นับคะแนนในเขตดังกล่าวใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อนับคะแนนใหม่แล้ว ตอนแรกมีรายงานว่า พรรค ปชป.ชนะพรรค อนค.4 คะแนน แต่ต่อมา มีรายงานว่า พรรค อนค.ชนะ ปชป.62 คะแนน ซึ่งขณะที่ยังไม่ทราบผลคะแนนอย่างเป็นทางการ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต.กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผลอย่างไม่เป็นทางการ พรรค อนค.ชนะไป 62 คะแนน พร้อมบอกว่า ทาง ผอ.เขตเลือกตั้ง จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 เม.ย.

วันต่อมา 29 เม.ย. แกนนำพรรค ปชป. นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ได้เปิดแถลงเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครปฐม ทั้ง 245 หน่วย โดยยืนยันว่า จากที่ตนและตัวแทนพรรคได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้นในการนับคะแนนทั้ง 61 กระดาน พบว่า พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ชนะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวด้วยคะแนน 35,711 คะแนน ส่วน น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ ผู้สมัครพรรค อนค.ได้คะแนน 35,707 คะแนน ซึ่งคะแนนห่างกัน 4 คะแนน

ทั้งนี้ พรรค ปชป.ได้ชี้ให้เห็นจุดผิดพลาด จนทำให้ผลออกมาว่า พรรค อนค.ชนะ ปชป.62 คะแนนด้วยว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 25 ลงคะแนนผิด โดยเอาคะแนนของพรรค ปชป.ในหน่วยนั้นไปกรอกให้หมายเลข 1 พรรคประชาภิวัฒน์ ที่มีชื่ออยู่ด้านบนของชื่อ พ.ท.สินธพ ทำให้เกิดการผิดพลาดในการรวมคะแนน หากเจ้าหน้าที่ กกต.ใส่คะแนนไม่ผิดช่อง พรรค ปชป.จะชนะพรรค อนค.อยู่ 4 คะแนน และว่า หลังการนับคะแนนเมื่อคืนวันที่ 28 เม.ย. ผู้สมัครพรรค อนค.ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กในเวลา 20.12 น. ยอมรับผลการเลือกตั้งด้วยว่า แพ้อยู่ 4 คะแนน ซึ่งภายหลัง กกต.ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบว่าเจ้าหน้าที่ใส่คะแนนของ ปชป.ผิดช่องตามที่ ปชป.ระบุจริง

ด้านแกนนำพรรค อนค.ไม่พอใจที่พรรคตัวเองเป็นฝ่ายแพ้ในเขตดังกล่าว จึงได้ออกแถลงการณ์อ้างว่า ผลการนับคะแนนในเขตดังกล่าวส่อทุจริต พร้อมเรียกร้องให้ กกต.จัดเลือกตั้งใหม่ในเขตดังกล่าว ส่งผลให้กระแสในโลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของพรรค อนค.ว่า แพ้แล้วไม่ยอมแพ้ แพ้แล้วพาล แพ้แล้วร้องให้ กกต.นับคะแนนใหม่ พอนับคะแนนใหม่แล้วแพ้อีก ก็จะให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่นักการเมืองพึงกระทำ

ส่วนผลการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ปรากฏว่า นายสราวุธ อ่อนละมัย พรรค ปชป.ยังคงชนะเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยได้ 274 คะแนน ส่วนนายสมบูรณ์ หนูนวล จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงได้คะแนนเป็นลำดับ 2 เหมือนเดิม โดยได้ 185 คะแนน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ประชุม กกต.ได้มีมติสั่งไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตของพรรคประชาชาติ (ปช.) จำนวน 6 คน เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากตรวจสอบพบว่า เป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน ประกอบด้วย นางทัศนีย์ ชลายนเดชะ, นายวิโรจน์ วัฒนากลาง, นายอิทธิศักดิ์ ปาทาน, นายเกริกชัย พลชา, นายประหยัด พิมพา และนายอฤเดช แพงอะมะ

4.“ธนาธร” แจงปมหุ้นสื่อแล้ว อ้าง กกต.มีเหตุจูงใจทางการเมือง ด้าน “ศรีสุวรรณ” แย้มพบหลักฐานใหม่ ธนาธรถือหุ้นสื่ออื่นอีก!
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.หอบลังเอกสารเข้าชี้แจง กกต.กรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร
ความคืบหน้ากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ หลังสำนักข่าวอิศราพบพิรุธเรื่องนายธนาธรโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ ให้แม่ ว่านายธนาธรโอนหุ้นให้แม่วันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันหลังจากลงสมัคร ส.ส.แล้ว ขณะที่เจ้าตัวโชว์หลักฐานอ้างว่า โอนหุ้นให้แม่ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ก่อนลงสมัคร ส.ส.เดือน ก.พ. แต่ก็ยังมีพิรุธตามมาอีกหลายประเด็น เช่น มีภาพข่าวยืนยันจากสื่อหลายสำนักว่า วันที่ 8 ม.ค. นายธนาธรช่วยผู้สมัครหาเสียงอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ แล้วจะโอนหุ้นให้แม่ได้อย่างไร ซึ่งเมื่อวันที่ 23 เม.ย. กกต.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เนื่องจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนาธร เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001-2025000 พร้อมเปิดโอกาสให้นายธนาธรจี้แจงเรื่องถือหุ้นดังกล่าวภายใน 7 วัน ซึ่งนายธนาธรจะเข้าชี้แจงในวันที่ 30 เม.ย.

ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด (30 เม.ย.) นายธนาธรและนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ได้หอบลังเอกสารที่บอกว่าเป็นหลักฐานเรื่องโอนหุ้นเข้าชี้แจง กกต. พร้อมกล่าวก่อนเข้าพบ กกต.ว่า ตนและนายปิยบุตรมั่นใจมากในการชี้แจง เชื่อว่ากระแสที่ถูกปลุกขึ้นมา ไม่มีหลักฐานที่จะมาหักล้างหลักฐานของตนได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักฐานบางส่วนที่ฝ่ายนายธนาธรนำมายืนยันว่า วันที่ 8 ม.ค.ตนเดินทางโดยรถตู้จากบุรีรัมย์กลับมาโอนหุ้นให้แม่ที่ กทม.จริง เป็นหลักฐานใบสั่งจากการขับรถเร็วเกินกำหนด ซึ่งมีบางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ในภาพหากรถตู้ที่นายธนาธรนั่ง ขับด้วยความเร็วเกือบ 140 กม./ชม. คงชนคันอื่นไปแล้ว เพราะปริมาณรถในภาพหนาแน่นมาก ขณะที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นายธนาธรกำลังประจานตัวเองด้วยการนำหลักฐานการทำผิดกฎหมายจราจร เพื่อมาหักล้างความผิดเรื่องโอนหุ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีที่นักการเมืองไม่ควรทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีบางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดนายธนาธรจึงไม่โชว์เอกสารว่ามีการขายหุ้นให้แม่จริง เช่น ต้องมีการนำเช็คค่าขายหุ้นที่ได้รับเข้าธนาคาร แต่นายธนาธรกลับบอกว่า เช็คยังไม่ได้เข้าธนาคาร ทั้งที่ถ้าขายหุ้นให้แม่ตั้งแต่ 8 ม.ค. ผิดวิสัยหรือไม่ที่ยังไม่เอาเข้าธนาคาร ฯลฯ

ทั้งนี้ นายธนาธรได้ให้สัมภาษณ์สื่อทีวีช่องหนึ่งกรณีที่หลายฝ่ายจับพิรุธเรื่องเช็คขายหุ้นยังไม่เข้าธนาคารว่า “คนทั่วไปจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่ผมต้องบอกว่าการดูแลเงินของผมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับภรรยา หรือ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ผมจะออกจากบ้าน ก็ต้องไปขอเงินภรรยา ซึ่งผมไม่มีแม้แต่บัตรเอทีเอ็ม มีแต่เครดิตการ์ด แล้วเงินสดทั้งหมดผมก็ขอจากแฟนผมทุกเช้า ดังนั้นเช็คที่ได้มา สิ่งที่ผมทำก็คือเอาไปให้แฟน ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ได้แปลกอะไร”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเข้าชี้แจงเรื่องหุ้นต่อ กกต.นายธนาธรได้พูดทำนองดิสเครดิต กกต.ว่า คดีนี้มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พร้อมขู่ด้วยว่า ถ้าใครพิจารณาคดีความของตนแล้วทำให้เสื่อมเสีย จะใช้สิทธิทางกฎหมายตอบโต้ แต่ตนเป็นคนใจเย็น จะรอจน คสช.หมดอำนาจ เพราะมาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี จะรอให้ คสช.หมดอำนาจแล้วดำเนินคดีกับคนที่ตัดสินตน โดยไม่ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ จะรอให้ถึงวันนั้น แล้วฟ้องกลับ

ด้านนายศรีสุวรรณ ได้เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 5 ต่อ กกต.กรณีคำร้องตรวจสอบการถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร เมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หลังจากที่ฟังการชี้แจงของนายธนาธรผ่านสื่อแล้ว ยังมีข้อสงสัยเรื่องการไม่นำเช็คเข้าบัญชีธนาคาร จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เป็นการหลีกเลี่ยงนิติกรรมการโอนหุ้นหรือไม่

นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวด้วยว่า ได้ตรวจพบหลักฐานการกระทำผิดในเรื่องการถือหุ้นสื่อของนายธนาธรเพิ่มเติมนอกจากกรณีหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถเอาผิดนายธนาธรได้ 100% โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการหาหลักฐาน และตรวจสอบ “หลังวันที่ 7 พ.ค. นี้ จะมีอะไรมันๆ ดีๆ เกี่ยวกับนายธนาธรอีก ประเภทช็อคไปเลย”

ทั้งนี้ นอกจากยื่น กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นของนายธนาธรแล้ว นายศรีสุวรรณยังได้ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค อนค.อีก 11 คนที่เข้าข่ายถือหุ้นสื่อด้วย รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 1 คน และผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) อีก 2 คน

ด้านนายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช.และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค.พร้อมด้วยว่าที่ ส.ส.และผู้สมัครของพรรค อนค.รวม 11 ราย ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีนายศรีสุวรรณ โดยอ้างว่า นายศรีสุวรรณกระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดและกลั่นแกล้งให้ผู้สมัคร ส.ส.ถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง กรณียื่นให้ กกต.ตรวจสอบผู้สมัครพรรค อนค.ทั้ง 11 ราย

5.ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ บ.ประกันชดใช้กรณี ตลท.ถูกเผาปี 53 เหตุหลักฐานไม่พอฟังว่าเกิดจากการก่อความไม่สงบของผู้ชุมนุม นปช.!
ภาพเมื่อครั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถูกเผาเมื่อปี 2553
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด โจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์, บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟอลคอลประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในเรื่องประกันภัย

ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคารของโจทก์เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดทั้งความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ และควันไฟมิใช่ภัย เนื่องจากการกระทำอันป่าเถื่อน และกระทำด้วยเจตนาร้ายมุ่งหวังเพื่อทำลายตัวทรัพย์ที่เอาประกันเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กระทำโดยมุ่งหวังให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง และเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ และโจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ต่อมา โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามจึงฎีกา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2553 โจทก์ทั้งสามร่วมกับผู้เอาประกันรายอื่นทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ และทรัพย์สินอื่นๆ ทุกชนิดในอาคารดังกล่าวไว้ต่อจำเลยทั้งหก โดยคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2554 จำนวนเงินเอาประกันภัย 3,474,408,510.33 บาท โดยกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อยกเว้นความรับผิดว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมมาจาก หรือสืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจการปกครองโดยทหาร หรือการก่อการร้ายโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อการร้ายที่ใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อผลทางการเมือง และรวมถึงการใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 ถึงวันที่ 19 มี.ค. 2553 มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีการตั้งเวทีใหญ่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง และมีการตั้งเวทีย่อยบริเวณแยกคลองเตย ใกล้อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีการปิดการจราจรบนถนนรอบพื้นที่การชุมนุมทุกแห่ง การชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 รัฐบาลส่งกำลังทหารสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ และได้เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่หลายแห่ง รวมทั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสามจึงได้แจ้งเหตุความเสียหายต่อจำเลยทั้งหก ซึ่งจำเลยทั้งหกปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าเหตุความเสียหายเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ทั้งสามบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยไม่ชำระ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเกิดจากภัยประเภทใดและเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตามฟ้องหรือไม่ เมื่อปรากฏว่า เหตุความเสียหายต่อทรัพย์สินตามฟ้องเป็นผลมาจากมีกลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าไปในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร จนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ภายในอาคารและตัวอาคารดังกล่าวได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้าย ซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น. ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคาร ก็มีประมาณ 10 คน ทั้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่า เหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก ดังนั้นจำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,700,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 17,800,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 13,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 13,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,9000,000 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค.2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1

ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 17,250 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 11,500 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,625 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,625 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,750 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,700,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,800,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 900,000 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น