xs
xsm
sm
md
lg

บรมราชาภิเษกในระบอบประชาธิปไตย ต่างกับในระบอบราชาธิปไตยอย่างไร! ส.ส.ถวายแผ่นดินทั้ง ๘ ทิศ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และผู้แทนราษฎร ได้มีโอกาสเข้าร่วมในพระราชพิธีนี้เป็นครั้งแรก ในฐานะผู้แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และปวงชนชาวไทย ถวายพระพรและถวายความจงรักภักดีแทนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการในสมัยราชาธิปไตย มีบันทึกพระราชพิธีตอนนี้ไว้ว่า

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก หลังที่สมเด็จพระเจ้าเอยู่หัวสรงน้ำมูรธาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว เสด็จขึ้นหอพระสุลาลัยพิมานเปลี่ยนฉลองพระองค์ จากนั้นเสด็จสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ สถิตเหนือพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ๗ ชั้น แปรพระพักตร์สู่บูรพทิศเป็นปฐม และสู่ทิศอาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร ตามลำดับ สมุหพระราชพิธีทูลเกล้าฯถวายพระเต้าเบญจคัพย์ สำหรับทรงรับน้ำอภิเษก คือน้ำที่ได้พลีกรรมตักจากทั่วราชอาณาจักรไปประกอบการพิธีแล้วนำมาถวาย

การถวายน้ำครั้งนี้ไม่ใช่น้ำมูรธาภิเษกที่เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เป็นการถวายแผ่นดิน หมายความว่าปวงประชาชนที่อยู่ในทิศทั้ง ๘ ทิศนั้น ถวายแผ่นดินให้ทรงครอบครอง

จากนั้นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ายืนประจำที่ตามทิศทั้ง ๘ จะเข้าถวายน้ำอภิเษกทีละทิศ ซึ่งแต่ก่อนจะมีราชบัณฑิตซึ่งสมมติเป็นตัวแทนราษฎรเป็นผู้ถวายในขั้นตอนนี้ เริ่มด้วย นายควง อภัยวงศ์ ทูลเกล้าฯถวายน้ำอภิเษกประจำทิศบูรพาเป็นปฐม ต่อด้วย พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ นายยกเสียง เหมะภูติ พระยาศรีสรราชภักดี พระยาอัครราชทรงศิริ พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นายเกษม บุญศรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตามลำดับ ทรงรับน้ำอภิเษกด้วยพระเต้า จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนี สวาสดิ์ พราหมณกุล ทำหน้าที่เป็นพระมหาราชครู ถวายน้ำเทพมนต์ด้วยพระมหาสังข์ พราหมณ์อีกท่านหนึ่งถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระครอบสัมฤทธิ์ ทรงรับด้วยพระหัตถ์แล้ว เสด็จมาประทับทิศบูรพาอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา ถวายพระพรเป็นภาษามคธ ต่อจากนั้น นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถวายพระพรเป็นภาษาไทยว่า

“ด้วยอำนาจพระรตนัตยานุภาพ และน้ำมูรธาวษิต ขอจงเป็นผลสำเร็จ ขอจงเป็นผลสำเร็จ ขอจงเป็นผลสำเร็จ ตามคำที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายพระพร”

แล้วทูลเกล้าฯถวายน้ำมูรธาภิเษก เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว พระราชทานให้สมุหราชพิธีเชิญกลับไป จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนีกราบบังคมทูลถวายพระพรเป็นภาษามคธและภาษาไทยว่า

“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสแก่ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับพระมูรธาภิเษกเป็นพระบรมราชาธิราช เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของประชาชนชาวสยาม เหตุดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และสมณพราหมณาจารย์ทั้งปวง ขอมอบพระเศวตฉัตรนี้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงรับแล้วแผ่พระราชอาณาปกเกล้าฯข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ตลอดถึงอาณาประชาราษฎร์ เป็นพระบรมนาถทรงจัดการคุ้มครองป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ขอเดชะ”

ในตอนบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ มหาดเล็กเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงรายตีนทอง พระแสงอัษฎาวุธ และถวายอยู่งานพัดโบก มหาดเล็กรัวกลับ ชาวม่านไขพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานกระทั่งมโหระทึก ประโคมสังข์ แตร และกลองชนะ ทหารกองเกียรติยศกระทำความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รัฐมนตรี คณะทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคลในนามคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั่วราชอาณาจักร

พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสตอบ

มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร พระวิสุริยภักดีชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานกระทั่งมโหระทึกประโคมสังข์ แตร และกลองชนะ ทหารกองเกียรติยศกระทำความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

นอกจากนี้ ในพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร รัฐมนตรีทุกกระทรวง พร้อมด้วยองค์ผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ ยังได้ร่วมพิธีและถวายดอกไม้ ธูปเทียนในการพระราชพิธีนี้ด้วยตามลำดับคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทูลเกล้าฯถวายในนามพระบรมวงศานุวงศ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯถวายในนามสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยราชการที่บังตับบัญชา ต่อด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่ละกระทรวง ทูลเกล้าฯถวายในนามข้าราชการในกระทรวง

นี่ก็เป็นรูปแบบของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาเพียงครั้งเดียวเมื่อ ๖๙ ปีที่แล้ว และจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นสิริมงคลของประเทศในเดือนนี้