ย้อนตำนานสององค์กรหลัก "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" และ "สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา" ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงใหม่ "การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม" ในรัฐบาลประยุทธ์
2 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นวันแรกที่ประเทศไทยจะได้เริ่มต้นกระทรวงใหม่ล่าสุด ในนาม "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)" หลังกฎหมาย 9 ฉบับตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
นับจากนี้ หน่วยงานเดิม เฉกเช่น "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)" และ "สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)" จะมารวมกันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัด อว.
อ่านประกอบ : ราชกิจจาฯ ประกาศ กม. 9 ฉบับ ตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา” เริ่ม 2 พ.ค.
- ย้อนตำนาน "กระทรวงวิทยาศาสตร์"
จุดเริ่มต้นของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2519 มีมติให้แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการวางนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" โดยมี ศ.ดร.ชุบ กาญจนประกร เป็นประธานอนุกรรมการ และ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี เป็นรองประธาน
โดยจัดทำรายงาน เรื่อง "การปฏิรูประบบบริหารราชการของรัฐ" เสนอแนะให้จัดตั้ง "กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน" ขึ้น
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้เสนอต่อ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และรัฐบาลในสมัยนั้นได้รับเรื่องไว้พิจารณา
แต่ยังไม่มีข้อยุติ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน เนื่องจากรัฐประหารโดย "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520
มาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ดร.สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี ศ.ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นประธานอนุกรรมการ พิจารณา
คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งสภามีมติรับหลักการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 40 มีผลใช้เมื่อ 24 มีนาคม 2522 เป็นต้นมา
24 มีนาคม 2522 ก่อตั้ง "กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน" มีหน่วยงานประกอบด้วย
1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมวิทยาศาสตร์บริการ
4. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
5. สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
6. สำนักงานพลังงานปรมานูเพื่อสันติ
7. สำนักงานพลังงานแห่งชาติ
4 เมษายน 2535 สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม" เพื่อปรับปรุงส่วนราชการที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขมลภาวะด้านต่างๆ
โดยยุบ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจัดตั้ง กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ทำให้มีหน่วยงานประกอบด้วย
1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมควบคุมมลพิษ (มาจาก สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)
4. กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (เปลี่ยนชื่อจาก สำนักงานพลังงานแห่งชาติ)
5. กรมวิทยาศาสตร์บริการ
6. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาจาก สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)
7. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
8. สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (มาจาก สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)
9. สำนักงานพลังงานปรมานูเพื่อสันติ
2 ตุลาคม 2545 สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ได้ปฏิรูประบบราชการ โดยแยกหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ชัดเจนขึ้น เปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา โดยมีส่วนราชการดังต่อไปนี้
1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมวิทยาศาสตร์บริการ
4. สำนักงานพลังงานปรมานูเพื่อสันติ
ส่วน กรมควบคุมมลพิษ และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แยกไปอยู่ "กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" โดยรวมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และปรับโครงสร้างองค์กร สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม มาเป็น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน แยกไปอยู่ "กระทรวงพลังงาน" โดยรวมกับ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
- อดีต "ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ"
การจัดการอุดมศึกษาของไทย เริ่มมาแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมัยนั้นมีหลากหลาย ทั้งโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนข้าราชการพลเรือน
ต่อมา วันที่ 30 มีนาคม 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย
กระทั่งมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดกระทรวงเกษตร, มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2502 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชบัญญัติโอนมหาวิทยาลัยทุกแห่งไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยแยกกันอยู่ต่างกระทรวงเป็นเรื่องยากในการปกครอง และการสร้างมาตรฐานการศึกษา การโอนมารวมอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมดจะเป็นการสะดวกในการดำเนินการ ทั้งในด้านวิชาการและธุรการ
และจะบรรลุตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น
พ.ศ. 2514 สภาการศึกษาแห่งชาติและที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้ร่วมกันเสนอความเห็นต่อจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ว่า "มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีอิสระในการปกครองตนเอง มีเสรีภาพทางวิชาการในการถ่ายทอดและแสวงหาความรู้ โดยถือหลักความเป็นเลิศทางวิชาการ"
จึงควรแยกมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล หากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรจัดตั้งทบวงอิสระหรือทบวงในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของมหาวิทยาลัยต่างๆ
29 กันยายน 2515 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 จัดตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ" ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการและกำกับการศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษานอกเหนือจากที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมาได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 320 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กำหนดระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐขึ้นเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษา
กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาและการบริหารงานบุคคล พิจารณาการเสนอและพิจารณาอนุมัติการจัดตั้ง ยุบรวม และเลิกมหาวิทยาลัย คณะและภาควิชา ตลอดจนการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา และเป็นศูนย์ประสานงานด้านการจัดการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย
ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่แตกต่างจากกระทรวงและทบวงอื่น ที่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ
พ.ศ. 2520 รัฐบาลสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อ ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็น "ทบวงมหาวิทยาลัย"
และให้ยกฐานะเป็นทบวงอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ไม่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน เนื่องจากมีการโอนงานกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจากกระทรวงศึกษาธิการมาอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 320 โดยตราพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520 ขึ้นแทน เพื่อให้มีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐและเอกชนในสังกัดด้วย
ต่อมาในปี 2537 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เพิ่มเติม เพื่อให้มีอำนาจครอบคลุมมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็น "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" แห่งแรกของไทย ที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพจากสถาบันที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งที่เป็นส่วนราชการออกจากระบบราชการ
ทบวงมหาวิทยาลัย ดำเนินภารกิจ 30 ปี 9 เดือน 7 วัน มีรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรักษาราชการแทนรัฐมนตรี บริหารราชการ ทั้งสิ้น 38 คน มีปลัดทบวงมหาวิทยาลัยบริหารราชการ 6 คน
6 กรกฎาคม 2546 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้ยกเลิก พ.ร.บ. ระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัย ต้องแปรสภาพเป็น "สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา" ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามกฎหมายใหม่
คณะกรรมการการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายแผนพัฒนา และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แบ่งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็น
1. สำนักอำนวยการ
2. สำนักทดสอบกลาง ยุบเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 เพื่อจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
3. สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา
4. สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน โอนกิจการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2558 ไปเป็นของสถาบันวิทยาลัยชุมชน
5. สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา
6. สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา
7. สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ
8. สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา
9. สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร
ก่อนที่จะมีหน่วยงานภายในจัดตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ สำนักติดตามและประเมินผลอุดมศึกษา และ สำนักนิติการ
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด จำนวน 156 แห่ง ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด หรือในกำกับของรัฐ 84 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่ง
มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการศึกษาเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562 มีการจัดตั้ง "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" มีภารกิจหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ "เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21" กับ "การนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ"
ส่วนราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย
1. สำนักงานรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมวิทยาศาสตร์บริการ
4. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
5. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
6. สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง "สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)" และ "สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)" อีกด้วย
นับจากนี้คงต้องดูกันว่า ความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน และจะดำเนินภารกิจนำคนไทยก้าวเข้าสู่โลกแห่งนวัตกรรมได้จริงหรือไม่?