xs
xsm
sm
md
lg

J Fabric : สืบสานตำนานแห่งผ้าย่านสำเพ็ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากธุรกิจขายส่งผ้าทอในย่านสำเพ็งที่ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัยของธุรกิจการขายผ้า จนกระทั่งมาสู่ยุคปัจจุบัน ที่แม้ว่าจะยังดำเนินสืบทอดกิจการด้วยการเป็นตัวแทนนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ แต่ ออย-พรฤดี เจนเจษฎา และ เอ็ม-ธนกร เจนเจษฎา ตัวแทนสามพี่น้องของบ้าน ก็ได้ริเริ่มการมีพื้นที่ของคนรักผ้าได้เข้ามามีส่วนร่วมของคนชอบผ้า ให้มาเติมเต็มและตอบโจทย์ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

• ที่มาที่ไปของทางร้านนี้เริ่มมาจากอะไรครับ

ธนกร : ครอบครัวของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับขายส่งผ้ามาก่อนครับ โดยทางคุณพ่อทำการขายส่งผ้าทอในสำเพ็งมา 30 กว่าปี จนเมื่อลูกๆ สามคนเรียนจบก็มาสานต่อธุรกิจ ในช่วงแรกๆ ธุรกิจค่อนข้างไปได้ ลูกค้ากลุ่มหลักที่มาสั่งทอคือ garment ผู้ผลิตให้แบรนด์เสื้อผ้าในไทย และผู้ผลิตเพื่อส่งออก แต่เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ธุรกิจเราเปลี่ยนไป เรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ ค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการมีสินค้าจากจีนที่เข้ามาทั้งในรูปแบบผ้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ พรีออเดอร์จากเกาหลีและจีนก็ค่อนข้างมีผลกระทบกับลูกค้าเรา ทำให้ยอดขายเราตกไปเยอะมากๆ เลยครับ

แล้วในระหว่างที่ทุกอย่างประดังประเดเข้ามา ก็มีลูกค้าท่านหนึ่งได้ติดต่อเรามาว่ามีบริษัทผ้าจากญี่ปุ่นต้องการมาทำตลาดที่ไทยและมองหาพาร์ตเนอร์ที่มีประสบการณ์ในวงการผ้า เลยแนะนำให้เราลองติดต่อกับตัวแทนจากญี่ปุ่นเจ้านี้ เราก็สนใจเลยลองติดต่อดูจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เรานำเข้าผ้ามาจากญี่ปุ่นครับ

ในช่วงแรกๆ เรานำผ้าจากญี่ปุ่นไปเสนอลูกค้าเดิมที่มีในมือและออกบูทแสดงสินค้าตามงานแฟร์ต่างๆ เพื่อหาลูกค้ากลุ่มเสื้อผ้าเพิ่มเติม แต่ด้วยต้นทุนผ้าจากญี่ปุ่นมีราคาค่อนข้างสูง ผลตอบรับก็ยังไม่ดีมากนัก เราเลยมาคุยกันว่าช่วงนี้การตลาดออนไลน์ค่อนข้างมาแรง อีกทั้งผู้บริโภคคนไทยเริ่มเปิดใจลองซื้อสินค้าจากออนไลน์มากขึ้น เราเลยอยากลองขายผ้าออนไลน์ด้วย และด้วยต้นทุนการขายออนไลน์เราไม่ต้องลงทุนสูง เราก็เลยเริ่มทดลองขายปลีกออนไลน์ด้วย ช่วงแรกๆ ก็กังวลว่าโดยปกติคนซื้อผ้าน่าจะต้องการอยากสัมผัสผ้าว่าหนา บาง นุ่ม แข็ง texture ยังไง จะมีใครซื้อผ้าจากออนไลน์หรือเปล่า แต่ด้วยความที่เป็นผ้าญี่ปุ่นซึ่งมีคุณภาพการันตีอยู่ลูกค้าก็มีความมั่นใจระดับหนึ่งครับ



• การนำเข้าผ้าจากที่ต่างๆ แสดงว่าบ่งบอกถึงรสนิยมของแต่ละคนด้วยมั้ยครับ

พรฤดี : ตอนนี้ที่เจแฟบริค นำเข้าผ้าจาก 4 ประเทศหลักๆ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งผ้าแต่ละประเทศและแต่ละยี่ห้อที่เราเลือกมาจะมีคาแรกเตอร์มีเนื้อผ้า และคุณสมบัติแตกต่างกันค่ะ อย่างผ้าที่มาจากญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าคอตตอน 100% หรือ คอตตอนผสมเส้นใยธรรมชาติ เช่น ลินิน และที่ร้านเรามีผ้านำเข้าจากญี่ปุ่นตัวหนึ่งเป็นเนื้อพิเศษ คือ ผ้า double gauze ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์เลยสำหรับเนื้อนี้ จะคล้ายผ้าสาลูสองชั้นทอประกบกัน เหมาะกับทำของใช้เด็ก และเสื้อผ้าลำลองด้วยสัมผัสที่นุ่มและระบายอากาศได้ดี

แล้วผ้าแบรนด์หลักที่เรานำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ kokka, lecien และกำลังจะมียี่ห้อใหม่มาเพิ่ม คือ Kiyohara ซึ่งลวดลายของผ้าญี่ปุ่นแบรนด์ที่เราเลือกมาจะมีสีสันออกแนวธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด เรียบง่าย การผลิตจะเป็นแบบดั้งเดิม ไม่เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย ลวดลายมีเอกลักษณ์ที่ผสมวัฒนธรรมความเป็นเอเชียแบบฉบับญี่ปุ่น ซึ่งผ้าพิมพ์ญี่ปุ่นจะออกเป็นคอลเลกชันหมดแล้วหมดเลย สั่งพิมพ์เพิ่มไม่ได้ ทำให้ในหลายลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมผ้าทั่วโลกเพราะมีจำนวนจำกัด และยังมีคอลเลกชันที่ทางแบรนด์ได้ร่วมมือกับดีไซเนอร์ญี่ปุ่นท่านต่างๆ เช่น nani iro ที่ kokka ร่วมกะศิลปินสีน้ำชื่อดังของญี่ปุ่นชื่อ naomi ito ที่ทำคอลเลกชันพิเศษขึ้นมาซึ่งทางร้านเราก็เลือกมาขายด้วย



ขณะที่ผ้าเกาหลีเราจะนำเข้ามา 2 ยี่ห้อ คือ Zentex และ Daily like แบรนด์แรกจะเป็นโรงงานพิมพ์ผ้าที่ผลิตผ้าส่งให้แบรนด์ของอเมริกาหลายแบรนด์ ผ้าพิมพ์ของยี่ห้อนี้เป็น digital printing เน้นความคมชัด สีสด บนผืนผ้าคอตตอนเนื้อดี ที่ zentex เราสามารถสั่งผลิตเพิ่มได้หากลูกค้ามีความต้องการ และทางร้านก็มีโปรเจกต์ พิเศษส่งลายพิมพ์ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทย คือ คุณอั้น-เกวลิน พิมพ์สอน จากเพจ did you see any pattern? ศิลปินที่นำเรื่องราวและแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวมาออกแบบลายผ้า ดอกไม้ ผลไม้ อาหารไทย มาพิมพ์บนผืนผ้าที่ผลิตโดยโรงงานที่เกาหลี ส่วน Daily like เป็นอีกยี่ห้อจากเกาหลี ที่คนรักและสะสมผ้าชื่นชอบ ด้วยความน่ารักของลายและคุณภาพผ้าที่มีผ้าหลายเนื้อเพื่อนำไปทำของใช้ได้หลายอย่าง



ด้านผ้าฝรั่งเศสเราเลือกแบรนด์ Deveaux แบรนด์เก่าแก่กว่า 200 ปีของฝรั่งเศส ผ้าฝรั่งเศสที่เรานำเข้าเป็นผ้าที่ส่งตรงมาจากประเทศฝรั่งเศสค่ะ จะเป็นผ้าที่เหมาะในการตัดเสื้อ หรือเดรส ลายพิมพ์ออกแบบสวยมาก เนื้อผ้ามีน้ำหนักดีใส่แล้วเก็บรูปร่าง สีย้อมผ้าผู้ผลิตแจ้งว่าทำจากเปลือกไม้ธรรมชาติ แล้วผ้าของ Deveaux ส่งขายหลายแบรนด์ดังทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และในเอเชียก็เป็นที่นิยมในฮ่องกง และญี่ปุ่น

และผ้าจากอเมริกาเราเลือกผ้า Shannon minky dot มาขาย เหมาะมาทำผ้าห่ม เครื่องนอน เสื้อผ้า ของใช้เด็ก คุณภาพผ้าดีมาก น้ำหนักเบา ระบายอากาศดีในขณะที่ให้ความอบอุ่นเวลาห่ม สีสันก็น่ารัก



ความต้องการของลูกค้าถือเป็นปัจจัยหลักในการเลือกผ้าที่จะนำเข้าเลยครับ ลูกค้าที่ร้านมีทั้งแบบซื้อไปใช้เอง คนที่สะสมผ้า คนที่ทำงานฝีมือ หรือคนที่นำไปตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อใส่เอง แล้วก็ยังมีลูกค้าที่ซื้อไปต่อยอดผลิตสินค้าขาย ด้วยคุณภาพของผ้า สารเคมีที่ใช้ ความนุ่มนวลของเนื้อผ้า ร้านของเราก็จะมีกลุ่มแม่ๆ มาอุดหนุนทั้งซื้อให้ลูกใช้เอง และซื้อไปทำสินค้าแม่และเด็กขายค่อนข้างเยอะ อีกกลุ่มที่เป็นแฟนเหนียวแน่นก็คือกลุ่มทำชุดตุ๊กตา มีทั้งมาช่วยรีวิวสินค้าให้เราด้วย

ส่วนกลุ่มคนขายเสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋าผ้า และของใช้ ต่างก็มั่นใจในคุณภาพ และลวดลายของผ้านำเข้า หลายๆ เจ้าขายออนไลน์ไม่มีหน้าร้าน เวลาขายเขาบรรยายสรรพคุณของผ้าที่ใช้ ลูกค้าก็จะตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นถึงแม้ไม่เคยสัมผัสผ้าก่อน และส่วนใหญ่ลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำเมื่อได้รับของที่มีคุณภาพสมกับราคาที่จ่ายไปครับ


เราลองสังเกตธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ เดี๋ยวนี้คนไม่ได้แค่อยากมาซื้อกาแฟอร่อยอย่างเดียว แต่เขาก็อยากจะมีประสบการณ์ร่วม เลยทำให้บรรยากาศของร้านก็สำคัญที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้า ทางเราเลยตกแต่งร้านให้บรรยากาศไม่กดดันในการซื้อขาย มีที่นั่งรอให้ผู้ติดตาม บรรยากาศสบายๆ ติดแอร์ ค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ตัดสินใจ

ธนกร : การที่ร้านของเราเป็นคอมมูนิตี้ทางด้านผ้า คุณมาที่นี่อาจไม่ต้องชอปปิ้ง บางทีคุณอาจจะแค่อยากเห็น อยากจับเนื้อผ้านำเข้าว่าต่างจากผ้าไทยยังไง แต่อาจยังไม่อยากซื้อเพราะยังไม่มีไอเดียว่าจะเอาผ้าไปทำอะไรก็อาจจะแวะมาที่ร้านโดยมาทำการเวิร์กชอปเพื่อค้นหาก่อนว่าตัวเองสนใจผ้าในแง่มุมไหน คือถ้าร้านเราขายของอย่างเดียว คนที่มาคือต้องตั้งใจมาซื้ออย่างเดียว อาจทำให้หลายๆ คนตัดสินใจว่าไม่มาดีกว่า เราเลยมีไอเดียว่าร้านเราน่าจะมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมเวิร์กชอปต่างๆ ด้วย เผื่อให้คนที่อาจยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะซื้อผ้าได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในร้านเราได้ คิดว่าตรงนี้น่าจะตอบโจทย์คนยุคนี้ ว่าถ้าเขามาแล้วประทับใจเค้าก็จะแชร์ประสบการณ์ที่ร้านเราให้เพื่อนให้ญาติเขาต่อไปได้




• อย่างเรื่องการเวิร์กชอปในเรื่องผ้าในแต่ละครั้ง ก็เป็นการขยายความสนใจให้แก่ผ้าให้วงกว้างไปเรื่อยๆ ประมาณนั้นด้วย

พรฤดี : กิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาที่เราจัดขึ้นในร้าน ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้ามากกว่าการซื้อขายหน้าร้านปกติ การทำเวิร์กชอปแต่ละรอบจะประกอบด้วยคนที่หลากหลาย คนที่มีพื้นฐานเกี่ยวกับผ้า เบื้องต้นแต่มีความสนใจเดียวกันคือเรื่องผ้า บางคนเป็นดีไซเนอร์ บางคนเป็นครูสอนตัดเสื้อ บางคนเพิ่งเริ่มเรียนตัดเสื้อ บางคนเป็นนักศึกษาหรืออาจารย์เกี่ยวกับ textile บางคนอยากหางานอดิเรกทำ บางคนยังไม่มีไอเดียอะไรแต่สนใจอยากทำอาชีพเกี่ยวกับผ้า คือมีหลายแบบมากๆ มานั่งเรียนรู้พร้อมๆ กัน ได้ใช้เวลานานกว่ามาซื้อของปกติ การพูดคุยในวงเวิร์กชอปหลายครั้งทำให้คนที่มาร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้เกิดการมีคอนเนกชันต่างๆ ที่นำไปสู่การต่อยอดได้แบบไม่จำกัด


ธนกร : ผมคิดว่าเป็นการปรับตัวที่สำคัญมากๆ ครับ จากเดิมที่เราเป็นกิจการค้าส่ง เน้นขายล็อตใหญ่ๆ ในวันนี้ที่เราไม่มีออเดอร์แบบล็อตใหญ่ๆ ธุรกิจแบ่งเป็น segment ย่อยมากๆ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้จากหลากหลายช่องทาง ถ้าเรายังยึดติดกับธุรกิจแบบเดิมที่เราเคยทำอาจถึงทางตันได้ จากที่เราไม่ถนัดธุรกิจค้าปลีกเราก็ต้องปรับตัวมาตอบสนองความต้องการที่เฉพาะทางมากขึ้น ลูกค้าที่ซื้อผ้าเราไปผลิตของขายไม่ได้มีกำลังซื้อทีละเยอะๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ startup เราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเขาด้วย ลูกค้าที่ผลิตสินค้าขายมีหลายเจ้าที่เติบโตมาพร้อมๆ กับร้านเราเลยครับ เรียกได้ว่าเป็นพาร์ตเนอร์กันเลย เราจะปรึกษากันเรื่องความต้องการของตลาดเพื่อจะเลือกผ้านำเข้ามาได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : แฟนเพจ J Fabric


กำลังโหลดความคิดเห็น