xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรจึงจะได้ครุฑตราตั้งพระราชทานมาติดหน้าห้างร้าน! ข้อกังขาที่ร้านขนมเบื้องมีตราครุฑ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


มีคำถามข้อหนึ่งที่น่าค้นคว้าหาคำตอบ ก็คือ “ตราครุฑโดยได้รับพระบรมราชานุญาต ที่ติดตั้งอยู่ หน้าอาคารของบริษัทห้างร้านและธนาคารนั้น ได้มาอย่างไร ทำไมถึงได้?”ทั้งยังถามลึกลงไปถึงว่า

“ร้านขายขนมเบื้องที่บางลำพู ก็ได้ตราครุฑพระราชทานด้วยหรือ?”

ก็ดี ถ้าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในความเป็นมาจากอดีต
เพราะเรื่องราวในอดีต จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

เพื่อคำตอบที่ชัดเจนเรื่องนี้ จึงต้องไปหาความรู้จากห้องสมุดของสำนักราชเลขาธิการในพระบรมมหาราชวังและได้ความกระจ่างมาว่า
ครุฑ พญานกแห่งป่าหิมพานต์ ปรากฏเรื่องราวอยู่ในวรรณกรรมเก่าแก่ของชาติในเอเซีย มีรูปกายครึ่งนก ครึ่งมนุษย์ ร่างกายแขนขาเป็นคน แต่มีปีก เล็บ หัว และจงอยปากเป็นอินทรี มีอานุภาพ มีพละกำลังมหาศาล

อีกทั้งยังมีปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด แต่อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ
ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายล้างได้ แม้แต่สายฟ้าของพระอินทร์ ยังทำให้ขนครุฑหลุดล่วงไปเพียงเส้นเดียวเท่านั้น

ครุฑปรากฏอยู่ในศิลปะโบราณของย่านสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ ศิลปะ แบบลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ๑๘ ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึง ๒๐ และจากยุคอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ก็มีครุฑปรากฏอยู่ตามโบราณสถานมากมาย

การปกครองของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แปรเปลี่ยนฐานะพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ตามคติความ เชื่อที่ว่า กษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา และเมื่อครุฑเป็นราชพาหนะของพระนารายณ์ ครุฑจึงเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา โดยใช้เป็นตราแผ่นดินหรือพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล

นอกจากนี้ยังนำครุฑมาประดับบนธงมหาราช เรือพระที่นั่ง รถพระที่นั่ง และเครื่องบินพระที่นั่ง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปรากฏในหนังสือราชการ บนธนบัตรและเหรียญต่างๆ ตลอดจนอาคารสถานทีราชการ

แต่กระนั้น ครุฑมิได้เกี่ยวกับราชการเท่านั้น ยังมีปรากฏอยู่ในภาคธุรกิจของเอกชนด้วย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นเครื่องหมายตราตั้ง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่บริษัท ห้างร้าน หรือสถานที่ประกอบธุรกิจที่มีคุณลักษณะเหมาะสม

การพระราชทานตราตั้งนี้ ปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ตามความในพระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) ว่า

“...แลมีชนอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งตั้งการเปนช่างฝีมือต่างๆ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นช่างหลวงแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินแลประจำรัชกาลให้เป็นเกียรติยศ มีช่างทองและช่างถ่ายรูป เป็นต้น ตราแผ่นดินซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายช่างได้ใช้นี้ ก็เพื่อเป็นเกียรติยศอย่างเดียว หาได้ให้ใช้เปนดวงตราหมายยี่ฮ่อการค้าขายสำหรับห้างและร้านนั้นไม่...”

และเนื่องจากตราแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นตราอาร์ม เครื่องหมายตราตั้งที่พระราชทานจึงเป็นตราอาร์ม มีข้อความประกอบว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ เครื่องหมายตราตั้งจึงได้เปลี่ยนจากตราแผ่นดินเป็นตราครุฑพ่าห์ ตามประกาศของกระทรวงวัง ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ เรื่องตราตั้งห้าง ดังนี้

“ข้อ ๒ เครื่องหมายตราตั้งนั้น เป็นรูปครุฑหน้าอัดทรงเทริด ตามแบบตัวอย่างของกระทรวงวัง และมีคำว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” อยู่ที่เบื้องล่างแห่งดวงตรานั้นด้วย ถ้าเป็นห้างร้านบริษัทในต่างประเทศ จะใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า By Appointment to His Majesty the king of Siam แทนก็ได้”

การพระราชทานตราตั้ง แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานได้ตามพระราชอัธยาศัย ผู้ที่ได้รับพระราชทานตราตั้งนอกจากช่างหลวงแล้ว มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน ในรัชสมัยต่อๆมาการขอพระราชทานตราตั้งได้ขยายขอบเขตออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีกำหนดคุณสมบัติของบริษัทห้างร้านที่จะได้รับพระราชตราตั้ง ตามประกาศกระทรวงวัง ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ เรื่องตราตั้งห้าง และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการพระราชทานตราตั้งห้าง ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ ไว้ว่า จะต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือได้จดทะเบียนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้ทำการติดต่อกับกรมกองต่างๆในพระราชสำนักมาก่อน มีฐานะการเงินดี เป็นที่เชื่อถือของมหาชนมานานพอสมควร ประกอบการค้าโดยสุจริต ตั้งอยู่ในศีลธรรม และไม่เคยมีความผิดฐานทุจริตเป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้สึกของมหาชน

ปัจจุบัน มีการออกพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ.๒๕๓๔ และฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดคุณสมบัติของบุคคลหรือห้างร้าน บริษัท ที่ขอพระราชทานตราตั้ง ดังนี้

๑. มีฐานะการเงินดีและไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
๒. ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
๓. คุณสมบัติอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘
การขอพระราชทานตราตั้ง กระทำได้โดยยื่นคำขอต่อสำนักพระราชวัง เมื่อสำนักพระราชวังตรวจสอบและพิจารณาเห็นสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง เป็นผู้ออกตราตั้งให้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตราตั้งเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานตราตั้งและใช้เครื่องหมายตราตั้ง จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืนเนื่องจากบุคคลหรือห้างร้าน บริษัท ที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง ตาย หรือ เลิกประกอบกิจการประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตั้ง หรือโอนกิจการดังกล่าวให้ผู้อื่นดำเนินการ
นอกจากนี้ยังอาจถูกเรียกคืนเนื่องจากสำนักพระราชวังเห็นสมควรให้เพิกถอนสิทธิการรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายตราตั้งอีกด้วย

ดังนั้นที่เป็นห่วงกันว่า บริษัทที่ได้รับตราตั้งแล้ว ขายกิจการให้ต่างประเทศไป ตราตั้งพระราชทานจะตกไปเป็นของต่างประเทศด้วย ก็หายห่วงกันได้

ส่วนที่สงสัยกันว่า ร้านค้าระดับขายขนมเบื้องที่บางลำพู ก็มีตราตั้งด้วยนั้น เข้าใจผิดก็เข้าใจกันเสียใหม่ได้ ตราตั้งพระราชทานตรานั้น พระราชทานให้แก่ นาย ต.เง็กชวน ราชาธุรกิจบันเทิง และผู้ผลิตแผ่นเสียง โดยมีหนังสือของสำนักพระราชวังลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๙ ให้ไว้ว่า

“ตราตั้งฉบับนี้ให้ไว้แก่ นาย ต.เง็กชวน ธันวารชร เป็นสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการ ตั้งให้ ห้าง ต.เง็กชวน หุ้นส่วนจำกัด เป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องหีบเสียงกับจานเสียงและอื่นๆในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...”

ก็หายสงสัยกันไปได้ว่า ตราครุฑนั้นไม่เกี่ยวกับร้านขนมเบื้องแม่ประภา แต่เกี่ยวกับอดีตอันรุ่งเรืองของห้องแถวนั้น ที่มีผู้มาเช่าขายขนมเบื้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น