xs
xsm
sm
md
lg

สวยแต่ลื่น! กทม. แจงปรับปรุงทางเท้าหน้าโรงแรมดังสุขุมวิท ยันเจ้าของให้รื้อแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผอ.สำนักการโยธา กทม. แจงรื้อทางเท้าหน้าโรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท สุขุมวิท เพราะประชาชนร้องเรียนใช้แกรนิต ฝนตกพื้นลื่น วอนให้ปรับปรุงแล้วไม่ทำ สุดท้ายโรงแรมให้รื้อทั้งเส้น ชี้พื้นทางเท้าพังไม่เกี่ยวกับวัสดุ แต่เพราะใช้งานผิดประเภท จยย.-รถใหญ่ขึ้นฟุตปาธ

จากกรณีที่โลกโซเชียลวิจารณ์กรณีที่เฟซบุ๊ก "กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า" ได้โพสต์ภาพทางเท้าบริเวณหน้าโรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ปากซอยสุขุมวิท 2 ถนนสุขุมวิท แขวงและเขตคลองเตย กรุงเทพฯ ถูกผู้รับเหมาทำการรื้อทางท้าซึ่งบุด้วยกระเบื้องสีดำ ที่ทางโรงแรมเป็นผู้ทำเองเมื่อสิบปีก่อน ทั้งที่ยังมีสภาพดี สวยงาม ไม่ผุ ไม่พัง ทำให้เป็นสาธารณะสมบัติแก่ชาวกรุงเทพฯ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ชาวเน็ตถาม กทม. ทางเท้าโรงแรมดังย่านสุขุมวิท เอกชนทำไว้ดีๆ ทำไมถึงต้องทุบ

วันนี้ (28 เม.ย.) นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ชี้แจงกับ MGR Online ว่า เดิมทางเท้าบริเวณดังกล่าว ส่วนหนึ่งประชาชนร้องเรียนว่าเวลาฝนตกแล้วพื้นทางเท้าลื่น เพราะใช้พื้นแกรนิต ผ่านกระบวนการพ่นไฟหรือพ่นทราย อีกทั้งมีรอยปริแตก เดิมทางโรงแรมเคยขอทำทางเท้าในช่วงปรับปรุง (รีโนเวต) เมื่อ 10 ปีก่อน แล้วยกให้ กทม. โดยใช้พื้นแกรนิตมาปูหน้าโรงแรมเป็นระยะทาง 100 เมตร ซึ่งดูแปลกกว่าบริเวณอื่น ก็มีคนร้องเรียนว่าเมื่อฝนตกพื้นลื่นมาก เดินไม่ไหว

เมื่อ กทม. มีโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนสุขุมวิท ระหว่างทางรถไฟสายเก่า บริเวณใต้ทางด่วนด่านเพลินจิต ถึงแยกอโศก ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทางรวม 3 กิโลเมตร ให้เหมือนกันตลอดแนว ก่อนเข้าไปทำ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างและบูรณะ ได้เข้าไปพูดคุยกับทางเจ้าของโรงแรมให้ช่วยปรับปรุงทางเท้า เพราะชาวบ้านร้องเรียนมา จะปรับปรุงในคราวเดียวกันก็ได้เพราะเป็นเจ้าของเดิม แต่ก็ไม่ทำ สุดท้ายทางโรงแรมจึงให้ กทม. รื้อทางเท้าเดิมแล้วปรับปรุงให้เหมือนกันในคราวเดียว

ส่วนที่ชาวเน็ตวิจารณ์วัสดุปูทางเท้าที่ กทม. นำมาใช้ ที่มักจะเกิดปัญหากระเบื้องหลุดออก เดินแล้วน้ำที่ขังดีดใส่นั้น นายศักดิ์ชัย ชี้แจงว่า วัสดุปูทางเท้าที่นำมาใช้ เป็นวัสดุที่เหมือนกันทั้ง กทม. ซึ่งจะคงทนหรือไม่อยู่ที่การใช้งาน ทั้งนี้ การก่อสร้างสมัยก่อนส่วนใหญ่ไม่เทคอนกรีต แต่ปัจจุบันบังคับให้เทคอนกรีตก่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะ หากใช้งานทางเท้าปกติเฉพาะการเดินสัญจรไปมา รับประกันว่าไม่มีแตก แต่เมื่อใช้งานผิดประเภท มีรถจักรยานยนต์ รถใหญ่มาใช้ทางเท้า ทำให้กระเบื้องทางเท้าหลุดร่อนแล้วแตก

"สมัยก่อน กทม. ใช้กระเบื้องทางเท้าทรายล้าง หรือหินล้าง หนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร รับประกันว่าไม่แตก แต่ปัญหาคือทำแล้วไม่จบ การไฟฟ้าฯ หรือการประปาฯ มาขุด ขนาดใหญ่หาทดแทนยากมาก รถยนต์ลงไปทรุดเป็นแผ่นอันนั้นเราแก้ได้ แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้เพราะเวลาขุดเจาะถนนลำบาก เพราะฉะนั้นทำให้คนใช้งานตามปกติ ไม่ได้เผื่อให้รถขึ้นไปใช้ มันพังเพราะคน ไม่ได้พังเพราะวัสดุ" นายศักดิ์ชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น