xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มโซเฟียน เบญจเมนธา...หัตถศิลป์ที่สอดแทรกปรัชญาแห่งศาสนา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


SACICT ชูพลังแห่งการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยงานศิลปหัตถกรรม ในงาน Crafts Bangkok 2019 กับผลงาน “กายน์ลือปัส โดยเอ็มโซเฟียน เบญจเมนธา” สมาชิก SACICT ผู้สอดแทรกปรัชญาแห่งศาสนา ในผลงานหัตถศิลป์ ความสวยงามที่ไร้ขีดจำกัดด้าน เพศ เชื้อชาติ ศาสนา

“เราต้องรู้จักการให้ก่อนที่เราจะมี” มีวลีหนึ่งในศาสนาสอนว่า ให้มือขวาโดยที่มือข้างซ้ายไม่รับรู้ คือการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีใครรู้ ปราศจากการโอ้อวด แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย การส่งเพียงแค่รอยยิ้มก็เพียงพอแล้ว เพราะท่านศาสนฑูตมูฮัมมัดได้กล่าวว่า “การยิ้มมันคือการให้” เพียงแค่เราเริ่มส่งหนึ่งรอยยิ้ม เราก็สามารถสร้างมิตรภาพที่ดีได้” หนึ่งในมุมมองของเอ็มโซเฟียน เบญจเมนธา แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานคราฟต์ โดยมองความสำเร็จที่ “ความสุข” ของผู้ที่ได้ชื่นชมผลงาน แม้จากอดีตจะเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการงานเซรามิก แต่ภายในงาน Crafts Bangkok 2019 เบญจเมนธา ได้นำเอาผลงานใหม่ที่ยังคงสอดแทรกปรัชญาแห่งศาสนา บนความลงตัวของงานหัตถศิลป์ มานำเสนอกับผลงาน “ผ้ากายน์ลือปัส” (KianLepas)

เอ็มโซเฟียน เบญจเมนธา สมาชิก SACICT กล่าวว่า ผลงานต้องการนำเสนอการใช้สอยที่หลากหลายภายใต้ผ้าผืนเดียว พร้อมกับเรื่องราวการใช้งานในอดีตเกี่ยวกับ วิถีชุมชนมุสลิมคือการห่อหุ้มสิ่งมีค่า เพื่อความเรียบง่ายปลอดภัยและสวยงาม พร้อมการนำเสนอวิถีและวิธีการพับผ้า ในรูปแบบอดีตและร่วมสมัย เชื่อมโยงแนวทางการสื่อสารผ่านผืนผ้า เช่น สิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม สัตว์พื้นเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกายน์ลือปัส นอกจากนี้ ในแง่สิ่งที่ต้องการสื่อสารในเชิงคุณค่าและปรัชญาการใช้และวิถีมลายูมุสลิม ผ้าลือปัสคือ “สิ่งห่อหุ้มสิ่งมีค่า ให้สวยงามเรียบง่ายและปลอดภัย”และ”ปลดปล่อยความยุ่งยากสู่วิถีที่เรียบง่าย”

“LEPAS” แบรนด์ผ้าบาติกที่นำเสนอ (KianLepas) ชื่อผ้าอเนกประสงค์พื้นเมือง kain (กายน์) แปลว่าผ้า lepas (ลือปัส) แปลว่าปลดปล่อย เชื่อมโยงวิถีมลายูในอดีต ซึ่งทุกวันนี้อาจเริ่มเลือนหายไป จึงเห็นควรที่จะรื้อฟื้นสร้างค่านิยม ให้ผ้าลือปัสได้กลับมาใช้ไม่ใช่แค่คนพื้นเมืองมลายู แต่สามารถเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งมีความชื่นชอบในรูปแบบ ผลงาน ให้งานคราฟต์เข้าถึงได้ในวิถีชีวิตผู้คนทุกเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา อย่างกลมกลืน

สำหรับการได้มีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกของ SACICT และร่วมงาน Crafts Bangkok 2019 ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง และผลงาน เพราะมองว่าการเป็นศิลปินที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การได้รับโอกาสให้เข้ามาแสดงผลงาน เป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ศาสนาใด หรืออยู่ในพื้นที่ใด ก็สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยงานศิลปหัตถกรรม และการได้ร่วมงานในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างกลุ่มคนรักงานคราฟต์ ได้ไอเดียใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้มิตรใหม่ๆ ที่เป็นทั้งลูกค้า และกลุ่มสมาชิกซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่า และแรงบันดาลใจให้กับคนสร้างสรรค์งานคราฟต์ได้อย่างดี



กำลังโหลดความคิดเห็น