xs
xsm
sm
md
lg

พระแสงขรรค์ชัยศรี หนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์! อายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี ทอดแหได้จากทะเสสาบเสียมราฐ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระแสงขรรค์ชัยศรี
ในจำนวนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง สิ่งสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระขรรค์ชัยศรีมีเรื่องราวให้เล่ามาตั้งแต่บรมราชาภิเษกครั้งแรกของราชอาณาจักรไทย เป็นสิ่งหนึ่งในสองสิ่งที่พ่อขุนผาเมืองมอบให้พ่อขุนบางกลางหาวในวันราชาภิเษก คือชื่อ ศรีอินทรปตินทราทิตย์ และพระขรรค์ชัยศรี เพื่อเป็นยันต์ปกป้องคุ้มครองการรุกรานของขอม

ยุคนั้นในย่านนี้มีกัมพูชาเป็นมหาอาณาจักร อยู่ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้เรืองอำนาจที่สุดของขอม แต่ทว่าล่วงเข้าวัยชรา มีพระชนมายุถึง ๙๐ พรรษาแล้ว เมื่อทรงทราบว่ามีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นในย่านใกล้เคียง จึงทรงเรียกส่วนหนึ่งของกองทัพกัมพูชาที่ไปยึดครองจามปานคร ซึ่งอยู่ตอนกลางของเวียดนามในปัจจุบันให้กลับมาป้องกันนครธม แต่เมื่อทรงเห็นว่าผู้มาใหม่ที่ปกครองสุโขทัยนั้นรักสงบไม่รุกรานต่อ และเพื่อความสงบสุขในชีวิตบั้นปลายของพระองค์ จึงทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับพ่อขุนศรีเนานำถม เสนอผูกพันเป็นญาติ อันเป็นกุศโลบายทางการเมืองในยุคนั้น โดยพระราชทาน พระนางสิขรมหาเทวี พระราชธิดา ให้แก่ พ่อขุนผาเมือง โอรสของพ่อขุนศรีเนานำถม ทั้งยังพระราชทานพระขรรค์ขัยศรี และบรรดาศักดิ์ “ศรีอินทรปตินทราทิตย์” เป็นเกียรติแก่พ่อขุนผาเมือง พระราชบุตรเขยด้วย

เมื่อพ่อขุนศรีเนานำถมสวรรคต ขอมสมาดโขญลำพง ซึ่งตรองเมืองหนึ่งในย่านใกล้เคียงได้เข้ายึดเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาว ผู้ครองเมืองบางยาง ซึ่งอยู่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน ได้แจ้งให้ พ่อขุนผาเมือง พระสหาย ซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนศรีเนานำถม ซึ่งไปครองเมืองราด คือ เมืองศรีเทพ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ทราบข่าว และรวมกำลังกันกันขับไล่ขอมสมาดโขลญลำพง โดยพ่อขุนผาเมืองยึดได้เมืองสุโขทัย และพ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย แต่พ่อขุนผาเมืองได้แสดงน้ำใจตอบแทนพระสหายที่ช่วยกอบกู้ราชธานี โดยยกเมืองสุโขทัยให้ครอบครอง ทั้งยังมอบสิ่งมีค่าอีก ๒ สิ่งเสริมเกียรติพระสหาย คือ พระขรรค์ชัยศรีและพระนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนตัวเองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองรอง

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เหตุที่พ่อขุนผาเมืองยกกรุงสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาวปกครอง อาจเป็นพ่อขุนผาเมืองมีมเหสีเป็นขอม ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำของชนเผ่าไทยที่กำลังต่อสู้กับอิทธิพลขอมในเวลานั้น และการมอบพระขรรค์ชัยศรีกับพระนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ให้ ก็อาจให้เป็นยันต์ปกป้องคุ้มครองจากการรุกรานของขอม แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์องค์ใหม่ของสุโขทัยที่กำจัดขอมสบาดโขลญลำพงไป ก็มีความนิยมในพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีสายสัมพันธ์กับราชอาณาจักรกัมพูชา

การเสียสละของพ่อขุนผาเมือง ที่เห็นว่าตัวเองยังมีข้อกังขา อาจทำให้เป็นผลเสียแก่ประเทศชาติได้ จึงสนับสนุนให้พ่อขุนบางกลางหาว ที่มีความเหมาะสมกว่าขึ้นปกครองประเทศ นับเป็นแบบอย่างของผู้ปกครองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง

พระขรรค์ชัยศรีคือหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพิธีราชาภิเษกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และได้ใช้ต่อมาทุกรัชกาล เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็น ๑ ใน ๕ ของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีป แต่คงไม่ใช่พระขรรค์ชัยศรีองค์เดียวกัน และที่แน่นอนก็คือ พระแสงขรรค์ชัยศรีที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ไม่ใช่องค์เดียวกับสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๕ เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ได้เกิดแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่าง เจ้าฟ้าพร ผู้เป็นพระอนุชา กับ เจ้าฟ้านเรนทร์ ผู้เป็นพระราชโอรส ทำสงครามกลางเมืองกันหลายวัน ฝ่ายพระเจ้าหลานสู้ไม่ได้จึงหนีพร้อมกับหอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปด้วย เพื่อขัดขวางการบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏว่าเรือไปล่ม สมบัติล้ำค่าของชาติหายหมด เจ้าฟ้าพรจึงต้องราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยไม่มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามราชประเพณี

แต่อย่างไรก็ตาม สมบัติมีค่าทั้งหลายของกรุงศรีอยุธยาได้สูญหายไปทั้งหมดเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ.๒๓๑๐ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้สร้างขึ้นใหม่หลายอย่าง เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา แต่พระแสงขรรค์ชัยศรีของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ เป็นสมบัติโบราณที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่เพิ่งได้มาใหม่

พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้มีประวัติความเป็นมาว่า ชาวประมงได้ทอดแหติดขึ้นมาจากทะเลสาบเมืองเสียมราฐเมื่อครั้งอยู่ในราชอาณาจักรสยาม เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองกัมพูชาในสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กษัตริย์กัมพูชาซึ่งครองราชย์อยู่ในช่วงพระร่วงส่งส่วยน้ำให้ขอม เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ต้นตระกูล “อภัยวงศ์” ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๓๒๗ หลังจากทรงปราบดาภิเษกได้ ๒ ปี องค์พระขรรค์ยังอยู่ในสภาพดีไม่มีผุกร่อน พระราชทานนามพระขรรค์ว่า พระแสงขรรค์ไชยศรี และพระราชทานนามประตูพระบรมมหาราชวังที่พระแสงผ่าน ประตูชั้นนอกว่า วิเศษไชยศรี และประตูชั้นในว่า พิมานไชยศรี พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขากล่าวว่า ในวันที่เชิญพระขรรค์มาถึงพระบรมมหาราชวังนั้น ได้เกิดพายุจัด ฝนตกหนัก มีอสุนีบาตลงที่ศาลาลูกขุนในด้วย ส่วนในหนังสือเรื่องราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ ม.ร.ว.เทวาธิราช ป. มาลากุล อดีตสมุหราชพิธี เขียนไว้ว่า “เมื่อวันที่พระแสงขรรค์นี้มาถึง อสุนีบาตตกลงมาในพระนครถึง ๗ แห่ง มีที่ประตูวิเศษไชยศรี เป็นต้น อันเป็นทางที่พระแสงขรรค์องค์นี้ผ่าน”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณี แล้วโปรดเกล้าฯให้เชิญเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการพระบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ และใช้ในรัชกาลต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน

พระแสงขรรค์องค์นี้ เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว ๖๔.๕ ซม. ที่สันตอนจะถึงด้ามที่คร่ำด้วยทองคำ ฝังลวดลายทองคำลงในเนื้อโลหะ เป็นลวดลายสวยงามมาก ยังค้นไม่พบว่าได้คร่ำมาแต่สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ หรือทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระขรรค์นี้เมื่อประกอบด้ามแล้ว ยาว ๘๙.๙ ซม.หนัก ๑๓๐ กรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ ซม. หนัก ๑.๙๐๐ กรัม

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ และทรงไว้ซึ่งอำนาจ หรืออาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น