xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนาน "มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก" ต้นเหตุจาก "คดีเณรคำ" ชำแหละแจก "ปริญญากำมะลอ" นับร้อยใบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสวัสดิ์ บันเทิงสุข (ซ้าย) - นายวิรพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ (ขวา)
กรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก (World Peace University หรือ WPU) นำโดย นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง พร้อมพวกรวม 9 คน ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถือเป็นการปิดฉาก "มหาวิทยาลัยเถื่อน" ที่แอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงนับร้อยคน รับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอนจริง แต่เป็นเพราะใช้วิธี "ซื้อขายปริญญา" แบบจ่ายครบจบแน่

อ่านประกอบ : คุก 10 ปี 9 ผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก หลอกคนดัง ดารา ประชาชนจ่ายเงินรับปริญญาทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต

ย้อนกลับไปเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ นายวิรพล สุขผล หรือ หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม อ.กีนทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ถูกสังคมตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์) กับสีกาที่เป็นเยาวชน ตามภาพที่ปรากฎในโลกโซเชียล กระทั่งเจ้าตัวหลบหนีไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2556 ก่อนที่จะถูกตำรวจสหรัฐฯ จับกุมและส่งกลับมายังประเทศไทย สุดท้ายศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวม 114 ปี ใน 3 ข้อหา ทั้งฟอกเงิน ฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ ยังพบว่า หลวงปู่เณรคำ ยังมีพฤติกรรมแสดงและใช้วุฒิการศึกษาเท็จว่าจบดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษาเอกชน ตาม 8 ฐานความผิด ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการกับหลวงปู่เณรคำ รวม 5 คดี ตามการเปิดเผยจาก พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผบ.สำนักคดีความมั่นคง ดีเอสไอ (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557
อดีตพระเณรคำ (ซ้าย) - นายสุขุม วงศ์ประสิทธิ์ ลูกศิษย์อดีตพระเณรคำ (ขวา)
ในช่วงที่หลวงปู่เณรคำตกเป็นข่าวเมื่อปี 2556 ปรากฎว่ามี นายสุขุม วงศ์ประสิทธิ์ แกนนำลูกศิษย์หลวงปู่เณรคำ ประกาศตนเป็นดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ทำให้มีกลุ่มชาวพุทธไปร้องเรียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ตรวจสอบว่า อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนและพระสงฆ์หรือไม่ เนื่องจากมีการเรียกรับเงินประชาชนและพระสงฆ์เข้ารับปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการประมาณ 15,000-300,000 บาท

สำนักพุทธฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ตรวจสอบ กระทั่ง สกอ. ตอบกลับมาว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ไม่มีอำนาจให้ปริญญาบัตรแก่บุคคลใด และการใช้คำว่ามหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย

23 พฤษภาคม 2556 นายเสกสรร ประเสริฐ เจ้าของหนังสือพิมพ์อาชญากรรมฉบับหนึ่ง พร้อมพวก ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า นายสวัสดิ์ บันเทิงสุข ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก กับพวก ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชน พระสงฆ์ เพื่อให้ได้เข้ารับปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการ เมื่อสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย แต่จดทะเบียนเป็น "ห้างหุ้นส่วนจำกัด สันติภาพโลก" และเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียง รับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเสียค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรายละ 15,000-350,000 บาท แล้วนำไปโฆษณาให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยอื่นทุกประการ

3 กรกฎาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้อนุมัติให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผบ.สำนักคดีความมั่งคง ดีเอสไอ สอบสวน และแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เนื่องจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ไม่มีที่ตั้งเป็นตัวตน ใช้วิธีประสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เลขที่ 19 ซอยเทพฤทธิ์ ต.สันติธรรม อ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นโรงเรียนอนุบาล
อาคารที่ตั้งสำนักงานของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ที่มีนายสวัสดิ์ บันเทิงสุข (ขวา) อ้างเป็นอธิการบดี อยู่ในย่านชุมชนสันติธรรม จ.เชียงใหม่
4 กรกฎาคม 2556 นายสวัสดิ์ บันเทิงสุข อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก แถลงข่าว ระบุว่า ได้ก่อตั้งโดยทำพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เพราะต้องการส่งเสริมการศึกษาที่สามารถเรียนได้จากทุกแห่ง ยอมรับว่าไม่ได้ยื่นขออนุญาตจาก สกอ. อ้างว่าแนวคิดทางการศึกษาและวิธีดำเนินการแตกต่างกัน เชื่อว่าจะไม่อนุมัติ ส่วนการมอบปริญญาติตติมศักดิ์แก่บุคคลที่มีชื่อเสียง 300 ราย อ้างว่าเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำความดี ถ่ายทอดแนวคิดเพื่อนำไปสู่สันติภาพในโลก แก่ผู้ที่มหาวิทยาลัยเห็นว่ามีความเหมาะสม และผ่านการคัดกรองเท่านั้น

ทั้งนี้ ตนเคยกำชับไปแล้วว่า ไม่ได้รับการรับรองจาก สกอ. ไม่สามารถนำไปอ้างอิง ใช้ตำแหน่งด็อกเตอร์นำหน้า นำไปใช้สมัครงานหรืออ้างอิงทางวิชาการได้ ส่วนค่าใช้จ่าย 15,000 บาท นำไปใช้ในการตัดชุดครุย และจัดเตรียมพิธีการมอบปริญญาบัตรเท่านั้น แต่คนที่มาร้องเรียนเคยได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยมีปัญหาส่วนตัว

สำหรับที่เคยเข้ารับปริญญากับมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก อาทิ นายสมบัติ เมทะนี ศิลปินแห่งชาติและนักแสดงรุ่นใหญ่, นายยอดชาย เมฆสุวรรณ อดีตนักแสดง, นายครรชิต ขวัญประชา อดีตนักแสดง, นายมานพ อัศวเทพ อดีตนักแสดง, นายฤทธิ์ลือชา คุ้มแพรวพรรณ หรือ ฤทธิ์ ลือชา อดีตนักแสดงดาวร้ายชื่อดัง, นายทวนธน คำมีศรี อดีตนักแสดงบู๊ชื่อดัง, เรือเอกสมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก, นายศิริศักดิ์ นันทเสน หรือ ติ๊ก ชีโร่ นักร้องชื่อดัง, นายดามพ์ เผด็จดัสกร หรือ ดามพ์ ดัสกร อดีตนักแสดงดาวร้ายชื่อดัง และนักการเมืองคนเสื้อแดง, นายโกวิท วัฒนกุล หรือ แอ๊ด นักแสดงรุ่นใหญ่ และนักการเมืองคนเสื้อแดง, นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ประธานชมรมคนรักอุดร เป็นต้น
สมรักษ์ คำสิงห์ (ซ้าย) - ขวัญชัย ไพรพนา (ขวา)
17 กรกฎาคม 2556 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยความคืบหน้าว่า จากการลงพื้นที่ของดีเอสไอ พบว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก มีลักษณะหาผู้ที่ต้องการรับปริญญากิตติมศักดิ์ แบ่งสายการทำงานหาลูกทีมในธุรกิจขายตรงแบบเครือข่าย (MLM) โดยมีผู้ใกล้ชิดกับอธิการบดีเป็นผู้เปิดบัญชีเพื่อรับเงินโอนจากผู้ที่ต้องการรับปริญญาบัตร ปริญญาตรี 10,000 บาท ปริญญาโท 12,000 บาท และปริญญาเอก 15,000 บาท โดยมีการขออนุญาตใช้ห้องประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นห้องประชุมโรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านสะพานพระราม 5 ในจังหวัดนนทบุรี

21 กรกฎาคม 2556 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและ สกอ. เข้าสังเกตการณ์พิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พบว่าบนเวทีกลับมีป้ายชื่อ ศาสนพันธกร “ทูตแห่งสันติภาพ” ขององค์กรทูตสากล ที่ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรเชิดชูผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ในนาม UNIVERSAL MINISTRIES OF THAILAND หรือ UM แทน ขณะนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมพิธีสวมชุดครุย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับชุดครุยของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกที่มอบปริญญาไปก่อนหน้านี้ ภายหลังผู้จัดงานขอให้ผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมดงดสวมชุดครุย ทำให้มีผู้ไม่พอใจขอถอนตัวไป 30 คน ขณะที่นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข ซึ่งปรากฎตัวอยู่ในงาน อ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก

24 กรกฎาคม 2556 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีมติแจ้งข้อหาแก่นายสวัสดิ์ บันเทิงสุข ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก, นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก 2 สาขาลาดพร้าว, นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฎ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และ น.ส.วรางคณา เผ่าวงษา เลขานุการ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยนายสวัสดิ์ มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 พร้อมกับ น.ส.วรางคณา ให้การปฏิเสธทุกข้อหา

7 สิงหาคม 2556 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ตรวจค้นบริษัท มีเดีย เอ็มไพร์ จำกัด ในซอยลาดพร้าว 101/3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก 2 (WPU2) และมูลนิธิศรัทธา ซึ่งมี นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ หนึ่งในผู้ต้องหาเป็นคนดูแล พบเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการบริจาคเงินจากต่างประเทศ เพื่อนำเงินเข้ามูลนิธิศรัทธา จำนวน 1,000 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 40,000 ล้านบาท จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับคำยืนยันว่า มูลนิธิศรัทธา โดยนายศุภณัฐมีหนังสือสอบถามไปยังแบงก์ชาติ ถึงวิธีและขั้นตอนการนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาในประเทศจริง
ดอน แดนสวรรค์
ทั้งนี้ นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ มีชื่อฉายาว่า "ดอน แดนสวรรค์" ในแวดวงนักขายธุรกิจขายตรง จำหน่ายเหรียญพลังศุภมงคล (Quantum Shield) ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหลากหลายวงการเป็นพรีเซนเตอร์ทางอ้อม อวดอ้างสรรพคุณว่า ไม่ใช่เครื่องรางของขลัง แต่เป็นหินภูเขาไฟจากญี่ปุ่นและเยอรมัน ที่มีสินแร่อุดมสมบูรณ์บรรจุไปด้วยพลังงาน หากห้อยเหรียญนี้แล้วจะมีพลัง ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเตือนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ว่าเหรียญควอนตั้ม โฆษณาเข้าข่ายยาหรือเครื่องมือแพทย์ แต่ไม่มีหลักการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ และไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆ รับรอง

14 สิงหาคม 2556 นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ ผู้อ้างตัวเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก วิทยาเขตกรุงเทพฯ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อ้างว่าการดำเนินการไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของ สกอ. และไม่เคยโฆษณาให้บุคคลหลงเชื่อ และเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีเงินบริจาคจากต่างประเทศกว่า 40,000 ล้านบาท เตรียมโอนเข้าบัญชีมูลนิธิศรัทธานั้น อ้างว่าบริจาคเพื่อการศึกษา และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก

คดีนี้เป็นที่อื้อฉาวในวงการศึกษาไทยในปี 2556 แต่เงียบหายไปยาวนานกว่า 6 ปี ในที่สุด ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลย 9 คน โดยศาลเห็นว่า การดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกกระทำโดยมิชอบไม่มีใบอนุญาต และได้มีการนำข้อความที่บิดเบือน อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้มีบุคคลนับ 100 คนมีทั้งคนดังและนักแสดงเข้าร่วมในการรับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการเรียนแบบอิสระตามที่กล่าวอ้าง ให้ผู้รับชำระเงินอ้างเป็นค่าใช้จ่ายราว 5,000 - 12,000 บาท โดยจะให้กระเบื้องเซรามิกประทับตรา (โลโก้) มหาวิทยาลัยและชื่ออธิการบดี จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ปิดฉากยกแรกคดีปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยกำมะลอ ดับฝันค่านิยม "จ่ายครบ จบแน่" สร้างความเสียหายในแวดวงวิชาการ และวงการศึกษาไทยในภาพรวม
ตัวอย่างปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก
__________

รายชื่อผู้ต้องหา และโทษจำคุก คดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก

จำเลยที่ 1 นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 60 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิด ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 61 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 2 นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก สาขา 2 และนายทะเบียนมหาวิทยาลัย กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 27 กระทง, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 28 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 3 นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 27 กระทง, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 28 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 4 นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ใน จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนายสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการเงิน กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 60 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมจำคุก 61 ปี

จำเลยที่ 5 นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 33 กระทง และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 6 นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัยคนที่ 2 กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 33 กระทง และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 7 นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก สาขานนทบุรี กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 10 กระทง รวมจำคุก 10 ปี

จำเลยที่ 8 นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก สาขาภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่าง และประธานฝ่ายนิติกร มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 17 กระทง รวมจำคุก 17 ปี

จำเลยที่ 9 นางวัชราพร ป้องคำสิงห์ ผู้ช่วยนายนิยมและดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จ.ขอนแก่น กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 17 กระทง รวมจำคุก 17 ปี

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายรวมโทษจำคุกจำเลยทั้ง 9 ได้เพียง 10 ปีเท่านั้น และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ได้รับใบปริญญา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนของแต่ละคนด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น