xs
xsm
sm
md
lg

ยึกยักมา ๔๕ ปี เปิดได้เสียที รถไฟไทย-เขมร! สิงคโปร์-คุนมิงใกล้ความจริง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่รถไฟไทย-กัมพูชา
รถไฟสายไทย-เขมร ซึ่งเชื่อมติดต่อกันที่เส้นแบ่งเขตแดนคลองลึก อรัญประเทศ แต่เปิดๆปิดๆตามสถานการณ์มาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งมีเรื่องหงุดหงิดจนถึงขั้นรื้อรางออกไปเลย พอคืนดีก็กลับมาวางรางใหม่ แต่ใช้ไปยังไม่คุ้มค่าวาง เขมรก็สั่งปิดพรมแดน ต้องหยุดเดินรถไปอีก ปล่อยรางให้ขึ้นสนิมอยู่ในพงหญ้า ซ้ำฝั่งเขมรยังสร้างบ่อนขวางรางซะยังงั้น แสดงว่าจะไม่ใช้รถไฟเชื่อมกับไทยอีกแล้ว แต่แล้วเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อ “ลุงตู่” กับ “สมเด็จฮุนเซน” กดปุ่มให้รถไฟเปิดหวูดออกจากคลองลึกลอดบ่อนกัมพูชาไปเฉย

รถไฟสายไทย-เขมร หรือสายตะวันออกของไทยนี้ เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๔๔๘ สมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกับอีกหลายสาย โดยเริ่มจากกรุงเทพฯถึงฉะเชิงเทราระยะทาง ๖๑ กิโลเมตรก่อน ในขนาดรางกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร เปิดเดินรถมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๕๐

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงเล็งการณ์ไกลว่า เส้นทางสายนี้ต่อไปจะต้องเชื่อมกับรถไฟอินโดจีนของฝรั่งเศส จึงทรงให้เปลี่ยนขนาดรางลงเหลือกว้าง ๑.๐๐ เมตร เช่นเดียวกับขนาดรางทั่วอินโดจีน แล้วสร้างต่อไปอีก ๑๐๐ กิโลเมตรถึงสถานีกบินทร์บุรี เปิดเดินรถได้ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ ต่อมาก็เปิดเดินถึงสถานีอรัญประเทศในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๙

ในปี ๒๔๘๓ ไทยเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสในอินโดจีนถึงขั้นทำสงครามกัน ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในยุโรปแล้ว ฝรั่งเศสถูกเยอรมันตีแตกพ่าย ไม่สามารถมาช่วยอาณานิคมแห่งนี้ได้ เลยถูกไทยตีกระเจิง ต้องไปขอให้ญี่ปุ่นมาช่วยเจรจาสงบศึก ยอมคืนดินแดนที่บีบเอาจากไทยไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ขอค่าทางรถไฟ ๑๓๐ กม.ที่ ฝรั่งเศสสร้างขึ้นในเขมร กับถนนหนทางและตึกอาคาร เป็นเงิน ๖ ล้านเปียสต์ ให้แบ่งจ่ายในเวลา ๖ ปี

เมื่อได้ดินแดนคืนมา ไทยก็สร้างทางรถไฟต่อจากสถานีอรัญประเทศไปถึงคลองลึก แล้วสร้างไปเชื่อมกับรางของกัมพูชาที่สถานีปอยเปต จนต่อไปถึงพระตะบอง เป็นระยะทาง ๑๑๗

ในปี ๒๔๙๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ไทยจำต้องคืนดินแดนที่ได้มาในสงครามอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ก็ขอค่าสร้างถนนและทางรถไฟด้วยเหมือนกัน

เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนและรางรถไฟคืนไป แม้ยังไม่มีการรื้อรางที่เชื่อมกับไทย แต่ก็ไม่มีการเดินรถถึงกัน
ปล่อยให้รางรถไฟจากสถานีอรัญประเทศถึงสถานีปอยเปตเป็นรางร้าง จนเกิดเรื่องหงุดหงิดใจที่ทำให้
ไทยรื้อรางฝั่งไทยออกเสียเลย

เหตุเกิดในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๑ การรถไฟได้ส่งหัวรถจักรกับรถบรรทุกหินและรถตู้โดยสาร นำคนงานไปเก็บหินที่หลัก กม.๒๕๙.๑๖ ระหว่างสถานีอรัญประเทศกับคลองลึก ระหว่างที่คนงานเก็บหินนั้น พนักงานขับรถจักรได้ถอดหัวรถจักรกับรถตู้ ตญ.ออกจากขบวนไปอัดจารบี แล้วเกิดเผลอหลับไป หัวรถจักรกับรถ ตญ.ได้ไหลข้ามคลองลึกเข้าไปในเขตอินโดจีนซึ่งพื้นที่ต่ำกว่า และชนรถไฟฝรั่งเศสตกรางไป ๖ คัน ช่างไฟปลุก พขร.พากันวิ่งตามหัวรถจักรเข้าไป จึงถูกตำรวจฝรั่งเศสจับไว้ นายสถานีอรัญประเทศ นายอำเภอและ ตร.ไทยต้องไปประกันตัว จึงเอาพนักงานรถไฟไทย ๒ คนกลับมาได้ แต่หัวรถจักรและรถ ตญ.ถูกยึดไว้

เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้ส่งรถพ่วงทั้ง ๖ คันที่ถูกชนไปพนมเปญ จากนั้นการรถไฟอินโดจีนก็ตีราคาค่าเสียหายส่งมาเป็นบัญชียาว มีค่าซ่อมทาง ๑๐,๐๐๐ เปียสต์ ค่าซ่อมรถพ่วง ๖ คันๆละ ๑๔,๒๐๐ เปียสต์ ค่าป่วยการที่รถพ่วง ๖ คันไม่ได้ใช้งาน ๖ เดือน คันละ ๒,๐๐๐ เปียสต์ และรายการหยุมหยิมอีก รวมเป็นเงิน ๒๒๔,๐๐๐ เปียสต์ แต่ลดให้เหลือ ๒๐๐,๐๐๐ ถ้วน เป็นเงินไทย ๙๐,๐๐๐ บาท

ขนาดดินแดนยังบีบเอาได้ตามใจชอบ ค่าเสียหายเรื่องนี้จะไปต่อล้อต่อเถียงอะไรได้ กระทรวงการคลังจึงต้องจ่ายไป ส่วนค่าซ่อมของไทย การรถไฟไทยได้ลงบัญชีค่าซ่อมหัวรถจักรและรถพ่วงไว้ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๑.๐๔ บาท

เพื่อตัดปัญหาที่อาจจะเกิดเรื่องหงุดหงิดใจแบบนี้ขึ้นอีก การรถไฟจึงรื้อรางจากสถานีอรัญประเทศถึงสะพานข้ามคลองลึกออกเสียเลย ไม่ให้เหลือเยื่อใยกันอีก

ต่อมาในปี ๒๔๙๖ หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๓ โดยมีไทยเป็นประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลของกัมพูชา จึงมีความสัมพันธ์กันดี กัมพูชาได้เจรจาขอเชื่อมการเดินรถไฟอีก การรถไฟไทยจึงต้องสร้างรางที่รื้อออกเมื่อปี ๒๔๙๑ ใหม่ และเปิดเดินรถเชื่อมต่อกันเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๙๘

เสียแรงวางรางแทบตาย แต่เดินรถได้แค่ ๓ ปี ความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาก็ร้าวฉานขึ้น ด้วยเหตุที่สมเด็จนโรดมสีหนุซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาติจากการได้เอกราช ได้ยกเอาปราสาทเขาพระวิหารมาสร้างคะแนนนิยม แต่การเดินรถไฟถึงกันก็ยังดำเนินต่อไป จนในปี ๒๕๐๔ ขณะที่คดีปราสาทพระวิหารที่เขมรฟ้องกำลังถูกพิจารณาอยู่ในศาลโลก เขมรก็สั่งปิดพรมแดน ทำให้ต้องปิดการเดินรถไฟข้ามประเทศไปด้วยในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๔

การงดเดินรถในช่วงนี้เป็นเวลาถึง ๙ ปีจึงมีการเจรจาเปิดเดินรถกันใหม่ ทำให้ต้องซ่อมรางกันอีก และเปิดเดินรถได้ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ แต่แล้วเพียง ๓ ปีกว่าๆ เขมรได้เกิดสงครามกลางเมืองจนกรุงพนมเปญแตก ไทยจึงต้องยุติการเดินรถข้ามแดนในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗

จนถึงปี ๒๕๓๘ ในรัฐบาลของสมเด็จฮุนเซน การเจรจาเปิดเดินรถไฟถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก และในปลายเดือนกันยายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรมต.กลาโหม ได้นำคณะชุดใหญ่ไปเยือนกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาล้วนแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆเข้าประชุมด้วยท่าทีขึงขัง กัมพูชาขอความช่วยเหลือจากไทยให้ช่วยฟื้นฟูประเทศจากสงครามกลางเมือง ทั้งถนนและทางรถไฟที่เสียหายไปมาก แม้ทางรถไฟจากพนมเปญไปเมืองท่าสีหนุวิลล์จะยังอยู่ในสภาพดี แต่ก็ขาดแคลนรถตู้และรถจักร
ไทยตอบตกลงให้ความช่วยเหลือ ส่งทีมวิศวกรของการรถไฟเข้าสำรวจ พบว่าทางรถไฟจากคลองลึกถึงศรีโสภณระยะทาง ๔๘ กม.ถูกรื้อไปหมด ส่วนทางจากศรีโสภณถึงพนมเปญ ๒๘๐ กม.ยังพอใช้ได้แต่ก็ทรุดโทรม ใช้ความเร็วได้ต่ำ แต่ยังเชื่อมสู่ตอนใต้ของเวียดนามไปถึงเมืองลอคนินห์ได้ ที่สำคัญก็คือ ก่อนจะลงมือปรับปรุงรางรถไฟได้ จะต้องเคลียร์กับระเบิดให้หมดไปก่อน เพราะในสงครามกลางเมืองเขมรฆ่าเขมร ได้ฝังกับระเบิดไว้เกลื่อนไปหมด ทำให้โครงการนี้ไม่มีการเดินหน้าต่อ

ความจริงทางรถไฟช่วงนี้มีความสำคัญไม่เฉพาะไทยกับกัมพูชา เพราะอยู่ในเส้นทางสายทรานส์เอเซีย จากสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนาม ไปถึงเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีน ความยาว ๕,๐๐๐ กม. ตอนนั้นยังขาดอยู่แค่ ๒๐๐ กม.เศษในกัมพูชาเท่านั้น ที่อื่นเขาเสร็จกันไปหมดแล้ว ธนาคารพัฒนาเอเซียเลยให้กัมพูชากู้เงินไปสร้างเสียให้เสร็จ นอกจากกัมพูชาจะปรับปรุงระบบรางรถไฟทั้งประเทศครั้งใหญ่แล้ว เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ รมช.กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชาได้เชิญปลัดกระทรวงคมนาคมของไทย ไปร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามคลองลึกที่ไทยจะเป็นฝ่ายสร้างใหม่ และกัมพูชาจะวางรางที่ถูกรื้อไปถึงจังหวัดศรีโสภณ ซึ่งมีความยาว ๔๘ กม. กำหนดแล้วเสร็จใน ๒ ปี

ในวันที่วางศิลาฤกษ์นี้ก็ยังงงๆกันอยู่ เพราะบริเวณสถานีรถไฟปอยเปตของกัมพูชานั้น ไม่มีร่องรอยของทางรถไฟเหลืออยู่เลย ถูกรื้อรางขายไปหมดแล้ว กลายเป็นชุมชนที่คึกคัก ที่สำคัญยังมีบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่สร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทางรถไฟ เหมือนไม่มีเยื่อใยที่จะรื้นฟื้นทางรถไฟขึ้นมาอีก
แต่แล้วเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ นี้ ทางรถไฟไทย-กัมพูชาก็เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง “ลุงตู่” และ “สมเด็จฮุนเซน” ร่วมกันกดปุ่มเปิดการเดินรถไฟไทย-กัมพูชาที่สถานีคลองลึก วิ่งฉิวเข้าไปในกัมพูชา แม้จะมีสถานคาสิโนขวางหน้า แต่กัมพูชาก็ใช้วิธีวางรางไปบนพื้นคอนกรีต เหมือนรางรถราง ไม่มีไม้หมอนให้คนเดินสะดุดหัวทิ่มหัวตำ ลอดสะพานเชื่อมตึกคาสิโนเข้าไปเฉย
แม้จะถือฤกษ์ ๒๒ เมษายนเหมือนกัน แต่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ คงไม่เหมือน ๒๒ เมษายน ๒๔๙๘ ที่เปิดได้แค่ ๓ ปีก็ต้องปิดเพราะคดีเขาพระวิหารเป็นเหตุ แต่ครั้งนี้หลายชาติที่เขาร่วมใช้ คงไม่สนุกด้วยที่จะให้ปิดๆเปิดๆ ทำเป็นเด็กเล่นขายของกันเหมือนเก่าอีก
วางรางบนพื้นถนนแบบรางรถราง
น่าจะมีสถานีคาสิโนตรงนี้ซะอีกสถานี
สะพานคลองลึกสมัยถูกทอดทิ้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น