จากหนังสือ “บรมราชาภิเษก” ศึกษาค้นคว้าโดย นางณัฏฐภัทร จันทวิช ซึ่งบริษัท รุ่งอรุณ พับลิชชิ่ง จำกัด จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ในบทสรุปวิเคราะห์มีข้อความที่น่าสนใจเกี่ยวกับคติความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ที่กำหนดข้อควรและไม่สมควรที่พระเจ้าอยู่หัวจะพึงปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้พระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง ประกอบด้วยฤทธานุภาพและตบะอันสูง ในหัวข้อ “การที่ควรปฏิบัติและมิควรปฏิบัติขององค์พระมหากษัตริย์”
ข้อควรปฏิบัติและยึดถือ มี ๙ ประการ คือ
เมื่อจะเสวยพระกระยาหาร ประทับหันพระพักตร์ไปทางตะวันออก
ให้เสวยปลาที่มีรสโอชา
ให้เสวยผลไม้ที่มีรสหวาน
ให้ดมกลิ่นดอกไม้อันหอม
ให้สรง (อาบน้ำ) ระหว่างเวลาเที่ยง
ให้ลูบไล้พระวรกายด้วยเครื่องหอม
เมื่อจะบรรทมให้บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
เมื่อตื่นพระบรรทมแล้วให้สรงพระพักตร์ด้วยน้ำสังข์ และน้ำที่มีกลิ่นหอม และให้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ให้ทรงพระภูษาเนื้อละเอียด
ส่วนการที่มิควรปฏิบัติสำหรับพระมหากษัตริย์ มี ๑๐ ประการ คือ
อย่าทอดพระเนตรดูแสงพระอาทิตย์
อย่าบรรทมตื่นสายจนแสงพระอาทิตย์ขึ้น
อย่าเสวยพระกระยาหารในเวลาบ่ายถึงยามหนึ่ง
อย่าเสวยผลไม้ที่มีต้นและผลดำ
อย่าเสวยน้ำที่มีมันตมและห้วยหนอง
อย่าเสวยเนื้อปลาที่คาวและไม่มีมัน
อย่าเสวยพระโอสถที่หมอปรุงขึ้นในที่มิชอบ
อย่าเสวยสิ่งที่ต้องขบ ต้องกัด
อย่าเสพกามคุณด้วยสตรีที่มีอายุ ๔๐-๕๐ ปี
อย่าทรงพระภูษาเนื้อหยาบ
นอกจากนี้ พระองค์ยังต้องทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ เรียกว่า “จักรวรรดิวัตร” ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ
ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพและเชิดชูธรรม ตั้งตนอยู่ในธรรม
ธรรมิการักขา ให้ความคุ้มครองโดยธรรม ด้วยการรักษาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน
อธรรมการ คือจัดการป้องกันแก้ไขมิให้มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ธนานุประทาน แบ่งปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ยากไร้ ด้วยการจัดให้ราษฎรมีการหาเลี้ยงชีพพึ่งตนเองได้
ปริปุจฉา คือการมีที่ปรึกษาที่ทรงวิชาการ ทรงคุณธรรม เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ ที่จะช่วยให้เจริญปัญญาและกุศลธรรม
นอกจากนี้แล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงประกอบราชสังคหะ คือต้องทำนุประชาราษฎร์ด้วยหลักธรรมที่เรียกว่า “ราชสังคหวัตถุ” ทั้งยังต้องเป็นผู้ละเว้นอคติทั้งปวงด้วย
สำหรับราชสังคหวัตถุ มี ๔ ประการ คือ
สัสสะเมธังฉลาดที่จะบำรุงธัญญาหาร
วาจาเปยะมีวาทะดูดดื่มใจ
ปุริสเมธังฉลาดสงเคราะห์บุรุษ
สัมมาปาสังสามารถผูกน้ำใจมนุษย์ให้นิยมยินดี
สำหรับอคติต่างๆ ที่ต้องละเว้น มี ๔ ประการ คือ
ฉันทาคติลำเอียงเพราะชอบ
โทสาคติลำเอียงเพราะชัง
ภยาคติลำเอียงเพราะขลาดกลัว
โมหาคติลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา
ธรรมดังกล่าวเหล่านี้ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า เป็นธรรมที่องค์พระมหากษัตริย์หรือผู้นำรัฐพึงกระทำ ซึ่งก็นับว่าเป็นการยากยิ่งที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็นับว่าเป็นบุญของประชาชนชาวไทย ที่มีองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมนี้มาตลอด ทำให้ชาติไทยมีความร่มเย็น สุขสงบ และเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ