xs
xsm
sm
md
lg

อย่าพลาดโอกาส! ปราสาทพระเทพบิดรเปิดให้เข้าถวายบังคม ๘ กษัตริย์จักรีวงศ์ในวันสงกรานต์ !!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบรมรูป ๘ บูรพกษัตริย์ในปราสาทพระเทพบิดร
อย่างที่เล่าไปเมื่อวันก่อนว่า คติคนตะวันออกรวมทั้งคนไทยเรานั้น แต่ก่อนเชื่อว่าการปั้นรูปคนที่มีชีวิตอยู่จะทำให้ชีวิตสั้น แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ไม่นิยมสร้างกัน รวมทั้งพระพุทธรูปด้วย จนเมื่อกษัตริย์กรีกพระองค์หนึ่งหันมาถือศาสนาพุทธ ทรงริเริ่มสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.๕๐๐ จึงเริ่มตามกันเป็นต้นมา แต่การปั้นรูปคนทั่วไปก็ยังไม่นิยมกัน ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า การปั้นรูปเหมือนตามฝรั่งนั้น ไทยเราเพิ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มานี่เอง เหตุเพราะใน พ.ศ.๒๔๐๖ พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ได้ส่งรูปปั้นของพระองค์และพระมเหสีมาถวายเป็นบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้ปั้นรูปพระองค์ส่งไปเป็นการตอบแทน แต่ขุนนางผู้ใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วยและกราบทูลคัดค้าน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมิได้ทรงคิดเรื่องส่วนพระองค์ จึงโปรดให้ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ปั้นพระบรมรูปส่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ซี่งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฟองแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ในขณะนี้

ต่อจากนั้นมาก็ทรงดำริที่จะสร้างพระบรมรูปทุกรัชกาลไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้เหมือนกับหอพระเทพบิดรในวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงศรีอยุธยา แต่ยังมิได้ทำก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ทำต่อมาตามพระราชดำริ ร.๔ แต่ปัญหาก็อยู่ที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ นั้นหาคนที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นน้อยเต็มที ในที่สุดก็หามาได้ ๔ คน คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาของรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีพระชนม์ ๑๗ ปีเมื่อรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต เจ้าพระยาธรรมติกร (มั่ง) ต้นสกุล สนธิรัตน์ และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ต้นสกุล บูรณศิริ มาเป็นผู้บอกให้ปั้นอย่างไร ตรงไหนเหมือนและไม่เหมือน ส่วนรัชกาลต่อๆมานั้น พระราชโอรสพระราชธิดายังทรงพระชนม์อยู่โดยมาก จึงปั้นสำเร็จและหล่อพระบรมรูปได้ ๔ รัชกาล

พระบรมรูปนี้ได้นำไปประดิษฐานไว้ในสถานที่ต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การแยกย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ไปอยู่ในที่ต่างๆกันนั้น ไม่สะดวกแก่การประกอบพิธีและการเข้าสักการะของประชาชน จึงให้อัญเชิญมาประดิษฐานรวมกันในปราสาทที่รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นที่ข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่เดิมมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อจะนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน พระราชทานนามไว้ว่า “พุทธปรางค์ปราสาท” แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วปรากฏว่าภายในปราสาทคับแคบเกินไป ไม่สะดวกแก่การประกอบพระราชพิธีสำคัญ จึงได้ระงับที่จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมา ปราสาทแห่งนี้จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใด เมื่อรัชกาลที่ ๖ ได้อัญเชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รวมกับพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ มาประดิษฐานแล้ว จึงพระราชทานนามปราสาทแห่งนี้ใหม่ว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” ปัจจุบันพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทเทพบิดรมี ๘ พระองค์ คือรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๘ ส่วนรัชกาลที่ ๙ นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯให้เททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปแล้วเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ นี้ เพื่อประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร

แต่เดิม ปราสาทพระเทพบิดรเปิดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปบรพกษัตริย์เฉพาะในวันที่ ๖ เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีเท่านั้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปเพิ่มขึ้นอีกในวันฉัตรมงคล วันสงกรานต์ ๑๓-๑๕ เมษายน และวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม
ในวันสงกานต์นี้ ถ้าไปนมัสการพระแก้วมรกต ถวายบังคมพระบรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งทรงมีคุณูปการแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง เป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว เลยไปที่หลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกสักนิด ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกอย่าง ก็คือ นครวัดจำลอง ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีทรงพระราชดำริว่า เมืองเขมรซึ่งตอนนั้นอยู่ในความปกครองของไทย มีปราสาทหินมากมาย มีพระราชประสงค์จะรื้อปราสาทหลังย่อมๆมาไว้ที่กรุงเทพฯให้ประชาชนได้ชมสักหลัง แต่เมื่อส่งคนไปจะรื้อปราสาทไผทตาพรหม เมืองเสียมราฐ ชาวบ้านย่านนั้นก็ไม่พอใจ อีกทั้งเหล่าบรรดาเสนาบดีกราบบังคมทูลว่า ปราสาทหินเหล่านั้น กษัตริย์แต่โบราณได้สร้างไว้ มีอายุเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้ว เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศติดแผ่นดิน หากไปรื้อเอามา คนสมัยนี้ก็ไม่มีปัญญาที่จะยกหินก้อนใหญ่ขนาดนั้นได้ หรือรื้อเอาเข้ามาแล้วทำขึ้นใหม่ไม่ได้ หรือมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ก็จะเป็นการเสียพระเกียรติยศ ขอพระราชทานรับสั่งให้งดเสียดีกว่า จึงทรงรับสั่งให้งดรื้อตามคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาบดี แต่ยังไม่เลิกล้มพระราชดำริที่จะให้คนกรุงเทพฯได้ดูปราสาทขอม โปรดเกล้าฯให้พระสามภพพ่ายไปลอกแบบปราสาทนครวัดมา ซึ่งใช้เวลาเกือบ ๔ เดือน วัดส่วนกว้างส่วนยาวของปราสาทหินนครวัดมาอย่างละเอียด แล้วนำมาย่อส่วนสร้างไว้อย่างที่เห็นในวัดพระแก้วในปัจจุบัน

นี่ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างที่น่าไปชม
ปราสาทพระเทพบิดร
พระบรมรูป ๕ กษัตริย์ในปราสาทพระเทพบิดร
นครวัดจำลองในวัดพระแก้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น