การปั้นรูปบุคคลนั้น เป็นคติความนิยมของชาวตะวันตก ส่วนคนตะวันออกกลับตรงกันข้าม เชื่อว่าการปั้นรูปคนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะทำให้อายุสั้น เมื่อตายไปแล้วก็ไม่นิยมปั้นรูปขึ้น แม้แต่พระพุทธรูปก็ไม่ยอมสร้าง เกรงว่าจะเป็นบาปถ้าไม่เหมือนพระพุทธเจ้าองค์จริง ถ้าจะสร้างสิ่งที่รำลึกถึงพระพุทธองค์ ก็จะใช้สัญลักษณ์แทน เช่นใช้รูปพระบาทแทนปางประสูติ รูปโพธิบัลลังก์แทนปางตรัสรู้ รูปธรรมจักรและกวางแทนปางปฐมเทศนาในสวนกวาง รูปพระสถูปแทนปางปรินิพพาน
จนในสมัยที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีก รุกรานมาถึงอินเดีย แล้วตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้นที่เมืองคันธาระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน รวมทั้งบริเวณโดยรอบ ย่านอาฟกานิสถานและอินเดียตอนเหนือ แต่เมื่อถูกยันไว้แค่แม่น้ำสินธุ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็เสด็จกลับไปมาซิโดเนียใน พ.ศ.๒๑๘ โดยทรงแบ่งเขตที่ยึดได้ให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองต่อไป
ต่อมากษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นโพ้นทะเลของกรีกองค์หนึ่งคือ พระเจ้าเมนันเดอร์ได้บุกข้ามแม่น้ำสินธุเข้าไปยึดครองได้ถึงแม่น้ำคงคา เลยทำให้วัฒนธรรมอินเดียไหลบ่าเข้ามาในอาณาจักรของพระองค์ รวมทั้งพระพุทธศาสนา พระเจ้าเมนันเดอร์เองก็ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธด้วย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในพระนาม พระเจ้ามิลินท์ ในวรรณกรรมพุทธศาสนาในชื่อ “มิลินทปัญหา” อันเป็นบทสนทนาของพระองค์กับพระนาคเสน ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ให้ความรู้ในเรื่องศาสนาพุทธอย่างกระจ่าง
พระเจ้าเมนันเดอร์ หรือ พระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์กรีกพระองค์นี้ ก็คือผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยถือเอาคติบูชารูปเคารพเทพเจ้าในศาสนากรีกโบราณ มาสร้างเป็นรูปเคารพพระพุทธเจ้า
พระพุทธรูปยุคแรกในสไตล์กรีกนี้ ช่างชาวกรีกได้สร้างให้เหมือนมนุษย์จริง บางครั้งก็มีพระมัสสุ หรือหนวดบนพระโอษฐ์ด้วย บนพระเศียรขมวดผมเป็นพระเกตุมาลา เพื่อให้แตกต่างจากพระสาวก ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นรอยกลีบเหมือนผ้าจริง และยังสร้างสรรค์เป็นปางต่างๆจากพุทธประวัติอีก เช่น ปางตรัสรู้ก็เป็นพระพุทธมารดาทรงยืนเกาะกิ่งไม้ และมีพระพุทธกุมารกำลังทรงพระดำเนินอยู่ข้างหน้า ปางตรัสรู้เป็นรูปประทับสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ปางปฐมเทศนาเป็นรูปยกพระหัตถ์จีบพระดรรชนีเป็นรูปวงจักร และปางปรินิพพานเป็นรูปพระนอน ต่อมาก็มีปางมารวิชัย ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ ซึ่งเรียกกันว่า พระพุทธรูปสมัยคันธาระ (กรีก) และถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด
เมื่อชาวพุทธในอินเดียได้เห็นพระพุทธรูปกรีก ก็เกิดความเลื่อมใส และสร้างขึ้นมาบ้าง โดยใช้ศิลปะของชนชาติตน ไม่ได้รับอิทธิพลศิลปะของกรีก พระพักตร์เป็นแบบอินเดีย ห่มจีวรบางแนบพระองค์ ไม่มีริ้ว ต่อมาพราหมณ์ก็สร้างเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ขึ้นมาเพื่อกราบไหว้บ้าง คติความเชื่อเดิมเรื่องปั้นรูปจึงจางหายไป