xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวย้อนยุคเมืองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗! โกสินารายณ์ แหล่งท่องเที่ยวยุคทวาราวดีและสระน้ำศักดิ์สิทธิ์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระโพธิสัตว์ฯ จำลอง
เมืองโบราณโกสินารายณ์ อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ถนนบ้านโป่ง–กาญจนบุรี ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสใน “คติจักรวาล ๔ ทิศ” แนวกำแพงคันดินของเมืองเกือบไม่หลงเหลือเพราะถูกทำถนนเพื่อความสะดวกสบายของชุมชนและโรงงานใหญ่ ตามการพัฒนาของบ้านเมือง

เดิมเมืองโกสินารายณ์มีสระน้ำอยู่ภายในตัวเมืองทั้ง ๔ ทิศ เรียกกันว่า สระนาค สระจรเข้ สระมังกร และสระแก้ว ซึ่งก็แทนความหมายของมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่รายล้อม “เขาพระสุเมรุ” ที่สถิตแห่งเทพเจ้าตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และฮินดู

นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาว ๔๐๐ เมตร เรียกกันว่า สระโกสินารายณ์ เชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ

ภายในตัวเมืองมีซากโบราณสถานขนาดใหญ่เรียกว่า “จอมปราสาท” ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางเมือง น่าจะเป็นปราสาทหรือ “สุคตาลัย” สถานบูชาพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ พระอวโลกิเตศวร ประจำโรงพยาบาล “อโรคยศาลา”

จากจารึกปราสาทพระขรรค์ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของกำพูชา เมืองโกสินารายณ์อาจจะเป็นเมืองตามชื่อ “ศัมพูกปัฏฏนะ” ที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีพระนามว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ๑ ในจำนวน ๒๓ องค์ ที่พระเจ้าชัยวรมันพระราชทานไปทั่วพระราชอาณาจักร รวมทั้ง เมืองลโวทยปุระ (ลพบุรี) เมืองสุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) เมืองชัยราชปุระ (ราชบุรี) เมืองศรีวัชระปุระ (เพชรบุรี) เมืองศรีชัยสิงหปุระ (เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการประกาศทั้งอำนาจทางการเมืองและการศาสนาของพระองค์ไปพร้อมกัน

จอมปราสาท เป็นปราสาทที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมแบบเขมรวัชรยาน โดยส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน ในปี ๒๕๐๙ มีการขุดพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี สลักจากหินทราย ไม่มีเศียร พระวรกายตอนบนสลักรูปพระอมิตาภะปางสมาธิโดยรอบพระวรกราย และมีรูปนางปรัชญาปารมิตาประทับนั่งถือดอกบัวอยู่ที่บั้นเอวสามองค์ และที่พระอุระอีกหนึ่งองค์ เบื้องล่างทรงผ้าโจงกระเบนสั้น ทิ้งชายผ้ามาด้านหน้า เป็นความนิยมในศิลปะเขมรแบบบายน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี เป็นรูปเคารพสำคัญของลัทธิ “โลเกศวร” ซึ่งแตกออกมาจากศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ เป็นคติที่นิยมเฉพาะในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่านั้น ซึ่งถือว่าพระโลเกศวรเปล่งรัศมี “เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไป ด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย”

ตอนขุดค้นในปี ๒๕๐๙ ก็ได้พบลวดลายปูนปั้นที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งส่วนต่างๆของโบราณสถานจอมปราสาท ทำเป็นรูปเทพเจ้า มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นาค สิงห์ สิงห์ ช้าง ฯลฯ จำนวนมาก ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก แต่ลวดลายปูนปั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากศิลปะแบบบายนที่ประเทศกัมพูชา ด้วยมีร่องรอยการผสมผสานศิลปะแบบจีนและทวารวดีในท้องถิ่นเข้าไปด้วย.
ปัจจุบันปูนปั้นและกระเบื้องเชิงชายของจอมปราสาท จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี

เมืองโกสินารายณ์เป็นเมืองที่มีระบบชลประทานแบบใช้ “บาราย” ขนาด ใหญ่แบบเขมรโบราณ เป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้ง จากหลักฐานสระน้ำหลายแห่งภายในตัวเมืองและบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังพบร่องรอยการขุดคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลองเพื่อนำน้ำมาใช้หมุนเวียนในตัวเมือง เป็นระบบการกำจัดมลภาวะทางน้ำจากการอุปโภคบริโภคอีกด้วย

เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปเกือบพันปี ถนนทันสมัยตัดขนานไปตามลำแม่น้ำกลอง ชุมชนก็ขยายตัว จากทุ่งป่ารกร้าง กลายมาเป็นเมืองตามเส้นทางแห่งความเจริญ ปราสาทจอมปราสาทถูกรื้อไปเมื่อใดไม่ชัดเจนนัก สระน้ำทั้งสี่ก็หายไป ตื้นเขินและถูกไถถม คงเหลือแต่สระโกสินารายณ์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองเดิม ซึ่งได้นำน้ำในสระนี้มาร่วมพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๑๐ นี้ด้วย

พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อสร้างขึ้นโดยเทศบาลเมืองท่าผา เปิดให้เข้าชมครั้งแรกปี ๒๕๕๗ เป็นศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประชาชน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโกสินารายณ์ ที่เป็นเมืองในอดีตสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากนี้ภายในยังจัดแสดงเกี่ยวกับอารยธรรมเขมรในลุ่มน้ำแม่กลอง และเหตุการณ์ที่สระโกสินารายณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พระโพธิสัตว์ฯ เมื่อขุดค้นพบ
สระโกสินารายณ์
พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ 


กำลังโหลดความคิดเห็น