xs
xsm
sm
md
lg

โจโจ้-พลอยยุคล กับอีกก้าวขั้นของทักษะการแสดงใน “Sisters กระสือสยาม”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โจโจ้-พลอยยุคล โรจนกตัญญู เริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างไปทีละนิด แล้วด้วยหน้าตากับคาแรกเตอร์อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์แฟนตาซีสยองขวัญ อย่าง “Sisters กระสือสยาม” โดยผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งบทบาททางการแสดงครั้งสำคัญสำหรับตัวพลอยยุคลเองก็ว่าได้

• อยากให้ช่วยเล่าถึงคาแรกเตอร์ของวีณาในเรื่องนี้หน่อยครับ

คาแรกเตอร์ของวีนาจะเป็นคนที่นิ่ง เท่ ขรึมๆ มีความแข็งแรง แล้วก็เป็นพี่สาวที่ต้องคอยดูแลน้อง คือตั้งแต่จำความได้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องน้องมาตลอด อีกครั้งก็ต้องมีการเรียนทางด้านการต่อสู้ เรียนรำดาบ การใช้อาวุธ หรือพิธีลงอาคม จากลุงของเราในเรื่อง ซึ่งเป็นหมอปรุงยา และเป็นนักฆ่าปีศาจ เราต้องมีการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าเมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว น้องเราคือโมราจะอยู่หรือจะไปก็ขึ้นอยู่กับเรา

• จากที่เล่ามาถือว่าค่อนข้างตรงหรือว่าขัดกับตัวเรามั้ย

ก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างนะคะ คือวีนาก็มีความเป็นนักสู้ในตัวเอง แล้วเราก็เป็นคนที่กล้าพูดกล้าแสดงออก ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องต่างๆ หรือบางทีอาจจะเป็นลักษณะที่ว่าเพื่อนจะบอกว่าเราเป็นคนที่พูดตรงเกินไป ไม่ค่อยรักษาน้ำใจคนอื่น อย่างตอนสมัยเรียนมหา'ลัย ช่วงปี 1 เราก็จะมีฉายาว่า โจโจ้เด็กก้าวร้าว เพราะว่าเราจะเป็นคนที่พูดตรง ห้าวๆ พูดจาขวานผ่าซาก แล้วไปเถียงเขาในช่วงประชุมเชียร์ รุ่นพี่ก็มาว้ากใส่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นโจทก์กับรุ่นพี่ในช่วงรับน้องก็ว่าได้ แต่พอจบพิธีแล้วก็ไม่มีอะไร อีกอย่างก็ถือว่าค่อนข้างเป็นคนที่รักความยุติธรรมด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่โกหกไม่เก่ง

• แล้วการทำงานในเรื่องนี้เป็นยังไงบ้างครับ

ถือว่าหนังเรื่องนี้มีความเป็นขั้นตอนและความละเอียดเยอะ เพราะว่าต้องมีฉากแอ็กชันการบู๊ด้วย อีกทั้งเป็นกองถ่ายหนังที่ใหญ่ รวมถึงนักแสดงที่เป็นรุ่นใหญ่ทั้งนั้นเลย เหมือนเราได้รับโอกาสดีมา เราก็ต้องพยายามทำงานผลงานให้ดีที่สุด รวมถึงต้องทำการบ้านมาพอสมควร นั่นคือการซ้อมรำดาบ ซ้อมโรลเลอร์เบลด

คือตอนแรกสุด เราไม่มีพื้นฐานกับทั้งสองอย่างเลย เราต้องมีการมาเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างหลังนี่คือ เราไม่เคยเล่นมาก่อน เราก็ต้องฝึกกีฬานี้ แต่จริงๆ แล้วในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ใช้เยอะขนาดนั้น เขาต้องการแค่สื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ตัวละครชอบ แต่ไม่สามารถที่จะต่อเนื่องได้ เพราะสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำนั่นคือการรำได้ ซึ่งจริงๆ ทั้งสองอย่างก็ไม่สามารถมาทำพร้อมกันได้ แต่วีณาในเรื่องเป็นคนดื้อเลยเอามาทำทั้งสองอย่างซะเลย

• รวมถึงทักษะการแสดงก็เพิ่มขึ้นจากเรื่องก่อนหน้านี้ด้วย

เพิ่มขึ้นค่ะ เพราะว่าเรื่องแรก (BKKY) เราจะเล่นเป็นตัวเองเลย มันก็ไม่ได้ต้องมาตีความอะไรขนาดนั้น เหมือนเราผ่านประสบการณ์มาด้วยตัวเอง เราแทบจะเข้าใจทุกอย่างที่เล่นออกไป แต่ว่าเรื่องนี้เราสวมบทเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่แตกต่างจากเรา ทั้งสภาพแวดล้อม ครอบครัว รวมถึงการคิดการอ่าน คือทุกอย่างเราต้องทำการบ้านใหม่ ตีความใหม่ แต่ถามว่าเข้าถึงศาสตร์การแสดงด้วยไหม หนูคิดว่าตอนถ่ายทำก็น่าจะเต็มที่แล้วแหละ

เรียกว่าครบทุกรสชาติเลย ก็ถือซะว่าเราก็ไม่เคยเจอกันแสดงที่โหดเท่านี้มาก่อน แค่โลเกชันที่ถ่ายก็ใช้ได้แล้ว เช่น หอพักหญิงร้าง สนามกีฬาร้าง ทุกคิวที่เล่นเป็นคิวกลางคืน ถ่ายทำเสร็จตอนเช้าแทบทุกซีน หรือบางครั้งถ่ายทำแบบน็อกรอบเลยก็มี แต่โดยรวมเราคิดว่าสนุกนะ มันเป็นความท้าทายดี จริงๆ อาชีพนักแสดงเอาคิดว่าเป็นอาชีพที่เราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน มันมีจุดเด่น มันมีความท้าทายตรงนี้อยู่แล้ว แล้วพอได้ทำก็มีความรู้สึกว่าสิ่งไหนที่เราชอบหรือไม่ชอบ มันก็ทำให้เราได้ค้นเจอตัวเองมากขึ้นที่ได้ทำงานในสายงานนี้ค่ะ

• แล้วการที่เรียนด้านเบื้องหลัง (คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ) มา แต่ก็เป็นเบื้องหน้าเสียเอง ถือว่ามีความท้าทายด้วยมั้ย

ทุกวันนี้หนูถูกเพื่อนแซวเสมอว่าเรียนด้านเบื้องหลังมาได้มาทำงานเบื้องหน้า อย่าง Connection ที่เรามีก็รู้จักจากพี่ๆ ในสายตาอยู่แล้ว แต่คาแรกเตอร์เราได้ เราก็ถูกเรียกให้ไปแคสต์งานในที่ต่างๆ ซึ่งก็ได้ข้อดีตรงที่หนูบอกไป คือเราอาจจะเรียนไม่ตรงสายตรง ซึ่งจริงๆ ในการแสดงมันก็เป็นเรื่องที่พัฒนากันได้นะ แต่บางทีก็มีความเกร็งอยู่นะคะ เพราะอย่างที่บอกไปว่าเราเรียนทางด้านการทำเสื้อผ้า แต่ก็อยู่โลกภายนอกเราก็เป็นนักแสดง มีความย้อนแย้งอยู่ในนั้น

ซึ่งจริงๆ แล้วเราอยากเรียนทางด้านเบื้องหน้านะ แต่คณะนี้ถือว่าเป็นคณะที่เข้ายากมาก เขาดูตรงที่ทักษะจริงๆ แล้วเราในตอนแรกก็ไม่กล้าสอบเข้า เพราะว่ากลัวไม่ติด แล้วเรามีทักษะด้านวาดรูปด้วย ก็จะเข้าทางด้านแฟชั่นดีไซน์ที่มหา'ลัยแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ไปสอบ จนสุดท้ายก็กลับมาสอบที่นี่ เพราะมีความคิดที่ว่า ถึงไม่ได้ตามที่หวัง แต่ว่าก็ขออยู่ใกล้ๆก็ยังดี ก็เลยเลือกด้านเบื้องหลังแทน ซึ่งพอเรียนไปก็สนุกมาก (ยิ้ม)

• พอเราได้มาเรียนจริงๆ แล้ว รู้สึกยังไงบ้างครับ

มันก็มีการตีความเยอะอยู่เหมือนกัน อย่างในเรื่องของเสื้อผ้า mood & Tone เอาจริงๆ ละครเวทีมันเป็นเรื่องของทุกศาสตร์ทุกแขนงมารวมกัน ทั้งเรื่องหน้าผม การเขียนบท คือทุกอย่างมันมีความหมายของมันและการทำงานร่วมกัน มันเป็นผลดีที่ทำให้หนูได้ฝึกในการทำลักษณะนี้ เพราะการถ่ายหนังจริงๆ หนูเล่นเป็นเบื้องหน้า แต่มันก็ต้องทำการร่วมมือกับทุกฝ่าย มันก็มีการตีความ ซึ่งเป็นกระบวนการการทำงานที่คล้ายกัน แต่ต่างกันแค่ตัวผลงาน

อีกอย่างหนูก็พยายามดูคอสตูมในเรื่องนี้เหมือนกันนะว่าชุดแบบนี้จะตีความว่ายังไง เพราะว่ามันติดจากการเรียนไปพอสมควรแล้ว (หัวเราะ) แต่ขอชื่นชมทีมอาร์ตของเรื่องนี้ว่าเก่งมาก เพราะว่าพอเราได้เข้าไปในฉากต่างๆ ถือว่าเป็นกองที่ค่อนข้างนี้ ทำให้เราได้รู้เลยว่ากองถ่ายในแต่ละเรื่อง ค่าใช้จ่ายก็ต่างกัน ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ต้องชื่นชมทีมอาร์ตจริงๆ ค่ะ

• จากการทำงานนอกกระแสมาก่อน แล้วมาทำงานที่มันวงกว้างขึ้น โดยส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็นการเพิ่มทักษะในตัวเรามั้ย

อย่างที่บอกว่าแค่เม็ดเงินต่าง ทุกอย่างก็มีความต่างอย่างสิ้นเชิง อย่างเรื่อง BKKY ได้ร่วมงานกับ พี่เบิ้ล นนทวัฒน์ (นำเบญจพล) พี่เขาเป็นพวกกับสายชิลมาก แล้วพี่เขาเป็นผู้กำกับสายสารคดีมาก่อน แล้วเรื่องแรกที่หนูเล่นกับเขา เขาจะพยายามทำหนังแบบฟิคชั่น ตัวหนังก็เลยกลายเป็นความผสมผสานซึ่งกันและกัน ระหว่างสารคดีกับ Fiction ซึ่งเราก็ยังงงๆ ว่าเป็นหนักประเภทไหน เพราะว่ามันมีความผสมผสานกัน แล้วการถ่ายทำของ BKKY พี่เขาก็ให้เราเล่นไปเรื่อยๆ คิดยังไงก็เล่นไปตามนั้นเลย ตั้งกล้องทิ้งไว้ถ่ายแบบนานๆ แล้วก็มีการคัทแบบเบาๆ ทีมงานก็มีจำนวนแบบนับคนได้ อยู่กันแบบครอบครัว ไปแบบกองโจรแอบถ่าย มันจะมีความบ้านๆ ง่ายๆ กว่า แล้วตัวหนังในตอนแรกก็ไม่ได้มีแผนว่าจะเข้าฉายโรงด้วยซ้ำ ตาด้วยตัวหนังที่เดินทางไปได้รางวัลต่างๆ ทางค่ายก็เลยให้จับมาฉายในโรง แต่ก็อยู่ในโรงได้แค่อาทิตย์เดียวนะคะ เพราะว่ามันเป็นหนังเฉพาะกลุ่มจริง

แต่พอมาเป็นเรื่องนี้มาเต็มเลย กองถ่ายมาแบบมโหฬาร แค่ชื่อผู้กำกับ หนูก็ตื่นเต้นแล้ว อีกทั้งนักแสดงที่มาร่วมเล่นกับเรา ก็ทำให้เรารู้สึกกดดันนะ แล้วเราก็เป็นเด็กที่ไหนก็ไม่รู้ คือเราเคยเห็นพี่ๆ เขาในทีวีมาหมดแล้ว คือทุกคนมีผลงาน แต่ว่าเรามาถึงก็บทนำเต็มตัวเลย ซึ่งรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดี แต่ก็มันเหมือนดาบสองคมนะคะ คือถ้าทุกอย่างออกมาดี แต่ถ้าเราทำออกมาดีไม่ได้ก็กลับบ้านไป (หัวเราะ)

• โดยประสบการณ์ส่วนตัว เราเคยเจอเรื่องผีมั้ย

ถ้าเรื่องผีที่เจอบ่อย คงน่าจะเป็นเรื่องผีอำ แล้วประสบการณ์ที่จำได้ดีที่สุด คือ ตอนที่ไปถ่ายงานที่ต่างจังหวัด แถวเขาใหญ่ ภาพที่จำได้คือเป็นลักษณะกึ่งฝันกึ่งตื่นในห้องที่นอนอยู่ คือเวลาที่นอนที่บ้านจะไม่ได้เป็นบ่อย แต่เวลาไปนอกสถานที่ก็จะเจอเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งมันอาจจะคิดไปเองก็ได้นะคะ แต่ว่าเคสนี้มันเป็นภาพที่ฝันกับห้องที่นอนมันเป็นภาพเดียวกัน แล้วเวลาที่เราฝันเราก็จะแยกไม่ออกว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนเรื่องฝัน

ตอนที่ประสบนี่คือขยับตัวไม่ได้ แล้วเราก็เห็นเป็นผีในอุดมคติ ใส่ชุดขาว ผมยาว มีสองคน คนหนึ่งก็คอยจับขาหนูไว้ อีกคนหนึ่งยืนอยู่บนหัวนอนหนู แล้วตอนนั้นหนูนอนกับเพื่อนที่ไปถ่ายงานด้วยกันอีกคนหนึ่ง แล้วผีที่อยู่บนหัวนอนเขามาจูบหน้าผากหนู แล้วมากระซิบว่าไม่ต้องกลัวนะ แล้วอยู่ดีๆ นางก็ขึ้นมายืนอยู่บนตัวเพื่อน แล้วก็ก้มหัวมองมาที่เพื่อน เราก็ขยับตัวไม่ได้เลย และร้องไห้เป็นเวลาชั่วโมงเหมือนกันกว่าจะหลุดออกมา

• คิดว่าเราได้อะไรเพิ่มเติมจากการทำงานชิ้นนี้บ้างครับ

เอาจริงๆ หนังปิดกล้องไปเป็นเวลาปีกว่า จนกระทั่งมาถ่ายซ่อมเมื่อตอนมกราคมที่ผ่านมา แต่มีความรู้สึกว่าหลังจากที่ทำงานชิ้นนี้มาเป็นเวลาปีกว่า หนูจะมีความรู้สึกว่าผลงานจะได้ฉายในโรงภาพยนตร์แล้วนะ รู้สึกว่าเหมือนกันก็อยากให้ผลตอบรับออกมาเป็นที่น่าพอใจ (ยิ้ม) ตั้งแต่อ่านบทภาพยนตร์ จนกระทั่งได้มาเล่นเอง เรายังไม่แน่ใจว่าตัวหนังจะเป็นยังไง

แล้วพอได้มาดูทีเซอร์แล้วก็มีความรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาไหลเลย นึกไม่ถึงเหมือนกันค่ะว่าจะออกมาในทิศทางนี้ แล้วก็มีความรู้สึกกลัวจากทีเซอร์ อีกทั้งจังหวะในการตัดต่อก็มีส่วนเยอะเหมือนกัน เพราะว่าแนวนี้ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จับกระสือมาเป็นแนวไซไฟและออกแนวแฟนตาซีหน่อยๆ หนูคิดว่าน่าจะสร้างความสนใจให้กับคอหนัง ซึ่งตัวหนังที่ออกมาหวังว่าน่าจะมีการพูดถึงในคอหนังนะ หนูคิดว่ามันน่าจะมีข้อดีเสมอจากทั้งการติหรือการชม
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา


กำลังโหลดความคิดเห็น