มีตำนานมากมายที่บ่งบอกถึงดินแดนต่างๆ ในอดีตบนพื้นดินราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน บางส่วนก็มีการพิสูจน์ทางโบราณคดีบ้างแล้ว แต่บางแห่งก็ยังเป็นปริศนา 1 ในนั้นก็คือ "อาณาจักรโยนกเชียงแสน" หรือ "โยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น" แคว้นโบราณที่ครองอาณาเขตไม่ไกลจากแม่น้ำโขงนัก ใน จ.เชียงราย มีจุดศูนย์กลางการปกครองคือเมืองโยนกนาคพันธุ์ หรือ (นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร) ที่ว่ากันว่าก่อกำเนิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 และสิ้นเมืองจากเหตุน้ำท่วมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 จนกลายเป็น "เวียงหนองหล่ม" ในปัจจุบัน แต่ทว่าข้อมูลล่าสุดของนักธรณีวิทยาพบว่า พื้นที่แห่งนี้อาจมีอายุมากกว่า 1,800 ปีที่แล้ว
ตามตำนานหลายฉบับที่เอ่ยถึงอาณาจักรโยนกฯ ต่างเล่าคล้ายคลึงกันถึงการสร้างเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติ (หรือสิงหนติ) ที่อพยพมาสร้างเมืองในพื้นที่นี้ จนมีกษัตริย์ผู้ปกครองต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 45 พระองค์ เคยถูกพวกขอมบุกยึดเมืองช่วงหนึ่งในสมัยพระเจ้าพังคราช แต่พระเจ้าพรหม พระราชโอรสก็นำทัพไปยึดคืนมาได้ จนถึงยุคของพระองค์มหาไชยชนะเวียงก็ล่มสลาย เนื่องจากมีชาวบ้านไปจับปลาไหลเผือกในแม่น้ำกกไปถวายกษัตริย์แล้วพระองค์ทรงรับสั่งทำเป็นอาหารพระราชทานให้ชาวบ้านแบ่งกินกัน จึงเกิดอาเพศเมืองยุบหายกลายเป็นหนองน้ำ แต่มีเพียงแม่ม้าย 1 คนที่ไม่ได้กินเมนูนี้รอดตาย บ้านไม่ถูกยุบ
เรื่องนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน? กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงพาคณะสื่อมวลชนและ ผู้จัดการออนไลน์ ลงพื้นที่ไปร่วมศึกษา 1 ในข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงถึงการล่มสลายได้ ก็คือเรื่องการขยับตัวของรอยเลื่อนแม่จัน 1 ในกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในไทย แล้วมันเกี่ยวข้องกันอย่างไรล่ะ?
คณะของกรมทรัพยากรธรณี ได้พาเราไปยังด้านหลังของโรงผลิตน้ำดื่มปลาทอง บ้านโป่งป่าแขม ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บน "รอยเลื่อนแม่จัน" พอดิบพอดี ที่เป็นแปลงนาเป็นขั้นๆ ลึกเข้าไปเป็นเนินเขาลูกเล็กๆ โดย นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้อธิบายว่า กลุ่มรอยเลื่อนแม่จันนี้ เป็นรอยเลื่อนมีพลัง ก็คือพื้นที่ที่ไม่หยุดนิ่งและมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ ซึ่งมีความยาวจาก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ราว 150 กม.จนเลยเข้าไปในฝั่งประเทศลาวและก็เคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 6.3 ที่ลาวมาแล้วเมื่อปี 50 จนทำให้บ้านเรือน วัดในละแวก อ.เชียงของ จ.เชียงราย เสียหาย
นายสุวิทย์ ชี้ไปที่ช่องแคบระหว่างเนินเขา 2 ลูก ก่อนอธิบายต่อว่า ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงแนวรอยเลื่อนได้อย่างชัดเจน และหากเกิดแผ่นดินไหวก็จะมีการฉีกขาดของพื้นดินในบริเวณดังกล่าว ขณะที่เนินเขาทั้ง 2 มีระยะห่างราว 110 เมตร แสดงให้เห็นว่าในบริเวณรอยเลื่อนนี้มีการเคลื่อนตัวรวมกันหลายครั้งตั้งแต่ยังไม่มีชุมชนเกิดขึ้น และเมื่อเราขุดสำรวจในบริเวณนี้ก็ได้พบกับร่องรอยการฉีกขาดของแผ่นดินในชั้นดิน แล้วก็พบหลักฐานว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 6.8 เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวนั้น ถ้าอยู่ในระดับ 6 ก็มีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาทิ้งลงที่ จ.ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถ้าเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 ก็มีความรุนแรงเท่ากับระเบิดปรมาณู 32 ลูก ส่วนแผ่นดินไหวจะเกิดอีกเมื่อไหร่ไม่มีใครสามารถทราบได้ล่วงหน้า แต่ช่วงเวลาของการเกิดแผ่นดินไหวแบบรุนแรงในรอยเลื่อนนี้นั้นอยู่ที่ราว 1,500 ปี แต่ความรุนแรงสูงสุดในบ้านเราน่าจะอยู่ที่ไม่เกินระดับ 7 เพราะไม่ได้อยู่ใกล้กับตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก
จากนั้นคณะจึงได้พาพวกเราไปยังวัดป่าหมากหน่อ ต.จันจว้า อ.แม่จัน เพื่อเยี่ยมชม เวียงหนองหล่ม จุดที่ว่ากันว่าเคยเป็นเมืองโยนกในตำนาน โดยมีผู้นำชุมชนมาเล่าเรื่องราวของตำนานให้ฟัง ซึ่งเมืองในอดีตปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 11,068 ไร่ (ตามข้อมูลปี 53) อยู่ในเขตของ ต.จันจว้า และ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ ต.โยนก อ.เชียงแสน เป็นแหล่งของพันธุ์ปลา พืช นกถิ่น และนกอพยพ ส่วนที่ตั้งของวัดนั้นเรียกว่าเกาะแม่ม่าย เพราะเชื่อว่าอยู่บนที่ดินของบ้านแม่ม่ายที่รอดจากเหตุการณ์เวียงล่ม
ผู้อำนวยการส่วนธรณีพิบัติภัยฯ ได้อธิบายว่า หินบริเวณโดยรอบเวียงหนองหล่ม ไม่ใช่หินปูน แต่เป็นหินอัคนี ในสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังเป็นหย่อมๆ หน้าฝนน้ำจะเยอะ หน้าแล้งบางจุดก็จะแห้งสามารถขับรถโฟร์วีลเข้าไปได้ โดยในจุดดังกล่าวพบว่ามีเศษอิฐ ถ้วยชามต่างๆ กระจัดกระจายเต็มไปหมด ในนี้มีฐานเจดีย์ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีเจดีย์อีกเยอะมาก แต่องค์เจดีย์ไม่เหลือแล้ว เหลือแต่ฐานที่มีร่องรอยของการขุดหาบางสิ่ง ซึ่งตนได้เก็บอิฐไปทำการศึกษาพบมีอายุ 1,800 ปี ซึ่งตนเชื่อว่า บริเวณนี้เป็นเมืองใหญ่ น้องๆ สุโขทัยน่าจะได้ เพราะว่าลุ่มแม่น้ำโขงเรามีชุมชนอยู่หลายชุมชน ขณะที่เรามีหลักฐานแผ่นดินไหวใหญ่ของรอยเลื่อนแม่จันเมื่อราว 1,500 ปีที่แล้ว ซึ่งรอยเลื่อนนี้ผ่านมาทางทิศใต้ของหนอง และในหลักการถ้าเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 หรือใหญ่กว่าได้ มันสามารถทำให้พื้นดินเกิดการยุบตัวลงและยกตัวขึ้นได้ แต่ยังคงต้องมีการพิสูจน์เพิ่มเติม
แสดงว่าเมืองนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 1,800 ปี หรือ? ผู้อำนวยการส่วนธรณีพิบัติภัยฯ ตั้งข้อสังเกตว่า อย่างเมืองพิษณุโลก ถ้าเราขุดลึกลงไปเราจะพบการซ้อนทับของอิฐอยู่หลายระดับ อันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องศึกษากันให้ละเอียดมากขึ้นเราจะรู้ว่าตำนานในพื้นที่นี้มันมีหลายยุค หลายสมัย ที่ซ้อนทับกันเรื่อยๆ
"ถ้าถามใจผม ผมอยากพัฒนาเนรมิตที่ตรงนี้ให้กลายเป็นเมืองๆ นึงขึ้นมา กว๊านพะเยา มีแค่วัดวัดเดียวอยู่ในน้ำ ยังสามารถสร้างเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวไปได้ทุกปี แล้วอันนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่กว๊านพะเยา เป็นเมืองใหญ่มาก ผมเชื่อว่าเป็นราชธานีที่ใหญ่มาก เราสามารถเนรมิตสามมิติขึ้นมาให้เป็นเมืองการท่องเที่ยวชั้น 1 เลย"
ด้าน นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ที่มาเวียงหนองหล่ม ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่ามีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากว่าในประเทศไทยข้อมูลในเรื่องของการบันทึกทางประวัติศาสตร์มันค่อนข้างมีน้อย เราก็เลยต้องศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และทางประวัติศาสตร์มาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นแนวทางที่สามารถนำไปศึกษาต่อไปได้ ส่วนอิฐก็เป็นครั้งแรกที่เราหาอายุของอิฐได้ 1,800 ปีก็จะต้องใช้เวลาอีกนิดนึงในการที่จะเทียบเคียงให้ชัดเจนและหาอะไรเพิ่มเติม ในส่วนของแผ่นดินไหวอาจทำให้เกิดการปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งจากหลักฐานที่เราได้น่าจะแสดงให้เห็นถึงผู้คนที่อาศัยอยู่และอะไรที่ทำให้ปัจจุบันไม่มีใครอาศัยอยู่เลย
"เราเคยขุดค้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คาดว่าเราอาจจะหาหลักฐานเพิ่มเติมด้วยก็คงใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ปี ซึ่งเราก็มีการแลกเปลี่ยนกับทางกรมศิลปากรอยู่พอสมควร ข้อมูลใหม่ที่พบนี่ก็ต้องส่งไปให้ทางกรมฯ ให้มาพิสูจน์"
ส่วนการพัฒนาเวียงหนองหล่มนั้น รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี บอกว่า จริงๆ ก็มีหลายหน่วยที่เข้ามาพัฒนา ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจเพราะมันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และสามารถโยงไปถึงเรื่องของพื้นที่ชุ่มน้ำ ตนเคยทราบมาว่าที่ญี่ปุ่นเคยได้นำเรื่องรอยเลื่อนไปพัฒนาเป็นอุทยานธรณีโลกได้ ตรงนี้ก็น่าสนใจ ถ้าหากจะเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน กับเวียงหนองหล่มก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เพิ่งมีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเวียงหนองหล่ม โดยให้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ขณะที่ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งของพื้นที่ก็คือการรุกล้ำครอบครองที่ดินเพื่อใช้ทำกินของชาวบ้าน ที่ยังคงไม่สามารถแก้ไข
ส่วนการที่ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้ทราบถึงอายุของอิฐฐานเจดีย์ที่มีมากว่า 1,800 ปีซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่สุดของการมีอยู่ของเมืองนี้นั้น ก็ได้แต่หวังว่าจะกระตุ้นให้ภาครัฐจริงจังในการเข้ามาศึกษา ขุดค้นทางโบราณคดีหาคำตอบเพื่อพิสูจน์ตำนาน ซึ่งอาจจะค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่เพื่อยืนยันความเป็นอาณาจักรโยนกฯ จนกลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และยังเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดมากขึ้นก็เป็นได้