xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 มี.ค.2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.ศาลพิพากษาจำคุก “เปรมชัย” 16 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ยกฟ้องข้อหาล่าเสือดำ ด้านโลกโซเชียลกระหน่ำ “เสือดำตายฟรี”!
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และซากเสือดำที่ถูกฆ่า-ชำแหละ
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาคดีฆ่าเสือดำ ที่อัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน ใน 6 ข้อหา หลังทั้ง 4 คนถูกนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ นำกำลังเข้าจับกุมขณะทั้งหมดลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ พร้อมยึดของกลางเป็นซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง รวมทั้งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4-6 ก.พ.2561

ทั้งนี้ ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตัดสินลงโทษจำคุกนายเปรมชัย เป็นเวลา 16 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ประกอบด้วย ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน, เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน, ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ส่วนข้อหาร่วมกันเก็บของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ศาลยกฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ ศาลตัดสินจำคุก 13 เดือน ไม่รอลงอาญา ประกอบด้วย ข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน, ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง

สำหรับจำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน ศาลตัดสินจำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้ นางนทีถูกลงโทษข้อหาเดียว คือ ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 17 เดือน ไม่รอลงอาญา โดยนายธานีเป็นคนเดียวที่ถูกลงโทษทั้ง 6 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน, ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน, ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน, ข้อหาพยายามล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 4 เดือน, ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 1 ปี, ข้อหาเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 1 ปี

สำหรับค่าเสียหายทางแพ่ง ศาลสั่งให้นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 และนายธานี จำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่ผู้ร้องคือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2561 จนกว่าจะชำระเสร็จ

หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวเปรมชัย จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 และ 4 ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตทั้งสามประกันตัว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยตีราคาประกันนายเปรมชัยและจำเลยที่ 2 คนละ 4 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 4 จำนวน 5 แสนบาท

ด้านนายเปรมชัย ก่อนเดินทางกลับ ได้ถูกผู้สื่อข่าวถามว่า มีอะไรจะพูดหรือไม่ ซึ่งนายเปรมชัยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ผมขอโทษครับ”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายของนายเปรมชัยว่า ทำไมนายเปรมชัยไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) นายกิจจากล่าวว่า อยู่ที่ดุลพินิจของศาล พร้อมยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีนี้แน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ศาลยกฟ้องนายเปรมชัยข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ทำให้กระแสในโลกโซเชียลมีการสะท้อนความรู้สึกกันอย่างกว้างขวางว่า คดีนี้ “เสือดำตายฟรี” และต่างจับจ้องว่า อัยการจะอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่

ซึ่งนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยขั้นตอนหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วว่า สำนวนและคำพิพากษาทั้งหมดจะถูกส่งไปให้อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ซึ่งจะมีทีมงานของอัยการศาลสูงภาค 7 พิจารณารายละเอียดคดีทั้งหมดอีกครั้งว่า การที่ศาลตัดสินเช่นนี้ อัยการศาลสูงภาค 7 จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร ถ้าเห็นด้วยกับผลคำพิพากษาดังกล่าว ก็จะไม่ยื่นอุทธรณ์ หากเห็นต่าง ก็ต้องสรุประเด็นที่เห็นต่าง เพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การอุทธรณ์ต้องยื่นภายใน 30 วัน ถ้าไม่ทันสามารถขยายเวลาได้ และว่า หากมีการอุทธรณ์ จะอุทธรณ์ประเด็นที่ศาลไม่ได้เห็นตามที่ส่งฟ้องนายเปรมชัยในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่า “กรณีนี้เทียบกับกรณีเปรี้ยวหั่นศพ ที่สืบจากนิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แม้ไม่มีประจักษ์พยาน แต่ก็สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ขอให้เชื่อในกฎหมาย ยืนยันว่า เสือดำและไก่ฟ้าจะไม่ตายฟรีแน่นอน”

ด้านนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ ได้หารือร่วมกันแล้วว่า จะอุทธรณ์คดีนี้ และจะขอปรึกษาอัยการถึงแนวทางการต่อสู้ต่อไปจนถึงชั้นฎีกา

2.กกต.มีมติเอกฉันท์ “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้าน “ธนาธร” ส่อวุ่นปมโอนหุ้นธุรกิจสื่อให้แม่!
(ซ้าย) เอกสารที่นายธนาธร นำมายืนยันว่าโอนหุ้นธุรกิจสื่อให้แม่วันที่ 8 ม.ค.62 (ขวา) เอกสารที่สำนักข่าวอิศรานำมายืนยันว่านายธนาธรโอนหุ้นให้แม่วันที่ 21 มี.ค.62
สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค. ปรากฏว่า มีประชาชนออกไปใช้สิทธิกันอย่างคึกคัก ซึ่งวันต่อมา 18 มี.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้แถลงภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าว่า มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิจำนวน 2.6 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 86.98% และมีหลายแห่งใช้สิทธิเกินกว่า 90% และว่า จากรายงาน พบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย 3 กรณี ประกอบด้วย 1.อาจมีการกระทำทุจริตใน 3 จังหวัด คือ จ.สมุทรสาคร ที่มีผู้แอบนำบัตรเลือกตั้งทั้งเล่มไปทำเครื่องหมายให้กับผู้สมัครพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบและนำบัตรเล่มนั้นไปเจาะทำลาย และนำบัตรเลือกตั้งเล่มใหม่ส่งไปทดแทน พร้อมแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำผิด

นอกจากนี้ที่ จ.อุทัยธานี มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปแสดงตนขอใช้สิทธิลงคะแนน ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้วเช่นกัน ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 มีการทำเอกสารปลอมโดยอ้างว่า ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตประกาศไม่รับสมัครผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งที่ในพื้นที่พบว่า ยังมีป้ายหาเสียงอยู่ จึงได้แนะนำให้ผู้สมัครไปแจ้งความไว้

กรณีที่ 2 เจ้าหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งพบในหลายจังหวัด โดยถ้าพบหรือทักท้วงก่อนการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขด้วยการแจกบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้องให้ผู้ใช้สิทธิ แต่หากลงคะแนนและนำบัตรใส่หีบบัตรเลือกตั้งแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้ให้เจ้าหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ ส่วนกรณีที่ผู้มีสิทธิได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ไม่พบข้อมูลที่หน่วยเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบหลักฐานพบว่ามีการลงทะเบียนจริง กรรมการประจำหน่วยก็จะเพิ่มชื่อให้ผู้มีสิทธิได้ใช้สิทธิ

และกรณีที่ 3 แอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวตไม่สามารถใช้งานได้ช่วงเวลา 08.30 น. และได้ปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์เป็นเวลา 15 นาที จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ นายอิทธิพรย้ำด้วยว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะซักซ้อมเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.

สำหรับความคืบหน้าเรื่องสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีผู้ร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบว่า เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบและมีความเห็นแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแต่อย่างใด ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. กกต.ก็ได้ประชุมพิจารณากรณีนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ขอให้ กกต.ทบทวนและเพิกถอนการประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรค พปชร. โดยหลังพิจารณา กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ว่า การประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรค พปชร.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ 89 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 13 และ 14

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ว่า ได้ทำการตรวจสอบพบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้มีการโอนหุ้น บ.วี-ลัค มีเดีย ผู้ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสาร ที่ตนเองและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ถืออยู่ รวมกัน 900,000 หุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ ณ วันที่ 30 เม.ย.2561 นายธนาธร ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น (15%) นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ถือ 225,000 หุ้น (5%)

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้โชว์เอกสารหลายแผ่น พร้อมระบุที่มาของเอกสารว่าจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยืนยันการโอนหุ้นของนายธนาธรและภรรยาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562

ด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ชี้ว่า ถ้าข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอเป็นเรื่องจริง นายธนาธรจะต้องขาดคุณสมบัติการป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 ระบุชัด ผู้สมัคร ส.ส. ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และหากนายธนาธรรู้อยู่แล้วว่า ตนเองไม่มีสิทธิหรือขาดคุณสมบัติ แล้วยังลงสมัครหรือยินยอมให้พรรคเสนอชื่อเพื่อสมัคร ส.ส. ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกําหนด 20 ปี

หลังข่าวดังกล่าวผ่านไป 1 วัน มีรายงานว่า นายธนาธรได้หารือกับแกนนำพรรคและทีมกฎหมาย ก่อนที่นายธนาธรจะโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อประมาณ 17.00 น.วันนี้ (23 มี.ค.) ก่อนหน้าจะหมดเวลาหาเสียงในเวลา 18.00 น.ตามกฎหมายเลือกตั้ง โดยโพสต์ภาพเอกสารใบโอนหุ้น และยืนยันว่า ตนได้โอนหุ้นบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ 1 เดือนก่อนลงสมัคร ซึ่งในเอกสารระบุวันที่ 8 ม.ค.2562

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. สำนักข่าวอิศราได้ขึ้นข่าวพร้อมเอกสารเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า นายธนาธรและภรรยาถือหุ้นรวม 900,000 หุ้น ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2558 กระทั่งมีการจดทะเบียนถอนหุ้นออกเมื่อ 21 มี.ค.2562 หลังรับสมัครเลือกตั้ง เมื่อ 4 ก.พ.2562 และเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 จำนวน 3 วัน

ทั้งนี้ ต้องลุ้นว่า หลังจากนี้ กกต.จะมีการตรวจสอบเรื่องการโอนหุ้นบริษัทธุรกิจสื่อของนายธนาธรให้แม่หรือไม่

3.“ธาริต” นอนคุกยาว ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกอีก 1 ปี ฐานใช้อำนาจกลั่นแกล้งโยกย้าย “พ.อ.ปิยะวัฒน์” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย!
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตรักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157,83

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-8 ต.ค. 2555 ต่อเนื่องกัน นายธาริต จำเลยที่ 1 และนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการทำหนังสือโยกย้ายโจทก์ ซึ่งขณะนั้นเป็น ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ดีเอสไอ ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดี ซึ่งมีระดับต่ำกว่าตำแหน่งเดิม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งคดีนี้ ตอนแรก ศาลชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่า คดีไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง แต่ภายหลังโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง ซึ่งต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายธาริต จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี ฐานทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และให้ยกฟ้องนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ พิพากษาเเก้ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี เเต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 2 รับราชการมาหลายปี เคยทำคุณงามความดีต่อบ้านเมือง ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี หลังจากนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายธาริตจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เดินทางมาฟังคำพิพากษา ซึ่งนายธาริตอยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างโรงพัก 396 เเห่ง

ด้านศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์เเละจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกา ฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2555 นายธาริต จำเลยที่ 1 ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ขอให้ย้ายโจทก์กับข้าราชการอื่นอีก 4 คน โดยขอให้ย้ายโจทก์จากตำเเหน่ง ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ไปดำรงตำเเหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์จึงยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) จน ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2555 ว่า การย้ายโจทก์เป็นการย้ายที่ดำรงตำเเหน่งต่ำกว่าเดิม เเละไม่ใช่การย้ายประจำปี

ส่วนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัย ถูกตั้งกรรมการสอบ เเละส่งเรื่องไปยัง ปปช. ศาฎีกาเห็นว่า หาได้เป็นเหตุให้คู่กรณีมีอำนาจย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำเเหน่งที่ต่ำกว่าเดิมโดยไม่ยินยอม และยังถือไม่ได้ว่า โจทก์อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา คำสั่งย้ายโจทก์ของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้รับทราบคำสั่ง จึงมีคำสั่งยกเลิกการย้ายโจทก์

ทั้งนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของนายธาริต จำเลยที่ 1 ว่ากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องเเก้ไขคำให้การ จากปฏิเสธเป็นรับสารภาพนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 มิอาจกระทำได้ เพราะการเเก้ไขคำให้การ ต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาตาม ป.วิอาญา มาตรา 163 วรรคสอง อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าว ถือว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ากระทำผิดตามฟ้อง ที่นายธาริต จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า นายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมจะเดินทางไปราชการ ได้มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 เเจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการขอย้ายข้าราชการ ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำหนังสือชี้เเจงเหตุผลประกอบการพิจารณาวันที่ 20 เม.ย.2555 จำเลยที่ 2 ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ลงนามคำสั่งย้ายโจทก์ ซึ่งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่อาวุโสลำดับ 1 เเต่มิได้รับผิดชอบดูเเลงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง เพราะมีนางสุรีย์ประภา ตรัยเวช รองปลัดกระทรวงอีกคนดูเเล ดังนั้นเมื่อปลัดกระทรวงยุติธรรมไม่อยู่เเละไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รักษาการณ์เเทน การที่จำเลยที่ 2 ได้ลงนามในคำสั่งย้ายนั้น เป็นคำสั่งย้ายโจทก์กับข้าราชการอื่นอีก 4 ราย มิใช่เป็นการย้ายโจทก์คนเดียว โดยก่อนลงนามได้มีการเรียก น.ส.ฉวีวรรณ เเสนทวี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญงานพิเศษ รักษาการเเทน ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหนังสือขอย้ายเข้าไปสอบถาม เเละได้รับการชี้เเจงยืนยันว่า สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ ซึ่ง น.ส.ฉวีวรรณก็ได้มาเบิกความต่อศาลทำนองเดียวกัน เเสดงให้เห็นว่า นายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังในการลงนามคำสั่งย้ายดังกล่าวเเล้ว

อีกทั้งไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 2 ทราบปัญหาเเละความขัดเเย้งระหว่างโจทก์กับนายธาริต จำเลยที่ 1 ภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่เเสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับนายธาริต จำเลยที่ 1 เพื่อออกคำสั่งย้ายโจทก์ในช่วงที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เเละไม่ปรากฎว่า โจทก์กับนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันถึงขนาดที่จำเลยที่ 2 ต้องกลั่นเเกล้งโจทก์ พฤติการณ์จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับนายธาริต จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟังได้ว่า นายชาญเชาว์ จำเลย 2 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าควรรอการลงโทษจำคุกนายธาริต จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลเห็นว่า เเม้การออกคำสั่งย้ายข้าราชการจะเป็นเรื่องภายในหน่วยราชการ เเละเป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามกฎหมายกำหนด เเต่การใช้ดุลพินิจต้องเป็นไปตามหลักการที่กำหนดโดยกฎหมาย เเละระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องยึดเหตุผลเเละความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของราชการเเละพัฒนาข้าราชการเป็นหลัก การใช้อำนาจต้องไม่เป็นไปตามอำเภอใจหรือมีลักษณะกลั่นเเกล้ง ลำเอียงเเละมีอคติ เพราะนอกจากไม่เป็นประโยชน์เเก่ทางราชการเเล้ว ยังอาจก่อเกิดความเสียหายเเก่ข้าราชการนั้นๆ ได้

การที่นายธาริต จำเลยที่ 1 เสนอขอย้ายโจทก์ด้วยสาเหตุความเห็นขัดเเย้งกันในเรื่องสำนวนคดี โดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายเเละระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเสนอย้ายโจทก์ไปดำรงตำเเหน่งที่ต่ำกว่าตำเเหน่งเดิม เห็นได้ว่าเป็นการใช้อำนาจไปในทางกลั่นเเกล้งโจทก์ด้วยสาเหตุส่วนตัวมากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ พฤติการณ์เเห่งคดีนับว่า เป็นเรื่องร้ายเเรงเเละไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทศจำคุกนายธาริต จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เเต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกนายธาริต จำเลยที่ 1 มีกำหนดโทษ 2 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมเเก่พฤติการณ์เเห่งการกระทำผิด จึงพิพากษาเเก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกนายธาริต จำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ เเละให้ยกฟ้องนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 นอกจากที่เเก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

4.อัยการยัน ไม่เคยขอฮ่องกงส่งตัว “ทักษิณ” ผู้ร้ายข้ามแดน ด้าน “ทักษิณ” ร่วมงานแต่ง “อุ๊งอิ๊ง” ที่ฮ่องกง “ทูลกระหม่อม” เสด็จร่วมงานด้วย!
งานฉลองงานแต่งงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่โรงแรมโรสวู้ด ฮ่องกง
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ เผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า อัยการไทยได้มีหนังสือถึงทางการฮ่องกง ขอให้ติดตามจับกุมตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับมารับโทษในประเทศไทย ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีหมายจับไว้แล้ว โดยยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ทางอัยการยังไม่เคยยื่นเอกสารคำร้องใดๆไปถึงทางการฮ่องกง เพื่อขอให้ควบคุมตัวนายทักษิณและส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาประเทศไทยแต่อย่างใด

นายชัชชม ย้ำด้วยว่า “ในทางปฏิบัติ ตามขั้นตอนของการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน จุดเริ่มต้นพนักงานสอบสวนจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องเกี่ยวกับสถานที่พัก ที่อาศัยของบุคคลนั้นๆ รวบรวมส่งมาให้อัยการเพื่อพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนการทำเอกสารเพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นทางการ ส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยื่นไปยังทางการฮ่องกง”

ทั้้งนี้ นายชัชชมเผยว่า ทางการฮ่องกงกับรัฐบาลไทย ยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน แต่เราสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ผ่านวิธีทางการทูตในลักษณะต่างตอบกันแทน หากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการเดินทางเข้าไปพักอาศัยที่ฮ่องกง โดยการร้องขอแบบไม่มีสนธิสัญญาจะมีขั้นตอนเพิ่มมากกว่าขั้นตอนปฏิบัติตามสนธิสัญญาอยู่บ้าง แต่ก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้เรายังไม่ได้ข้อมูลหลักฐานใดๆ จากพนักงานสอบสวน ก็คงทำอะไรไม่ได้ และยังไม่มีการยื่นเอกสารอะไรไปยังทางการฮ่องกงทั้งสิ้น

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. นายทักษิณได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมอวยพรการแต่งงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็ก กับนายปิฎก สุขสวัสดิ์ ซึ่งนายทักษิณระบุด้วยว่า จะเดินทางไปร่วมงานที่เขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง ในวันที่ 22 มี.ค. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ก็ปรากฏภาพนายทักษิณและลูกๆ ทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตาที่งานแต่งงานของ น.ส.แพทองธาร ที่โรงแรมโรสวู้ด ฮ่องกง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จไปร่วมงานฉลองการแต่งงานของ น.ส.แพทองธาร ด้วย

5.ปปง. อายัดทรัพย์สิน “วัฒนา เมืองสุข” 51 ล้าน คดีทุจริตเรียกรับสินบนโครงการบ้านเอื้ออาทร!
นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. เว็บไซต์สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ลงวันที่ 28 ก.พ. 62 เรื่อง อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราว กรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์ทุจริต เรียกรับสินบนโครงการบ้านเอื้ออาทร อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ซึ่งผู้ร้องเรียนแจ้งว่า นายวัฒนาจะหาบริษัทหรือบุคคลมารับทำโครงการบ้านเอื้ออาทร และส่งเรื่องให้การเคหะแห่งชาติรออนุมัติ โดยมีข้อแม้ว่า ผู้ร่วมโครงการจะต้องจ่ายค่าตอบแทนยูนิตละ 10,000 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ไต่สวนนายวัฒนา กับพวกรวม 20 รายว่า มีพฤติการณ์ทุจริตเรียกรับสินบนในโครงการบ้านเอื้ออาทรหรือไม่ ต่อมา คตส.ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญานายวัฒนา กับพวก 8 ราย ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หลังจากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนและชี้มูลความผิดทางอาญาบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม 11 ราย

จากการรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว ปปง.เห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายวัฒนา กับพวก เป็นผู้มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายวัฒนากับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว

คณะกรรมการ ปปง.จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินนายวัฒนา เป็นที่ดิน 13 แปลง ในพื้นที่เขตลาดพร้าวและเขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในชื่อ นางสุดา คุณจักร รวมราคาประเมิน 51,532,950 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่ 12 ก.พ. 62 - 12 พ.ค. 62 หากผู้ถูกอายัดทรัพย์สิน และผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ประสงค์จะขอเพิกถอนคำสั่งอายัด สามารถยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง. พร้อมหลักฐานที่แสดงว่าทรัพย์สินที่ถูกอายัด ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ที่รับแจ้งคำสั่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น