xs
xsm
sm
md
lg

คุณครูที่โลกรัก! “ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ” จากเด็กยากจน ไม่มีเงินเรียน สู่ ผอ.หัวใจเพชร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นกว่าที่จะมาเป็น “ครู ได้อย่างทุกวันนี้ ต้องเรียกได้ว่าเส้นทางชีวิตของเธอคนนี้ไม่ได้สวยงามโรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าไรนัก เนื่องจากต้นทุนชีวิตติดลบ เพราะฐานะทางบ้านยากจน ทำให้ต้องขวนขวายดิ้นรนฝ่าฟันอุปสรรค จนกระทั่งความเพียรพยายามก็เอาชนะความจนได้สำเร็จ เพราะวันนี้เธอได้มาทำหน้าที่ครูอย่างที่ตั้งใจไว้

รากำลังพูดถึง ครูขวัญ-ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลม ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

จริงๆ ตอนเด็กๆ เรียนไปตามประสา ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมาก แต่ถามว่าชอบอาชีพครูไหม ตอบเลยค่ะว่า ‘ชอบ’ เพราะชอบครูที่มาสอน ครูสมัยประถมใจดี เอาใจใส่เด็กๆ แต่ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะได้เป็นครูนะคะ เพราะคิดว่าต้องเรียนสูงๆ เราคงไม่มีโอกาส เนื่องจากครอบครัวยากจน เรื่องเรียนต่อจึงค่อนข้างยาก แต่โชคดีพอจบ ป.6 ก็มีคุณครูโรงเรียนมัธยมมาแนะแนว และบอกว่าเราเรียนดีจะให้เรียนฟรี ไม่เก็บค่าเทอม ซึ่งสมัยนั้นค่าเทอม เทอมละ 260 บาทค่ะ

ด้วยความโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 8 กิโลเมตร ต้องไปกลับวันละ 16 กิโลเมตร และเป็นถนนลูกรัง เราก็ต้องเดินไป ถามว่าตอนที่เดินสมัยนั้นรู้สึกลำบากไหม ก็ไม่ได้รู้สึกว่าลำบากนะ นาฬิกาก็ไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่มี ฟังเสียงไก่ขัน จุดตะเกียงส่องอาบน้ำ หุงข้าวทำกับข้าวใช้ไม้ฟืน ก็ไปตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อนหลายคนเขาไม่ไหวก็เลิกเรียนไป ก็ไม่คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้ได้เรียนหนังสือ


จำได้ดีว่าตอนพาพ่อไปพบครู พ่อใส่กางเกงขาสั้นสีดำที่เป็นกางเกงขายาวตัดขาออกกลายเป็นขาสั้น เย็บริมขอบขากางเกงด้วยด้ายสีขาว โดยเย็บมือง่ายๆ เห็นเส้นด้ายชัดเจน นาทีนั้นมองตามหลังพ่อแล้วสงสารมาก ว่าการที่เราเรียนนี่พ่อต้องลำบากขนาดนี้เลยเหรอ ดังนั้นเราจะต้องหางาน ทำงานหาเลี้ยงพ่อกับแม่ให้ได้

ตั้งแต่นั้นมาก็เลยทำงานรับจ้างมาตั้งแต่เด็กๆ ใครจ้างอะไรที่ทำได้ก็ทำ รับจ้างเก็บข้าว ใช้แกะเก็บ จับคู่กับน้าๆ ป้าๆ แถวบ้าน ผู้ใหญ่เขาจะมัดเป็นเลียง เราเก็บได้ช้ากว่าเขาก็จะแบ่ง 60-40 เช่น ถ้าได้ 100 บาท เขาก็เอา 60 บาท แบ่งให้เรา 40 ตอนนั้นเขาจะจ้าง 100 เลียงต่อ 50 บาท นอกจากนี้ใครจ้างก็จะไปหมด เสาร์-อาทิตย์ ปิดเทอมก็ไป

พอจบ ม.3 ก็มาเรียนต่อโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ก็ต้องเดินอีกแต่ใกล้ขึ้น ที่นี่เดินเท้าวันละ 6 กิโลเมตร เพื่อไปขึ้นรถเมล์ กว่าจะมาสักคัน 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนเรื่องค้างค่าเทอมก็ยังปฏิบัติเป็นปกติ มาจ่ายตอนจบทีเดียวเลย 3,000 บาท (เทอมละ 500 บาท) กระทั่งเรียนสายวิทย์-คณิต จนจบ ม.6

พอจะจบ ม.6 ก็ไม่คิดจะเรียนต่อแล้ว คิดว่าจะออกไปหางานทำ เพราะสงสารพ่อกับแม่ คงส่งไม่ไหว พอดีตอนนั้นมีโครงการคุรุทายาทของ มศว สงขลา เปิดรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะเป็นครูโดยตรง โดยกำหนดเกรดเฉลี่ย มีคุณสมบัติครบนะแต่ไม่มีเงินซื้อใบสมัครอีก แต่เราเป็นคนโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ มักจะพบเพื่อนดี ครูดี รุ่นพี่ดี แวดล้อมไปด้วยคนดีๆ ตลอด จำได้ว่าเพื่อนคนหนึ่งซื้อใบสมัครให้เพื่อจะได้ไปสอบพร้อมกัน ก็สอบได้ แต่ไม่กล้าบอกแม่ จนมหาวิทยาลัยส่งหนังสือให้ไปรายงานตัว ถึงได้บอก ญาติๆ ก็ร่วมกันสมทบทุน ทั้งของใช้ ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ฯลฯ ให้


บรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านบางสิบบาท อ.ปากพนัง (ตอนนี้ยุบเลิกไปแล้ว) ที่นั่นก็เส้นทางไปโรงเรียนโหดมากเลยค่ะ เป็นถนนดินเหนียวอยู่เลย เรื่องมอเตอร์ไซค์ล้มจมขี้โคลนนี่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ประทับใจนะ เด็กๆ น่ารัก พี่น้องชาวบ้านดีกับครูมากๆ ทุกคนมีน้ำใจมากเลย

หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดทองพูน อ.เชียรใหญ่ สอนเด็กๆ ที่โรงเรียนวัดทองพูนอยู่ 13 ปี และคิดว่าน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนสายงานแล้ว ปัจจุบันจึงได้บรรจุในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลมค่ะ


ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลม
.นครศรีธรรมราช

เดิมทีครูเป็นคนตำบลเขาพระบาท อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้เป็นครูอยู่โรงเรียนบ้านบางสิบบาทมา 4 ปี และได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดทองพูน อ.เชียรใหญ่ สอนเด็กๆ ที่โรงเรียนวัดทองพูน 13 ปี และคิดว่าน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนสายงาน เพราะการเป็นผู้บริหารน่าจะทำให้เรามีโอกาสพัฒนาการจัดการศึกษาได้มากขึ้น อีกอย่างคือคิดว่าเป็นผู้บริหารเราก็ยังสอนเด็กๆ ได้ บริหารได้ ก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษา จบแล้วก็มาสอบเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ส่วนที่เลือกโรงเรียนบ้านปากบางกลมนี่เพราะไม่ไกลจากบ้านมาก สามารถไปกลับได้ เหตุผลอื่นนี่ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะคิดว่าอยู่ที่ไหนเราก็ต้องทำงาน ต้องพัฒนาให้เต็มที่

ปีนี้อยู่ที่โรงเรียนนี้มาเป็นปีที่ 6 เพราะทีมงานทีมครูทำงานเข้ากันได้ดี ชุมชน ชาวบ้านมีน้ำใจและให้ความร่วมมือดีมาก และเราก็สามารถที่จะช่วยเหลือพัฒนาที่นี่ได้ ก็เลยอยากจะอยู่ดูแลเด็กๆ ให้สามารถพัฒนาเป็นเด็กดี มีคุณภาพ มีจิตสำนึกรักท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้เรายังได้ดูแลช่วยเหลือและร่วมพัฒนาชุมชนไปด้วย


อนาคตคาดหวังอยากสร้างครูดี ครูเก่ง

เพราะครูที่ดีคนหนึ่งจะช่วยสร้างและพัฒนาเด็กๆ ได้หลายรุ่นหลายคน

พออายุมากขึ้นก็เริ่มคิดว่านอกจากพัฒนาเด็กๆ และร่วมสร้างชุมชนที่ดีแล้ว ครูอยากสร้างครูที่ดี ที่เก่ง ครูที่มีใจรักและอยากจะเป็นครูจริงๆ ก็สอนงานเขา ให้แนวคิด เทคนิคต่างๆ เพื่อให้เขาเป็นครูที่ดีของเด็กๆ

ตอนนี้ก็กำลังทำอยู่นะคะ ที่โรงเรียนบ้านปากบางกลมมีครูข้าราชการ 4 คน ซึ่งไม่เพียงพอ อีกทั้งเรามีครูอัตราจ้าง 3 คน ซึ่งต้องจ้างด้วยเงินรายได้สถานศึกษา แล้วแต่ใครจะบริจาคมา หรือจัดกิจกรรมขายกระเป๋ากระจูดสินค้าชุมชนเพื่อหารายได้ ตรงนี้อยากจะประชาสัมพันธ์ว่า หากใครอยากร่วมสร้างครูดี สามารถสมทบทุนได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี โรงเรียนบ้านปากบางกลม เลขที่บัญชี 822-1-27105-5 ได้นะคะ

ครูมองว่า ครูที่ดีคือครูที่ทุ่มเท เสียสละ เอาใจใส่ในการดูแล และใช้หัวใจในการพัฒนาเด็กๆ ที่สำคัญคือสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้จุดประกายแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้ค้นพบตัวเอง ครูที่ดีคนหนึ่งจะช่วยสร้างและพัฒนาเด็กๆ ได้อีกหลายรุ่นหลายคน


เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : เฟซบุ๊ก : ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ



กำลังโหลดความคิดเห็น