xs
xsm
sm
md
lg

5 ผู้สมัคร ส.ส. ร่วมรับฟังและแสดงวิสัยทัศน์แก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนชาวพญาไทเรื่องคอนโดสูง

เผยแพร่:   โดย: เสียงประชาชน


จากกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภารัฐได้ปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากในพื้นที่เขตพญาไท ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่ ทั้งปัญหาด้านการจราจรติดขัดอย่างหนัก ปัญหาคุณภาพอากาศและเสียง รวมไปถึงปัญหาระบบการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการขยายตัวของเมือง ซึ่งปัญหาดังกล่าวชาวพญาไทต้องการตัวแทนประชาชนที่มีแนวคิด นโยบาย วิสัยทัศน์ที่เหมาะสม เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเข้ามาร่วมแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

​ดังนั้น กลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท (ชอพ.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชนในพื้นที่ซอยพหลโยธิน 5,7,8,9,10,11 และประดิพัทธ์ เพื่อเฝ้าระวังดูแลพื้นที่อาศัย จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “สู้! เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวพญาไท” โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 6 ราชเทวี พญาไท จตุจัตร จาก 5 พรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย 1.นายประพนธ์ เนตรรังสี พรรคเพื่อไทย 2.นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายคริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ 4.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ และ 5.นายภูวพัฒน์ ชนะสกล พรรคเสรีรวมไทย เข้าร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ชาวพญาไทรับทราบ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้จะมีขึ้น โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรมเสนาเพลส ซอยพหลโยธิน 11 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

​นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ประธานชมรมอนุรักษ์พญาไท (ชอพ.) กล่าวว่า “ผมได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่พญาไทตั้งแต่ปี 2482 ซึ่งปัจจุบันผมมีอายุ 86 ปีแล้ว และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและขยายเมืองขึ้นมาตามยุคสมัย ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้นตามมา มีการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากในซอยเล็กๆ บางวันมีรถบรรทุกวิ่งอีกก่อให้เกิดการจราจรติดขัด มีปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการวางระบบสาธารณูปโภคแบบเก่า ไม่ได้วางแผนไว้รองรับประชาชนเพิ่มขึ้นจนแออดัด บ่อยครั้งจึงมีน้ำท่วมขังเพราะการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อย่างเช่น ซอยพหลโยธิน 11 ความกว้างของถนนมีไม่ถึง 10 เมตร แต่ กทม.อนุญาติให้มีการก่อสร้างตึกสูงในซอยถึง 2 ตึก

ที่ผ่านมา ชอพ.รวมตัวกันเพื่อดูแลพื้นที่ ติดตามการทำงานของรัฐตลอดมา ปัญหาที่พบคือ เมื่อ ชอพ. ร้องเรียนเกิดความติดขัด โยนกันไปมา ไม่มีตัวกลาง ดังนั้น การเปิดเวทีให้ผู้สมัครมาพบปะประชาชน รับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่ ทำให้เราได้เห็นวิสัยทัศน์และแนวนโยบายการพัฒนา ทำให้ชาวพญาไทตัดสินใจได้ว่าจะเลือกใครเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้”

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “พื้นที่เขตพญาไทเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่าน ซึ่งผมค่อนข้างมีประสบการณ์อย่างมากเกี่ยวกับการบริหารจัดการประเด็นปัญหาเรื่องตึกสูง เพราะพื้นที่จตุจักรที่ผมเป็น ส.ส. อยู่ก็เกิดปัญหาทำนองนี้ขึ้นเช่นเดียวกัน สิ่งที่ผมอยากแนะนำให้พี่น้องชาวพญาไทร่วมกันทำคือ เราจะต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเรื่องการทำเช็คลิสต์เป็นข้อๆ ต้องคุยกันก่อนก่อสร้าง การป้องกันก่อนเกิดและการเจรจาคือสิ่งที่อยากย้ำเพราะสำคัญมาก นอกจากนี้ควรมีการทำประกันภัยล่วงหน้าเพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เราควรทำประกันที่เราเลือก มิใช่ทำประกันตามที่บริษัทก่อสร้างเลือก เพราะอาจเกิดปัญหาในเรื่องความล่าช้าและไม่ยอมรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต้องเคลมประกัน และในฐานะที่ผมเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายหลายฉบับของ กทม. การได้ลงพื้นที่เพื่อมารับทราบปัญหาของประชาชน ทำให้เราสามารถเอาความเห็นของพวกท่านไปส่งให้ กทม. พิจารณาก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ได้”

นายประพนธ์ เนตรรังสี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ผมคงจะพูดไม่ได้ว่า “น่าเห็นใจ” แต่ต้องบอกว่า “น่าเสียใจ” เพราะเป็นปัญหาที่อึดอัดและอยู่กับพี่น้องชาวพญาไทมาอย่างยาวนาน แม้วันนี้เราจะมีกฎหมายหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กฎกระทรวงเรื่องเขตทาง และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนการบังคับใช้กฎหมายจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ผมมองว่าปัญหาในเรื่องนี้มิใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่เขตพญาไท แต่เป็นปัญหาของ กทม. ที่เป็นเมืองใหญ่แทบจะทุกจุด ซึ่งผู้แทนของประชาชนจะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาในทุกเขตไม่เฉพาะเขตพญาไท เราคงต้องกลับมาทบทวนกันว่าวันนี้เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เป็นเพราะว่าปัญหาที่ลำน้ำใช่หรือไม่ ในอนาคตหากมีการจะก่อสร้างคอนโดหรือตึกสูงเกิดขึ้นควรพิจารณากันเลยว่าอาคารนั้นควรสูงขนาดไหน ปริมาณของท่อระบายน้ำต้องมีขนาดเท่าไหร่ นอกจากนี้อาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้สอยเพื่อคนจำนวนมากสามารถที่จะขอคืนพื้นที่ให้เราได้หรือไม่ เพราะสามารถเป็นการลดเรื่องมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและการจราจรที่ติดขัดได้อีกด้วย”

น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “ดิฉันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเรื่องสิ่งแวดล้อม และได้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นสำคัญในนโยบายหาเสียงสำหรับพรรคจริงๆ สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้คือภาครัฐจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีการผ่อนปรน ถ้าวันหนึ่งดิฉันมีโอกาสได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง อันดับแรกคือการคิดคำนึงถึงปริมาณผู้อยู่อาศัย ถ้าไม่จำเป็นแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะต้องสร้างอะไรขึ้นมาอีก เพราะการมีคนมากขึ้น ทรัยากรก็ถูกใช้มากขึ้น วันนี้เราโชคดีมากที่มีกลุ่มคนรักพญาไทซึ่งรวมกลุ่มกันด้วยความรักและสามัคคี และออกมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชนร่วมกัน”

นายคริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า “สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เล็งเห็นคือ การกระจายอำนาจให้ลงไปสู่พื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอย่างแท้จริง ดีไม่ดีในอนาคตเราอาจจะต้องเลือกผู้อำนวยการเขต เหมือนกับที่คนกรุงเทพฯ ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะวันนี้เมื่อได้รับทราบถึงปัญหาดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่เขตที่ทำหน้าที่มีความห่างไกลกับประชาชนมากเกินไป อย่างเช่นเรื่องปัญหารถบรรทุกที่เข้ามาวิ่งอยู่ในซอยเล็กๆ เพื่อลัดเลาะออกในพื้นที่ซอยต่างๆ บริเวณนี้ การคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยการติดป้ายบอกกล่าวว่า “ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า” เรายังต้องไปถาม กทม. ไปถาม บช.น. เพื่อขออนุญาติติดป้าย ทำไมเราไม่สามารถลดขั้นตอนทำให้เขตสามารถสั่งการได้เลย ตอนนี้คนพญาไทไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตของตัวเอง ผมมีความสามารถในเรื่องของกฎหมาย ดังนั้น เราควรที่จะต้องเพิ่มอำนาจของประชาชนเข้าไป คนพญาไทต้องกำหนดกฎเกณฑ์ของพญาไท”

นายภูวพัฒน์ ชนะสกล พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า “ผมอยากอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของพี่น้องชาวพญาไทในการแก้ไขปัญหา กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีงบประมาณเยอะมากที่สุด แต่การบริหารจัดการกลับทำออกมาไม่ได้อย่างเต็มที่ ทางพรรคเสรีรวมไทย เราได้มีการนำเสนอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างเช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เราจะไม่มีการปล่อยให้จอดรถริมทางเดินเท้าอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างวินัยจราจรและลดการจราจรที่ติดขัด รวมไปถึงเรื่องการต่อสู้กับนายทุนที่มีกดหัวประชาชน เป็นปากเสียงให้ประชาชน การจะแก้กฎหมายควรจะให้สิทธิ์กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ทำอะไรโดยไม่ถามถึงประชาชนที่ประสบกับปัญหาตรงนั้นจริงๆ”

​สำหรับช่วงท้ายที่เปิดโอกาสให้ผู้รับฟังแสดงความคิดเห็น ด้านนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง ได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ของกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท (ชอพ.) คือ เมื่อเราเกิดปัญหาและร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็คือเขตกลับทำเป็นเฉยเมย หรือ ทำมึน เรารู้ข้อเท็จจริงมาว่าได้คำสั่งเซ็นย้าย ผอ. มาเซ็นเอกสาร ผมแพ้อยู่อย่างเดียวคือแพ้ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ผมมองว่าปัญหาฝนตกน้ำท่วมมันเป็นเพียงแค่ “ปลายเหตุ” เพราะต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ที่ “คน” จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุดเราได้ดำเนินการฟ้องร้องไปที่ศาลปกครองแล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น