xs
xsm
sm
md
lg

“การเลือกตั้งสกปรก” ๒๕๐๐! ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ ทั้ง ไพ่ไฟ พลร่ม และอันธพาล!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

นิสิตนักศึกษาประชาชนล้นกระทรวงมหาดไทย
การเลือกตั้งในประเทศไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนบัดนี้เป็นเวลาถึง ๘๗ ปีแล้ว อาจจะมีการเลือกตั้งที่พอถือว่าบริสุทธิ์ ก็เพียงยุคแรกๆที่ยังไม่ทันรู้เล่ห์เหลี่ยมวิธีโกงเท่านั้น ต่อๆมาก็โกงกันสะบั้นหั่นแหลกมาจนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า “สกปรกที่สุด” โกงกันวินาศสันตะโร และประเจิดประเจ้อจนประชาชนนิสิตนักศึกษาทนดูไม่ได้ ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ประกาศว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ได้ถูกจารึกไว้ในชื่อ “เลือกตั้งสกปรกยุคกึ่งพุทธกาล”

ที่เรียกกันว่า “กึ่งพุทธกาล” ก็มาจากคำเล่าลือมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายฝันของพระยาปัตเถวนว่า ศาสนาของพระองค์จะยั่งยืนอยู่ในโลกนี้ ๕,๐๐๐ ปี ฉะนั้นปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ จึงถือว่าเป็นกึ่งพุทธกาล รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองมโหฬาร แต่ให้เรียกชื่องานว่า “งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ”

ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในปีนี้พอดี และได้ถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งนำทีมลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกว่าคำนี้บาดใจเกินไป ขอร้องให้เรียกใหม่ว่า “การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย”

ทั้งนี้ในตอนปลายสมัย จอมพล ป. ผู้ได้ฉายาว่า “นายกฯตลอดกาล” เพิ่งรู้สึกตัวว่าการครองอำนาจด้วยกำลังทหารนั้นทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะลูกน้องที่สร้างมาให้ค้ำบัลลังก์ก็มีท่าทีว่าจะ “วัดรอยเท้า” จึงคิดจะหันเข้าหาความนิยมจากประชาชนเป็นเกราะคุ้มกัน จอมพล ป.จึงพาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เดินทางไปทัศนาจรรอบโลกในกลางปี ๒๔๙๘ บอกว่าจะไปค้นหาประชาธิปไตยมาฝากคนไทย และให้ออก พ.ร.บ.เลือกตั้ง ๒๔๙๘ ขึ้น ให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้
ในการเลือกตั้งปี ๒๕๐๐ จึงมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นราวดอกเห็ดถึง ๓๐ พรรค แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้แบบเผชิญหน้ากันระหว่าง ๒ พรรคเท่านั้น คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคก็มียศจอมพล พลเอก ผู้ยิ่งใหญ่ของยุคทั้งนั้น คู่ต่อสู้ดูรายชื่อแล้วก็ต้องหนาว และใช้บ้านมนังคศิลา ที่ยมราช เป็นสำนักงาน

ส่วนพรรคคู่แข่งผู้ท้าชิงก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ มี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นพรรคขวัญใจประชาชน

การเลือกตั้งครั้งนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นละครฉากหนึ่งของ จอมพล ป.ที่จะแสดงความเป็นนักประชาธิปไตย แต่ใจจริงแล้ว “แพ้ไม่ได้” ส่วนเลขาธิการพรรคก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ก็แพ้ไม่ได้อีกเหมือนกัน จึงใช้กำลังภายในทุกอย่างที่มี

เมื่อลงสู่สนามประชาธิปไตยแล้ว จอมพล ป. “ท่านผู้นำ” ที่ประชาชนไม่เคยเข้าถึงตัวได้ ก็ลงมาเดินถนน เริ่มด้วยการไปยืนเข้าคิวรอยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง เมื่อนักข่าวถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่มายืนขอสมัครเป็นผู้แทนของราษฎร จอมพล ป.ก็บอก “ผมรู้สึกว่าพบโลกใหม่”

จอมพล ป.ได้ออกหาเสียงในที่ต่างๆด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับสตรีหมายเลข ๑ คู่ชีวิต ก็ลงสมัคร ส.ส.ที่จังหวัดนครนายกด้วย

ในการไปปราศรัยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จอมพล ป.ก็หาเสียงแบบเรียกเสียงฮาได้เหมือนกัน โดยบอกว่า

“การหาเสียงนี่มันยุ่งยากมากนะ โดยเฉพาะผมลงสมัครทั้งผัวทั้งเมีย ตอนนี้เลยไม่รู้ว่าเมียผมอยู่ที่ไหน”

ในการไปปาฐกถาที่ห้องประชุมบริษัทไทยโทรทัศน์ ที่บางขุนพรหม ในหัวข้อ “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในระบอบประชาธิปไตย” นอกจากจอมพลจะโปรยยาหอมว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้ประชามติเป็นหลัก และรับว่าจะให้เสรีภาพหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่แล้ว ทั้งยังเปิดเผยด้วยว่า

“ในชีวิตผม ได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้งแล้ว เลิกกันที ผมมีตำราเล่มหนึ่ง คือ เทคนิคคุปเดต้า ว่าด้วยการทำรัฐประหารสมัยต่างๆที่ซื้อมาจากฝรั่งเศส และได้นำหลักการมาใช้ในการปฏิวัติเรื่อยมา เช่นในปี ๒๔๗๕ ก็โดยอาศัยตำราเล่มนี้ ถือแบบอย่างการปฏิวัติในรัสเซีย แต่ได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้ตำรวจไปแล้ว เพื่อไว้เป็นหลักในการป้องกันปฏิวัติรัฐประหารต่อไป”

คำเปิดเผยของจอมพล ป.ในครั้งนี้ ทำให้หนังสือ “เทคนิคคุปเดด้า” โด่งดังเป็นพลุในวันรุ่งขึ้น จนมีผู้นำหนังสือต้องห้ามเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “เทคนิครัฐประหาร”

ใบปลิวชิ้นสำคัญของจอมพล ป. ไม่ได้พิมพ์บนแผ่นกระดาษ แต่ได้พิมพ์บนผ้าเช็ดหน้า แจกกันเป็นแสนผืน มีข้อความยาวเหยียดด้วยนโยบาย ๑๔ ข้อที่จะพัฒนาประเทศ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์ ได้ชูนโยบายหลักที่จะเลิก ส.ส.ประเภท ๒ ที่มาจากการแต่งตั้ง แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ห้ามนักการเมืองทำการค้า ซึ่งในขณะนั้นรัฐมนตรีของจอมพล ป.พากันตั้งบริษัทค้าขายกันเป็นล่ำเป็นสัน แม้จอมพล ป.จะไม่ได้ตั้งด้วย นอกจากนี้ยังชักชวนให้ประชาชนเลือกระบบพรรค อย่าเลือกตัวบุคคล ถ้าเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่ดี ก็เลือกพรรคเสรีมนังคศิลา และเลือกทีมของจอมพล ป. แต่ถ้าเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ดี ก็ควรเลือกพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ก็คือพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับนายควง อภัยวงศ์ที่หาญสู้กับจอมพล ป.มีประชาชนให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ไปหาเสียงที่ไหนแทบไม่ต้องเดิน พอก้าวออกจากรถก็มีคนแบกขึ้นคอไปเวทีปราศรัย และยังมีประชาชนส่งข่าวการเคลื่อนไหวของคู่แข่งมาบอกเป็นระยะ แต่แทนที่จะเป็นข่าวดีมีกำลังใจ กลับทำให้ใจฝ่อ เช่น ทหาร ป.ต.อ.บอกว่าถูกบังคับให้ไปช่วยการเลือกตั้งที่สระบุรีกับเพื่อนร่วมกรมอีก ๕๐ คน เพื่อก่อกวนการหาเสียงของฝ่ายตรงข้าม บ้างก็เตือนให้ระวังกลุ่มอันธพาลของเหล่าอัศวินที่ส่งออกก่อกวนการหาเสียง เพราะตอนนั้นกรมตำรวจยุคจอมอัศวินเผ่าเป็นเหมือนกองทัพ มีทั้งรถถังเครื่องบินพร้อมแล้ว ยังมีกองทัพอันธพาลเป็นสมุนของบรรดาอัศวินทั้งหลาย

ใกล้วันเลือกตั้งใกล้เข้ามา การต่อสู้ทางการหาเสียงก็ยิ่งสกปรกมากขึ้นทุกที เหล่าอันธพาลสำแดงเดชไปทั่วเมือง หลายคนที่มีคดีต้องหลบๆซ่อนๆอยู่ กลับเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้พิทักษ์อธิบดีกรมตำรวจขณะออกหาเสียง แต่ละคนพกบัตรเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ที่ตำรวจยังต้องเกรง

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงก็มักถูกก่อกวน ถูกฮาป่า ถูกขว้างปา โดยกลุ่มอันธพาล

ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ก่อนวันลงคะแนนเพียงวันเดียว มีข่าวว่าบัตรเลือกตั้งปลอมนับแสนใบถูกขนออกจากวังปารุสก์ กองบัญชาการของอธิบดีกรมตำรวจ เพื่อแจกจ่ายให้บรรดาอันธพาลเอาเป็น “ไพ่ไฟ” ไปยัดลงหีบบัตรเลือกตั้ง
ในวันเดียวกันนี้ ทหารเรือซึ่งนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังมีนายพลเรือยู่ในทีมผู้สมัครจังหวัดพระนครด้วย ก็ได้รับคำสั่งด่วนให้ไปซ้อมรบ ไม่มีโอกาสได้ลงคะแนนเสียง มีแต่ทหารบกเข้าแถวกันมาเป็นระเบียบ ผู้บังคับบัญชาควบคุมอย่างใกล้ชิด
ข่าวการทิ้ง “พลร่ม” คือผู้ไม่มีชื่อแต่เดินแถวเข้ามาใช้สิทธิ์ในหน่วยเลือกตั้งได้ และ “ไพ่ไฟ” คือบัตรเลือกตั้งที่กาเบอร์มาเสร็จ ลือแพร่สะพัดทั่วกรุง รวมทั้งลือว่าตอนนับคะแนนจะมีการดับไฟยัดไพ่ไฟที่หน่วยเลือกตั้งวัดประดู่ หลังกรม ป.ต.อ. นายชลอ วนภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร ผู้รับผิดชอบการเลือกตั้ง รีบออกตัวว่า

“พอรู้ข่าวว่าจะมีการเล่นสกปรกด้วยการส่งพลร่มนับจำนวนร้อยๆไปลงคะแนน ทำให้ผมเป็นทุกข์เป็นร้อน กินไม่ได้นอนไม่หลับ รู้สึกแปลกใจเหลือเกินว่า ทำไมใครจึงเข้าใจว่าคุณเผ่าจะโกงเสียเรื่อย ผมขอพูดอย่างเปิดอกตรงไปตรงมาว่า ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง คุณเผ่าไม่เคยสั่งผมเรื่องที่จะให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือให้อยู่เฉยๆ แต่ถ้าหากลูกน้องคุณเผ่าที่ภักดีเกินไปจะเล่นแบบนั้น ผมไม่รู้ด้วย”
และยังเสริมว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพล ป. ผมกล้าสาบานได้เลยว่า ท่านได้พยายามสั่งนักสั่งหนาที่จะให้เลือกตั้งบริสุทธิ์”

ในวันลงคะแนน ปรากฏว่าเกิดชุลมุนตามหน่วยเลือกตั้งทั่วกรุง นักข่าวและช่างภาพก็ไม่อาจทำงานได้ เพราะกลุ่มอันธพาลเข้าประกบและข่มขู่ ขนาดช่างภาพ น.ส.พ.ไทรายวันของจอมพลเสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา ที่แอบถ่ายรูปการโกงมาได้ ก็ยังถูกอันธพาลคนดังตามไปปล้นฟิล์มคืนที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน ทั้งๆที่มีสารวัตรทหารในเครื่องแบบ เป็นอดีตนักมวยเก่าเสียด้วย ถือปืนคาร์ไบน์นั่งคุ้มกันรถข่าวคันนั้น ก็ยังเอาฟิล์มไปได้ จนเป็นข่าวดังกระหึ่ม
ยิ่งตอนนับคะแนนยิ่งสนุกใหญ่ บางแห่งหีบบัตรหายไปเฉยๆ กว่าจะตามมาได้ก็หลายชั่วโมง ไม่ต้องสงสัยว่าบัตรลงคะแนนข้างในถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว หลายแห่งเกิดไฟดับตอนนับคะแนน บางแห่งก็นับจากหีบโยนลงเข่ง แล้วนับจากเข่งโยนลงหีบอีก ล่อกันสนุก บางหน่วยที่ฝ่ายรัฐบาลทำท่าว่าจะแพ้ ก็มีการถ่วงเวลานับคะแนนให้ช้าลง ในที่สุดรัฐบาลก็ชนะ

ผู้ว่าฯชลอ วนภูติ ไปจับไพ่ไฟได้ด้วยตัวเองที่หน่วยเลือกตั้งสมาคมสตรีไทย ถึงกับประกาศว่าขอลาออกที่ไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งได้

“ช่าง...มัน ไอ้ลอ ไอ้...มันลาออกก็ดีเหมือนกัน” พล.ต.อ.เผ่าด่าอย่างขุ่นเคืองเมื่อรู้ว่าผู้ว่าฯหน้าบาง

ในที่สุดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๘ ของระบอบประชาธิปไตย แบบรวมเขต ก็ปรากฏผลว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็นที่ ๑ ได้ ๑๓๗,๗๓๕ นายควง อภัยวงศ์ มาเป็นที่ ๒ ได้ ๑๑๘,๔๕๗ คะแนน และพรรคประชาธิปัตย์ยังเบียดเป็นที่ ๖ มาได้อีก ๑ คน นอกนั้นอีก ๑๕ คน พรรคเสรีมนังคศิลากวาดหมด
ความไม่พอใจการเลือกตั้งของประชาชนมีอยู่ทั่วไป นิสิตนักศึกษาเริ่มก่อตัวแสดงปฏิกิริยาคัดค้านการเลือกตั้ง จอมพล ป.เกรงว่าเรื่องจะลุกลามต่อไป จึงพยามสกัดกั้นโดยประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ ๒ มีนาคม ห้ามชุมนุมทางการเมือง เพื่อหวังจะป้องกันการเดินขบวน และแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้รักษาความสงบ มีอำนาจสั่งการกองทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ และตำรวจ ได้โดยเด็ดขาด
ในทันทีที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประกาศแถลงการณ์จบลง จอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้บัญชาการ ๓ เหล่าทัพและตำรวจ ก็เคลื่อนกำลังรถถังออกคุมจุดต่างๆทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็หาทำให้นิสิตนักศึกษาหวาดกลัวไม่ นัดไปชุมนุมกันที่จุฬาฯ และลดธงลงครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยประชาธิปไตย รัฐบาลถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจ

สายวันนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมด้วย พลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร จึงไปที่จุฬาฯ นิสิตนักศึกษาได้เชิญจอมพลสฤษดิ์ขึ้นปราศรัยตอบข้อข้องใจ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็แสดงให้เห็นลีลาเป็นนักการเมืองขึ้นมาทันที นิสิตนักศึกษาว่าจะเดินขบวนไปพบจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ขอร้อง แต่เมื่อนักศึกษาว่าจะไปให้ได้ จอมพลสฤษดิ์ก็บอกเป็นนัยว่า

“ถ้าเช่นนั้น หากท่านเดินไปทางซ้าย ผมก็จะเดินไปทางขวา”

นักศึกษานับหมื่นจึงเคลื่อนขบวนมาที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อขอพบจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่จอมพล ป.ไม่อยู่ พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล รองปลัดกระทรวงออกมารับหน้า นักศึกษาเรียกร้อง ๕ ข้อ คือ ขอให้ประกาศเลิกภาวะฉุกเฉิน ขอให้ประกาศการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ขอให้นิสิตนักศึกษาเป็นกรรมการนับคะแนนในการเลือกตั้ง ขอให้สอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดในการเลือกตั้ง และขอให้ตอบข้อเรียกร้องนี้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง

หลวงชาติตระการโกศลตอบว่า ที่นิสิตนักศึกษาอ้างว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์นั้น ขณะนี้นายควง อภัยวงศ์กำลังจะยื่นฟ้องศาล ขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะแล้ว จึงขอให้รอคำพิพากษาของศาลดีกว่า นิสิตนักศึกษาจึงโห่ฮาไม่พอใจ บอกว่าถามจอมพล ป. ไม่ได้ถามหลวงชาติฯ หลวงชาติฯจึงขอขึ้นไปโทรศัพท์หาจอมพล ป. และกลับมาแจ้งว่า จอมพล ป.ให้ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล นิสิตนักศึกษาจึงเคลื่อนไปที่ทำเนียบ

เมื่อถึงสะพานมัฆวาน ทหารได้รับคำสั่งให้มาห้ามประชาชนผ่านเข้าไปอย่างเด็ดขาด ทั้งยังมีตำรวจม้า ตำรวจสุนัข รถดับเพลิง เตรียมสกัดกั้นอย่างเต็มที่ ฝ่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนก็พร้อมจะลุยเข้าไปให้ได้ จนเกิดการปะทะกัน แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมด้วย พลอากาศโท บุญชู จันทรุเบกษา และพลตรี ประภาส จารุเสถียร ก็แสดงบทบาท “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน” ห้ามทหารทำร้ายประชาชน และเดินนำนิสิตนักศึกษาประชาชนไปถึงทำเนียบรัฐบาลด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นผู้เปิดประตูทำเนียบนำนักศึกษาประชาชนเข้าไปพบจอมพล ป.ด้วย

ในที่สุดเมื่อเวลา ๒๐ น. เหตุการณ์ก็กลับคืนสู่ปกติ ทั้งนิสิตนักศึกษาและประชาชนเคลื่อนออกจากทำเนียบโดยไม่มีใครได้ตามคำเรียกร้อง นอกจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์คนเดียวที่ก้าวขึ้นมาเป็นขวัญใจประชาชน และสร้างคะแนนนิยมเรื่อยมาจนยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลูกพี่ได้ในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ แต่ก็ยังเขินไม่กล้าขึ้นเป็นนายกฯ ไปเชิญ นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การซีอาโต้ มาเป็นนายกขัดตาทัพ จนวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ ก็เปลี่ยนมาเป็น พลโท ถนอม กิตติขจร ลูกน้องคู่ใจ แต่พลโทถนอมมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมสมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคชาติสังคมที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ไปผ่าตัดม้ามที่อเมริกาได้ จอมพลสฤษดิ์จึงต้องแอบบินกลับเข้ามายึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง

ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของขวัญใจประชาชนผู้นี้ จนถึงอสัญกรรมในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ เป็นเวลา ๕ ปีเศษ อยู่ใต้การประกาศกฎอัยการศึก ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร มีแต่ออกกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจล้นฟ้า โดยใช้มาตรา ๑๗ ที่สั่งประหารชีวิตคนก็ได้ และได้ใช้ประหารชีวิตไป ๑๑ ราย ในข้อหา วางเพลิง ค้ายาเสพติด และคอมมิวนิสต์ ส่วนประชาธิปไตยมืดสนิท
รองปลัดกระทรวงมหาดไทยออกมารับหน้า
อิริยาบถของจอมพลสฤษดิ์กับจอมพล ป.ตอนที่ยังไม่ได้”วัดรอยเท้า”
จอมพล ป.ยืนฟัง สุวิทย์ เผดิมชิต ประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์เสนอข้อเรียกร้อง
จอมพลสฤษดิ์ปราศรัยขณะที่ประธานนักศึกษา ม.ธ.หมดแรงขอนั่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น