วงเสวนาเสนอแนวคิดทำบุหรี่ไฟฟ้า ให้ถูกกฎหมาย โดยเสนอทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกให้รอบด้านหลังพบมูลค่าบุหรี่ไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตกปีละ 6,000 ล้านบาท หากทำให้ถูกกฎหมาย ภาครัฐ จะได้ภาษีต่อปีไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท
วันนี้ (6 มี.ค.) รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม กล่าวในงานเสวนาเรื่อง เศรษฐกิจใต้ดิน : บุหรี่ไฟฟ้าและกฎหมายในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า กฎหมายของประเทศไทยที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าให้โทษอาญากับผู้ใช้ เป็นกฎหมายที่แปลก และไม่ทันต่อโลก โลกมีการพัฒนาไป เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จึงควรเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นและที่สำคัญ กฎหมายต้องก้าวทันนวัตกรรมให้ทัน แต่แนวกฎหมายของประเทศไทยเลือกที่จะใช้อำนาจเด็ดขาด และเน้นปราบปรามให้โทษอาญา เป็นการตัดสินผู้กระทำความผิดโดยปราศจากการคำนึงถึงบริบท การแบนไม่ได้แก้ปัญหา หรือทำให้ควบคุมได้ แต่ทำให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดินยากต่อการควบคุม และยังเป็นช่องทางของการทุจริตคอรัปชั่น ทำลายการท่องเที่ยว รัฐบาลควรเร่งมีการศึกษาอย่างเป็นกลางครบรอบด้านทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม และปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เสริมว่า ประเทศไทยต้องหยุดปฏิเสธการมีอยู่ของธุรกิจสีเทาและสินค้าบาปอื่นๆ ทั้งการพนัน หวยใต้ดิน โสเภณี และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย ความพยายามในการปิดกั้นและปราบปรามโดยให้โทษรุนแรง ยิ่งทำให้เกิดธุรกิจใต้ดินและรัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยอมรับการมีอยู่และนำมาควบคุมในที่แจ้งและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง เห็นว่า ข้อกฎหมายยังคงมีความสับสนและขัดแย้งไม่ชัดเจน เช่น โทษอาญาของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยไม่สมเหตุผล เนื่องจากขาดความชัดเจน การกำหนดโทษอาญาต้องมีความเจาะจงถึงลักษณะการกระทำผิด ไม่ใช่เขียนกว้างๆ จนทำให้เกิดปัญหาการตีความและการบังคับใช้ “กฎหมายต้องมีความเท่าทันนวัตกรรมและต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล หากบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนจริง การห้ามจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ใช้ในการเข้าถึงสิ่งที่ปลอดภัยกว่า ส่วนที่ภาครัฐอ้างถึงเรื่องกลัวจะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ คิดว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะบุหรี่ปัจจุบันก็คุมได้ หรือ แม่แต่อาวุธปืนยังสามารถควบคุมได้” ทนายเกิดผลกล่าว
รศ.อุ่นกัง แซ่ลิ้ม รองคณะบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงมูลค่าตลาดใต้ดินของบุหรี่ไฟฟ้าอาจสูงถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี เพราะมีการเติบโตเร็วมาก มาตรฐานสินค้าก็มีความหลากหลายและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ก็ผิดๆ ถูกๆ พร้อมเสนอให้รัฐ หากจะนำมาควบคุมโดยใช้มาตรการภาษีที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่กว่า 11 ล้านคนในประเทศไทย ก็อาจเป็นฐานภาษีเพิ่มเติมจากภาษียาสูบที่สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลปีละหลายพันล้านบาท
ที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าใต้ดินเติบโตอย่างรวดเร็ว คิดเป็นปีละ 100% เนื่องจาก เป็นเรื่องที่ถูกห้ามยิ่งทำให้พฤติกรรมของ ผู้สูบบุหรี่ อยากใช้บริโภครวมถึงการสร้างผู้บุหรี่หน้าใหม่ให้เกิดขึ้น รศ.อุ่นกังกล่าว
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มตั้งขึ้นมา และวัตถุประสงค์ เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมตาม กฎหมาย เก็บภาษีป้องกันเยาวชน เพราะตอนนี้เป็นสินค้าใต้ดิน ควบคุมอะไรไม่ได้เลย
“ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศ ช่วยตั้งคณะทำงานมาเพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย แต่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่บิดเบือน เพราะจะทำให้กรมฯเสียภาพลักษณ์และอาจตัดสินพลาดจากข้อมูลที่ถูกบิดเบือนได้ ทำให้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไม่ถูกปลดล็อกในสังคมไทย” นายมาริษ กล่าว