ในรอบ 2 สัปดาห์ ครม. อนุมัติโครงการรถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงไปแล้ว 3 เส้นทาง ตามแผงานของคมนาคมคาด ปี 2565 เปิดให้บริการ รอการรถไฟฯ เปิดประมูลและเริ่มต้นก่อสร้าง
... รายงาน
ในขณะที่โครงการระบบรถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง ตลิ่งชัน-บางซื่อ และ บางซื่อ-รังสิต จะให้บริการพร้อมกับสถานีกลางบางซื่อในเดือนมกราคม 2564
ปรากฎว่าในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายเพิ่ม รวม 3 สาย ได้แก่
สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร มีสถานีบ้านฉิมพลี, สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีศาลาธรรมสพณ์ เป็นสถานีระดับดิน และสถานีศาลายา เป็นสถานียกระดับ รองรับรถไฟทางไกล
นอกจากนี้ ยังก่อสร้างสถานีเพิ่มตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ได้แก่ สถานีพระราม 6 และสถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2562 แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยคาดว่า ในช่วงปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 47,570 คนต่อวัน
เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมไปยังพื้นที่ศาลายา ซึ่งเป็นทำเลโครงการที่อยู่อาศัย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนชั้นนำต่างๆ
สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มีสถานีคลองหนึ่ง, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์รังสิต เป็นสถานีระดับดินทั้งหมด
กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2562 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565
เส้นทางดังกล่าวจะผ่านมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งมีนักศึกษาและบุคลากรกว่า 2 หมื่นคน เชื่อมไปยังพื้นที่คลองหลวง ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่มีบุคลากรกว่า 6 พันคน และนักศึกษาเกือบ 7 พันคน
นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับย่านนวนคร มีจำนวนโรงงานกว่า 200 แห่ง ที่อยู่อาศัยกว่า 5 พันครัวเรือน มีผู้คนหมุนเวียนตลอดกว่า 2 แสนคน และยังเป็นทำเลอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต
สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กิโลเมตร มีสถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นสถานีระดับดิน, สถานีจรัลสนิทวงศ์ เป็นสถานียกระดับ และสถานีธนบุรี-ศิริราช เป็นสถานีระดับดิน
กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี กระทรวงคมนาคมยืนยันในที่ประชุม ครม. ว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565
เส้นทางดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีบุคลากรกว่า 1.3 หมื่นคน ผู้ป่วยนอกมาใช้บริการราว 3 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยในประมาณ 8.7 หมื่นคน
นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับเรือด่วนเจ้าพระยา นนทบุรี-วัดราชสิงขร และปากเกร็ด-สาทร ที่ท่าเรือรถไฟ ใช้เวลาเดินเท้าไปยังตัวสถานีไม่นานนัก และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีแยกไฟฉาย
แม้ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม ทั้ง 3 โครงการจะเปิดให้บริการในปี 2565 แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการรถไฟฯ จะดำเนินการประกวดราคาและเริ่มก่อสร้างได้เมื่อไหร่ ถึงตอนนั้นจะได้ใช้บริการอีกไม่นานเกินรอ