xs
xsm
sm
md
lg

“กัปตัน” ไขข้อข้องใจ! ทำไมต้องยกเลิกเที่ยวบิน ไทย-ยุโรป หลังปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กัปตันโสภณ” แห่งนกแอร์ แจงกรณียกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ยุโรป หลังจากปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้า ระบุถ้าให้บินอ้อมก็ไกลมาก น้ำมันไม่น่าจะพอ ส่วนการเปลี่ยนเส้นทางจะใช้เวลาบินยาวนานที่สุด ต้องขออนุญาตตามพิธีการเดินอากาศ ต้องมีปัจจัยหลายอย่างพร้อมกัน

วันนี้ (28 ก.พ.) เฟซบุ๊ก “A Pilot Book” ของกัปตันโสภณ พิฆเนศวร ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงองค์กร ของสายการบินนกแอร์ กล่าวอธิบายถึงกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกเที่ยวบินที่ทำการบินไปปากีสถาน และเที่ยวบินเส้นทางไป-กลับยุโรปทั้งหมด เนื่องจากปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้า ว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปลายทางที่ยุโรปนั้นจะบินผ่านพม่า อ่าวเบงกอล บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน

และจะเริ่มแยกกันว่าจะไปทางเส้นเติร์กเมนิสถาน ผ่านทะเลสาบแคสเปียน เข้าทางอาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย บินข้ามทะเลดำ เข้าโรมาเนีย ฮังการี ออสเตรีย หรือขึ้นเหนือผ่านทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย (ผ่านมอสโก) ลัตเวีย ข้ามทะเลบอลติกสู่สแกนดิเนเวีย ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน จากทางมอสโกอาจแยกออกมา เบลารุส หรือยูเครน โปแลนด์ เข้าโรมาเนียเพื่อไปเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ แล้วแต่เมืองที่จะไป ส่วนยุโรปทางใต้ก็จะแยกจากทางปากีสถาน อัฟกานิสถานที่นานๆ ครั้งจะบินผ่านทางอิหร่าน ตุรกี เพื่อไปอิตาลีและสเปน

การที่จะเลือกเส้นทางไหนในการบินไปยุโรปนั้น ขึ้นอยู่กับระยะทางและความแรงของกระแสลมเป็นหลัก จะเห็นว่าเกือบทั้งหมดบินผ่านอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ซึ่งประเทศอินเดียและปากีสถานนั้นกว้างใหญ่และเป็นน่านฟ้าที่เป็นเส้นทางหลักของการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยุโรป ดังนั้น หลังจากที่ปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 ก.พ. 62 ทำให้เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางไปปลายทางในยุโรปประมาณ 3-4 เที่ยวบินของการบินไทยจะต้องบินกลับมาลงสนามบินดอนเมือง และตามมาด้วยการประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดที่จะเดินทางไปยุโรปในคืนนี้ รวมถึงเที่ยวบินที่จะต้องเดินทางจากยุโรปกลับมากรุงเทพฯ ก็ยกเลิกการเดินทางด้วยเช่นกัน เรื่องนี้แบ่งอธิบายเป็น 2 กรณี

กรณีแรก คือ เครื่องบินที่ออกเดินทางไปแล้วและอยู่ระหว่างการบินระดับเพื่อเดินทางไปจุดหมาย เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องการปิดน่านฟ้าของประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นน่านฟ้าที่เป็นเส้นทางหลักที่จะต้องบินผ่านนั้น เที่ยวบินเหล่านี้ได้ออกแผนการบิน (Flight Plan) และมีการคำนวณน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องใช้ในการเดินทางไว้แล้ว เมื่อมีการประกาศปิดแบบฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดไว้ก่อน ความหมายก็คือ การห้ามบินผ่าน

นักบินและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการของสายการบินจะต้องหาเส้นทางอ้อมหรือเส้นทางที่ไม่ต้องบินผ่าน และในกรณีนี้เครื่องบินอยู่บนฟ้าแล้ว การบินอ้อมจะต้องบินอ้อมไกลมาก คือ บินลงใต้เผื่อผ่านทางตะวันออกกลาง การบินขึ้นเหนือจากบริเวณอินเดียขึ้นไปนั้นมีข้อจำกัดเรื่องภูมิประเทศและเส้นทางบินที่มีไม่มาก ระยะทางที่เพิ่มขึ้นมามาก น่าจะประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่บรรทุกมาเดิมนั้นไม่น่าจะเดินทางไปถึงจุดหมายได้โดยอยู่ในหลักมาตรฐานความปลอดภัยการบิน

รวมทั้งขอให้นึกถึงคนบนเที่ยวบิน ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะต้องถูกส่งมาจากศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ การตัดสินใจบินกลับกรุงเทพฯ เป็นทางออกที่ดีที่สุด หนึ่ง เพราะบินอ้อมก็ไปไม่ถึง และอาจไม่ได้รับอนุญาตให้บินเข้าน่านฟ้าที่ไม่ได้ขออนุญาตไว้เดิม คือไม่ได้ส่งแผนการบินไว้ หากจะลงที่อินเดียก็เป็นคู่กรณี ลงบังกลาเทศ ลงที่พม่า ไม่เหมาะสมทั้งนั้น น้ำมันเชื้อเพลิงมีเหลือมากมายบินกลับกรุงเทพฯ เพื่อผู้โดยสารทุกคนได้รับความสะดวกสบายที่สุด เพราะเป็น Mainbase มีเจ้าหน้าที่รอรับและบริหารจัดการได้ง่ายกว่าที่อื่นๆ พูดถึงน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นบางทีอาจจะเหลือมากเกินไป เพราะการเดินทางนั้นบินไปแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น บางทีจะต้องทิ้งน้ำมันออก (Fuel Dumping) เพื่อที่จะลดน้ำหนักเครื่องบินลงให้ต่ำกว่า Maximum Landing Weight ด้วยซ้ำ

ส่วนกรณีที่สอง คือ เที่ยวบินที่ยังไม่ได้ออกเดินทาง จะออกเดินทางตอนกลางคืน ทำไมจึงไม่วางแผนการบินเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง โดยการบินอ้อม ไม่ต้องผ่านน่านฟ้าของปากีสถาน และก็บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงไปเสียให้เพียงพอ

กรณีนี้อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องวิเคราะห์ ข้อแรก การบินอ้อมคือการที่จะต้องลงใต้ ผ่านตะวันออกกลาง คือข้ามจากอินเดียตอนกลาง ผ่านมุมไบข้ามทะเลอาหรับ และอ่าวโอมานก่อนที่จะวกขึ้นไปอิหร่าน ผ่านอาเมเนีย หรือตุรกี ข้ามทะเลดำ เพื่อเข้ายุโรปตะวันออกทางโรมาเนีย หรือจากโอมานบินต่อเข้าไปที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน เลบานอน เข้าตุรกีเพื่อไปยุโรปตอนใต้อย่างโรม และมิลาน ประเทศอิตาลี และมาดริดของสเปน กรณีที่สองนี้ประเทศที่เคยใช้ระยะเวลาบินสั้นๆ อย่างสวีเดน และเดนมาร์ก จะต้องกลายเป็นต้องใช้เวลาบินยาวนานที่สุด เพราะอ้อมลงมาไกลเลย ส่วนลอนดอนและปารีส ที่ต้องบินไกลอยู่แล้ว ก็ต้องบินนานขึ้นไปอีก เส้นทางที่ผลกระทบน้อยกว่าที่อื่นๆ คือ มาดริด ที่ไม่ได้บินนานขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไหร่ และเดิมก็ถือว่าต้องบินนานมากที่สุดอยู่แล้วด้วย

การเปลี่ยนเส้นทางในลักษณะนี้ เรื่องที่จะต้องดำเนินการ คือ 1. การคำนวณอัตราการบรรทุกและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอหรือไม่ตามมาตรฐานการเดินอากาศ 2. อาจจะจำเป็นต้องเปลี่ยนแบบเครื่องบินในแต่ละจุดหมายเพื่อให้เหมาะสมกับเส้นทางและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

3. การขออนุญาตบินผ่าน หรือ Flying Permit ที่จะต้องมีพิธีการการเดินอากาศ ต้องมีการส่ง Flight Package ข้อมูลต่างๆ ของการบิน เครื่องบิน ไปยังน่านฟ้าที่เราจะต้องบินผ่านในเส้นทางทั้งหมดใหม่ เดิมน่าจะมีการข้ออนุญาตเอาไว้อยู่แล้ว แต่คราวนี้จะต้องขอและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางด้วย ปริมาณการจราจรในเส้นทางตะวันออกกลางเองก็แน่นอยู่แล้ว การที่จะได้ Slot เพื่อบินผ่าน จะต้องมีการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น จะรองรับเที่ยวบินเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน

4. การที่สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน ยังไม่รู้ว่าอินเดียจะประกาศปิดน่านฟ้าด้วยหรือไม่ หากมีการตอบโต้กันทางอากาศอย่างรุนแรง การปล่อยเครื่องบินออกไปบินในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง

สรุปว่า ต้องมีการบริหารจัดการหลายอย่างพร้อมๆ กันและยังมีความไม่แน่นอนไม่แน่ชัด ยังมีความเสี่ยงที่น่านฟ้าอื่นๆ อาจจะปิดด้วยหรือไม่ จึงเลือกที่จะไม่เสี่ยงดีกว่า ยกเลิกเที่ยวบินไปก่อนและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงดำเนินการประสานงานเพื่อเส้นทางบินต่างๆ ให้พร้อม จัดแผนการบินและเครื่องบินที่เหมาะสม แล้วค่อยพาผู้โดยสารเดินทางกันอย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย

ในอดีตเมื่อประมาณกว่าสิบปีเห็นจะได้ ตอนที่อเมริการบกับอัฟกานิสถาน ตอนนั้นแย่กว่านี้คือ ต้องบินขึ้นทางประเทศจีน ผ่านอูรุมชีบริเวณที่เป็นเขตปกครองตนเองอุยกูร์ (ไม่ยุ่งกับบนฟ้า) เพื่อวกเข้ายุโรปอีกที เส้นทางนั้นค่อนข้างลำบาก เป็นเทือกเขาสูงมากตลอดแนว จากรูปจะดูเหมือนใกล้ แต่เส้นทางนี้ไม่ใกล้ และไม่สะดวกเครื่องบินต้องมีแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์ มีข้อจำกัดหลายอย่าง

ส่วนที่คาดว่าจะบินปกติได้เมื่อไหร่ ต้องรอรบกันจนเสร็จเลยไหม รอบนี้ ถ้าไม่ปิดน่านฟ้าอินเดีย คงจะใช้เวลาไม่นานนักที่จะประเมินสถานการณ์ และวางแผนการบินเพื่อบินผ่านเส้นทางใหม่ข้างต้นครับ น่าจะวันสองวันก็คงเรียบร้อย (ถ้าไม่มีมูลเหตุอื่นๆ เข้ามาผสมด้วย) ผู้โดยสารก็ต้องทำใจเรื่องระยะเวลาในการเดินทางที่ต้องเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ถ้าต้องเสี่ยง ยังไงนักบินก็ไม่ขึ้นบินอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น