พระมาลาเบี่ยง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงของ้าวเจ้าพระยาสนพลพ่าย และพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง อนุสรณ์สำคัญในบรมราชานุภาพของสมเด็จพระมหาราช ซึ่งโด่งดังในประวัติศาสตร์ และได้เข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อๆมา แต่ได้สูญหายสิ้นไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๓๑๐ จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปูชนียวัตถุอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ก็ได้กลับมาสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมาจนถึงครั้งล่าสุดใน พ.ศ.๒๔๙๓
พระมาลาเบี่ยง คือพระมาลาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงครั้งทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อพระมหาอุปราชาได้ทีไสช้างเข้าชนช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรจนเสียหลัก จึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบ ของ้าวของพระมหาอุปราชาจึงตัดได้แค่ปีกพระมาลาหนังขาด พระมาลานั้นต่อมาจึงได้ชื่อว่าว่า พระมาลาเบี่ยง แต่พระมาลาองค์นี้ก็ได้สูญไปเมื่อครั้งกรุงแตก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้สร้างเลียนอย่างพระมาลาเบี่ยงองค์เดิม เพื่อเป็นเครื่องราชศิราภรณ์อนุสรณ์พระบรมเดชานุภาพในสมเด็จพระนเรศวร
พระมาลาเบี่ยงองค์ใหม่ ทำด้วยไม้ไผ่สาน ลงรักทั้งด้านในด้านนอกเป็นสีดำมัน มีปีกโดยรอบด้านในมีรังสานด้วยไม้ไผ่อย่างรังงอบที่ใช้สำหรับสวม ที่ขอบพระมาลาประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปางอภัยทานองค์หนึ่ง กับพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิอีก ๒๑ องค์ ทุกองค์ทำด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จึงโปรดให้นำมาประดับพระมาลานี้ภายหลัง
พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย เป็นอาวุธของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรถูกพระมหาอุปราชาฟันจนปีกพระมาลาขาดแล้ว เจ้าพระยาไชยานุภาพรวมกำลังสะบัดหลุด แล้วกลับได้ล่างดันพลายพัทกอเบนไป พระมหาอุปราชาทรงองค์เสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงทรงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ตัดไหลขวาจรดพระนาภี ซบลงคอช้างสิ้นพระชนม์
พระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรใช้ในยุทธหัตถีครั้งนี้ จึงได้ชื่อ เจ้าพระยาแสนพลพ่าย และหายไปในสมัยเสียกรุง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบองค์เดิมเช่นกัน
พระแสงดาบคาบค่าย ในตอนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงนั้น เป็นยุคที่กองทัพพม่าเกรียงไกรมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และเข้มแข็งยิ่งขึ้นในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง แต่กรุงศรีอยุธยาเหลือแต่เปลือกเมือง พม่ากวาดต้อนเอาไพร่พลตลอดจนอาวุธไปหมด ที่สำคัญคนไทยทั้งทหารไทยก็ยังกลัวพม่า ถ้ารบกันในสถานการณ์เช่นนั้นก็ไม่มีทางจะชนะพม่าได้ สมเด็จพระนเรศวรคงจึงทรงทำสงครามจิตวิทยาเรียกขวัญกำลังใจให้เหล่าทหารของพระองค์ได้เห็นว่าพม่าไม่มีความน่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อมีโอกาสเหมาะเมื่อใด พระองค์จะนำทหารหมู่หนึ่งออกไปปล้นค่ายพม่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน
ครั้งหนึ่งทรงนำทหารออกไปปล้นค่ายพม่า และปะทะกับกองกำลังที่ป้องกันค่าย ทรงไล่ฟันข้าศึกจนถอยร่นไปถึงค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง และเมื่อทรงตามไปถึงค่ายหลวงก็ทรงลงจากม้าพระที่นั่ง คาบพระแสงดาบคู่พระหัตถ์นำทหารขึ้นปีนค่ายหลวงของพม่าจนพระองค์ถูกแทงตกลงมา ทหารพม่าหน้าค่ายจึงกรูกันเข้ามา แต่พระองค์ก็นำทหารแหวกวงล้อมกลับสู่พระนครได้
จากนั้นขวัญกำลังใจของทหารไทยก็หมดความเกรงกลัวในทหารพม่า ขนาดค่ายหลวงของพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ดำยังนำทหารเพียงน้อยนิดไปปีนค่ายเย้ยได้ ฝ่ายที่เกรงกลัวข้าศึกจึงกลับเป็นฝ่ายทหารพม่า
พระแสงดาบที่ทรงคาบขึ้นปีนค่ายนี้ ได้ชื่อต่อมาว่า “พระแสงดาบคาบค่าย” แต่องค์เดิมสูญหายไปในสมัยเสียกรง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างขึ้นแทนองค์เดิม และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชพิธีสำคัญต่างๆตลอดมา
พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง เป็นพระแสงปืนที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ ในเหตุการณ์เมื่อพระเจ้านันทบุรง กษัตริย์แห่งพม่า ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ไม่ยอมขึ้นต่อหงสาวดีแล้ว อีกทั้งพระยาเกียรติพระยาราม ๒ พระยามอญที่ส่งไปเป็นไส้ศึก ก็แปรพักตร์ไปเข้าด้วยสมเด็จพระนเรศวร จึงให้ สุรกรรมา เป็นแม่ทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นทัพหลวง ยกพลติดตามมาทันที
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมาถึงแม่น้ำสะโตง ทรงเก็บเรือย่านนั้นทั้งหมด และผูกแพเร่งพาครอบครัวมอญที่ติดตามมาด้วย พร้อมไพร่พลช้างม้าข้ามฟาก พอเสร็จสิ้นก็ให้เผาทำลายเรือแพทั้งหมด และทรงให้นายทัพนายกองนำพระมหาเถรคันฉ่องและครัวมอญรีบล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์กับทหารตั้งรับอยู่ริมฝั่ง ไม่ให้กองทัพพม่าข้ามมาได้
เมื่อสุรกรรมาถึงฝั่งตรงข้าม ได้สั่งทหารระดมยิงด้วยปืนทุกชนิดที่มีมา ส่วนสมเด็จพระนเรศวรก็รับสั่งให้ทหารเอาปืนหามแล่น ปืนนกสับคาบชุด ระดมยิงตอบโต้ แต่แม่น้ำสะโตงช่วงนั้นกว้างเกินกว่ากำลังปืนทั้งสองฝ่ายจะข้ามไปถึง จึงไม่มีไพร่พลฝ่ายใดได้รับอันตราย สมเด็จพระนเรศวรทอดระเนตรดังนั้นจึงทรงพระแสงปืนนกสับยาว ๑ วา ๑ คืบ เล็งไปที่สุรกรรมาซึ่งใส่เสื้อแดงนั่งเด่นอยู่บนหลังช้างริมฝั่ง กระสุนปืนต้องสุรกรรมมาตายตกจากหลังช้าง ไพร่พลพม่าเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็เร่งถอยออกจากริมฝังแล้วยกทัพกลับไป
พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงนี้ก็สูญไปตอนเสียกรุงเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงขึ้นใหม่ เพื่อฟื้นคืนความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาลับมาหมด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของพสกนิกรทั้งหลาย จนรุ่งเรืองยิ่งขึ้นมาถึงวันนี้