xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงลึก "พอลล่า-ภรวรรณ" เจ้าของร้าน "Kanom" เลี้ยงลูกอย่างไรจนได้เป็น BNK48

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


MGR online เจาะใจ "พอลล่า-ภรวรรณ อภิธนาคุณ" ผู้บริหารสาวสวยแห่ง ร้าน Kanom ที่เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการเลี้ยงลูกในฐานะคุณแม่ลูกสาวทั้ง 3 คน โดยเฉพาะคนกลาง "จูเน่-เพลินพิชญา" ที่ตอนนี้กำลังโด่งดังกับบทบาทสมาชิกรุ่นที่ 2 ของวงไอดอลสาว BNK48 ส่วนคนโตก็มีดีกรีถึงเป็นนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เธอมีวิธีดูแลลูกๆ ในวัยไล่เรี่ยกันอย่างไร และด้านการทำธุรกิจในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ขนมแฟคตอรี่ (1999) จำกัด กับโจทย์ใหญ่เมื่อร้านขนมไม่ได้ขายแค่ขนม...

"ร้านเราอยู่มาตั้งแต่ปี 2542 คนไทยรู้จักกันในนามของทาร์ตไข่ ในอดีตก็เรียกกันว่า คานม แต่วันนี้เราเรียกชื่อว่า ขนม ก็เลยทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเรามีแต่ขนม ความจริงเราก็คือทาร์ตไข่เหมือนเดิม แต่ว่าเราก็พยายามที่จะเน้นสิ่งที่เราเก่ง ซึ่งก็คือของหวานประเภทพัฟทั้งหมด เรามีสูตรที่เป็นสูตรเฉพาะเรียกได้ว่าไม่มีใครเลียนแบบได้ เราก็สามารถทำให้ทุกคนอร่อยกับมันมาถึงทุกวันนี้ แต่ว่าการที่จะสื่อสารในเชิงธุรกิจให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นแค่ชื่อ ไม่ได้บอกว่าจะขายแต่ขนมเนี่ยมันเป็นโจทย์ที่ในเชิงธุรกิจก็ต้องทำการบ้านพอสมควร ต่อจากนี้ไปเราซึ่งเป็นทีมบริหารชุดใหม่ก็คงต้องพยายามสื่อสารให้เข้าใจว่า เราจะไม่ใช่แบบเดิมที่รู้จักอย่างเดียว ณ วันนี้จุดแข็งของเราคือ อาหาร ขนมปัง ครัวซอง และพายทุกประเภท ก็จะทำให้ดีขึ้น มั่นคงขึ้น"

แน่นอนว่าหลายคนไม่รู้ว่าร้านขนมบางสาขาก็มีอาหารขาย
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ในจำนวน 14 สาขาทั้งหมด จะมีขายอาหารจริงๆ อยู่แค่ 4 สาขา แต่เดิมคนที่จะรู้ก็เป็นเรื่องของการพูดต่อแบบปากต่อปาก และกลุ่มที่จะจำรสชาติได้ ซึ่งก็มีเมนูอาหารที่คนไทยคุ้นเคย เป็นเมนูง่ายๆ ที่แบบเหมือนแม่ทำให้ลูกทานในบ้าน เป็นรสชาติที่คนรุ่นนึงจะจำได้ว่าเคยทานที่บ้าน เราก็จะพยายามให้ลูกค้าคงความรู้สึกนั้นไว้ก่อน แต่ว่าอาจจะปรับปรุงหรือทำอะไรให้รู้สึกดีขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาจจะเป็นแนวฟิวเจอร์ ฟู้ด รูปลักษณ์อาจจะดูสากลมากขึ้น แต่ว่ารสชาติก็ยังให้รู้สึกเหมือนทานที่บ้าน

ถ้าพูดถึง "พอลล่า-ภรวรรณ" หลายคนก็ต้องนึกถึงภาพของนักธุรกิจหญิงเก่ง แต่ในมุมส่วนตัวนั้น ปัจจุบันเธอมีสถานะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่คอยเลี้ยงดูลูกสาวสวยทั้ง 3 คน
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ถ้าพูดถึงการเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ลูกสาวคนโต (แก้ม-พิมพัจฉรา โกมลารชุน) เป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนที่ 2 (จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน) เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ภาคอินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนคนที่ 3 (แพรวา-แพรรุจิรา โกมลารชุน) เรียนอยู่โรงเรียนมาแตร์ เดอี เราให้ลูกโตมาด้วยกัน เราเลี้ยงอย่างใกล้ชิดเพราะไม่มีพี่เลี้ยง เหมือนพยายามเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ทำให้ลูกเห็นความลำบากของแม่ตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเวลาที่แม่ไปทำงานก็จะต้องเอาลูกไปด้วย ถ้าไปไม่ได้ลูกก็รอออฟฟิศ รอแม่กลับมารับ จะไม่ทิ้งลูกอยู่บ้าน ลูกก็จะโตกับแม่ตั้งแต่คนโต

"คนโตนี่เขาเป็นสมองแบบมีตรรกะ เวลาที่คิดอะไรจะมีขั้นตอน เขาก็จะร่าเริง พูดเก่ง คนที่ 2 มีความเป็นศิลปินตั้งแต่เด็ก เขาจะนิ่ง เก็บข้อมูลและจะมีความคิดเป็นตัวของเขา พอเขาเริ่มโตขึ้นเราถึงจะเพิ่งรู้ว่านี่คือนิสัยของศิลปินที่จะมีโลกส่วนตัวสูง ส่วนคนที่ 3 เขาเกิดปีลิง เราก็จะชอบแซวว่าเป็นลิงเพราะพอโตขึ้นมาก็จะปีนป่ายเหมือนลิงเลย เราก็ปล่อยให้เขาเป็นลิง พอ ม.3 เด็กทุกคนก็จะเริ่มค้นหาตัวเอง และเจอตัวเอง เราก็ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นนะ ก็ไม่พยายามไปเปลี่ยนเขาหรือว่าต้องเหมือนพี่ 2 คน"


แล้วทั้ง 3 คนใครเหมือนแม่มากที่สุด?
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ทุกคนมีส่วนของแม่มานิดๆ หน่อยๆ อย่างคนโตก็มีสเต็ปการทำงานซึ่งคล้ายกับที่เราเคยสอน เราสอนลูกโดยใช้หลัก Monkey see Monkey do คือไม่พูดเยอะแต่ทำให้เห็น เพราะเราก็เหนื่อยด้วย ต้องทำงาน เลี้ยงลูกด้วย พี่เลี้ยงก็ไม่มี เราทำทุกอย่างให้เห็นลูกก็จะจำได้ว่าแม่ทำสเต็ปนี้ๆ พอเวลาไม่มีเราเขาก็ทำเหมือนเลย เพราะฉะนั้นเราก็จะเริ่มรู้ว่าเขาเก็บรายละเอียดของเรา ส่วนคนที่ 2 นี่ก็คนละโต่ง ไม่สังเกตอะไรทั้งสิ้น ลูกแต่ละคนก็จะมีเสาสัญญาณที่ไม่เหมือนกัน

อย่างลูกสาวคนรอง "จูเน่-เพลินพิชญา" ตอนเด็กๆ เป็นคนยังไง?
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ตอนเด็กๆ เราอุ้มเขาน้อยมากเพราะเป็นเด็กที่มีน้ำหนักเยอะมาก แต่ก็เป็นคนที่ทานอาหารยากมาก ตอนที่ท้อง "จูเน่" นี่จะกินไม่ได้เลย ต้องนั่งนอนและกินยาลดกรดตลอด พอออกมาก็จะกินอาหารยาก เพราะฉะนั้นก็จะดื่มนมเก่งมาก และทานได้แต่นมมานานมากเพราะกินอย่างอื่นก็พะอืดพะอม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ "จูเน่" ตัวสูง ทุกอย่างในตอนเด็กมันก็ทำให้เขาต้องระวังตัวในเรื่องการกิน และเนื้อตัวเพราะเมื่อก่อนเป็นคนเนื้อเยอะ และก็เป็นเด็กที่นั่งเฉยๆ เหมือนสังเกตอะไรบางอย่าง เป็นคนที่มี inner ค่อนข้างสูง เวลาโตขึ้นมาก็จะทำอะไรโดยใช้ความรู้สึกค่อนข้างเยอะ มันเหมือนคนที่มีอารมณ์ติสท์ อารมณ์ไม่มาก็ไม่ทำ

"แล้วก็เห็นในสิ่งที่เขาเขียนตั้งแต่สมัย ป.5 ก็จะมีรายงานอยู่ตัวนึงซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้ เขาเขียนไว้ว่าวันนึงเขาอยากเป็นใคร อยากทำอะไร เขาเขียนเลยว่าอยากเป็นนักเต้น นักร้อง นักแสดง ดารา นักธุรกิจ ตอนนี้สิ่งที่เขาได้เขามาแล้ว 4 อย่างเขาขาดนักธุรกิจ ก็ดูอยู่ว่าเขาจะได้เป็นหรือเปล่า"

อันนี้ต้องบอกว่ามันต้องมีผลจากการเลี้ยงลูกด้วยเพราะว่าถ้าสังเกตจากลูกคนโต (แก้ม-พิมพัจฉรา) ตอนที่อยู่อนุบาลแต่ก็สามารถบอกได้ว่าอยากจะเป็นหมอ จะไปรักษาเด็กบนดอย นี่คือสิ่งที่เขาพูดแล้วเราก็จำมาและไม่คิดว่าวันนี้เขาจะได้เป็นหมอและไปบนดอยจริงๆ คนนี้เรียนหนังสือเก่ง ตั้งแต่ ม.ต้น-ม.ปลาย เขาได้ทุนของโรงเรียน แม่ไม่เสียเงินค่าเทอมเลย แล้วก็ได้ทุนเอเอฟเอสเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี และก็กลับมาสอบหมอ แต่ว่าเขาเป็นโรคกระดูกสันหลังคด

"ตอนที่กลับมาจากสหรัฐฯ กระดูกก็ค่อนข้างโค้งเยอะและเริ่มเจ็บมาก แม่ก็เลยให้ผ่าเลย พอเขาผ่าก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเพราะยังเจ็บหลังวันที่ไปสอบเข้าหมอที่จุฬา ก็เลยทำให้สอบไม่ติด เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไรหรอกลูก ไม่ได้เรียนหมอก็เรียนอย่างอื่น เขาก็ไปหาจนเจอว่าจะไปเข้าโครงการนี้ จนติด 1 ใน 15 คนที่โครงการนี้รับ ก็ถือว่าได้ในสิ่งที่พูด คล้ายๆ กับที่ "จูเน่" เขียนตอนที่อยู่ ป.5 เราก็คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่เราไม่เคยไปกำหนดลูก เราสอนให้เขาคิดเอาเอง วิธีที่เขาคิดเอาเองได้ก็คือเห็นในสิ่งที่เราทำ ลูกทั้ง 3 คนนี่จะใกล้เคียงกับแม่คือการรักในอิสรภาพมากของตนเอง จะเชื่อในสิ่งที่เป็นธรรมชาติของตัวเองถ้าเราคิดว่าไม่อยากทำก็จะไม่ทำ แต่ถ้าคิดว่าอยากทำเราต้องทำ และทำให้ได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่มันถ่ายทอดมาถึงลูก เราคิดว่าเขาซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ"

จากลูกสาวคนรองสู่ "จูเน่ BNK48" รุ่นที่ 2
"พอลล่า-ภรวรรณ" : วันที่รู้เรื่องว่าลูกไปสมัครคือเขามาบอกว่าให้แม่ไปเป็นเพื่อนเพราะเขาจะต้องขอพบผู้ปกครอง ตอนนั้นยังไม่รู้จัก BNK48 พอไปถึงก็ค่อยๆ ถามเขาแล้วปะติดปะต่อข้อมูลก็ได้รู้ว่าเขาถูกเลือกมาจนเหลือ 90 คน เลยเรียกผู้ปกครองมาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าต่อจากนี้จะคัดเหลือ 20 กว่าคนใครที่ผ่านจะต้องเซ็นสัญญา ก็เลยอยากให้รู้ว่า BNK48 คืออะไร จะดูแลแบบนี้ มีกฏกติกาอย่างนี้ รับได้ไหม ซึ่งเราก็ไม่ได้ห้าม ให้ลูกตัดสินใจเอง

"วันที่ประกาศนี่ก็ทำให้พ่อแม่ตื่นเต้นไปด้วย คือจริงๆ เราเป็นคนที่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร รอปลอบลูกอยู่แล้ว ปรากฏว่าพอเขาได้เราก็แบบ จริงเหรอเนี่ย 20 กว่าคนเข้าไปได้ยังไง เขาคัดจากอะไร ก็สงสัยอยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เคยถามว่าทำไมลูกได้ เพราะรู้ว่าก็จะไม่ตอบหรอก จากนั้นทาง BNK48 ก็ให้ดูสัญญา เราก็บอกว่าสาระสำคัญมีแค่นี้ แม่เซ็นให้เอาวางไว้แล้ว ที่เหลือคือหนูคิดเอาเองว่าจะไปยื่นหรือไม่ การที่ลูกจะต้องเลือกก็ต้องดูว่าพร้อมมั้ย มันคือตัวหนูมั้ย เพราะจะต้องไปซ้อมเยอะ จะต้องไม่มีชีวิตส่วนตัวมาก จะต้องเป็นคนของแฟนคลับ เขาก็มีช่วงตัดสินใจ เราก็เห็นมุมที่เขาคิด แต่ว่าไม่พูดออกมา สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะไปต่อ"

ซึ่งคุณแม่ก็โอเค?
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ต้องบอกว่า BNK48 มาในช่วงเวลาที่ดีมาก เพราะความเป็นศิลปินของเขาถ้ารอให้แม่ส่งเสริมเองมันไปไม่ได้หรอก เพราะว่าเราคนละเส้นทาง เราไม่ใช่นักแสดง ไม่ใช่ศิลปิน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มี BNK48 จูเน่ก็อาจจะไม่ได้แสดงผลงานของตัวเองเลย ก็ต้องขอบคุณทาง BNK48 ด้วย และ BNK48 ก็มีกฏกติกาค่อนข้างเยอะ มันก็ดีต่อตัวเด็ก ทำให้เด็กดูมีค่า เราก็ไม่ได้ค้านอะไรเพราะสุดท้ายลูกเซ็นสัญญาแม่ก็ต้องเลี้ยงลูกอยู่ดี เราก็บอกว่ามันเป็นเส้นทางที่น่าจะเป็นโบนัสสำหรับชีวิตมากกว่าเพราะว่านึกถึงวัยเรียนก็ไม่น่าจะได้ทำงาน แต่กลายเป็นวัยเรียนที่ได้ทำงาน ก็ถือว่าชีวิตเขาเป็นโบนัส

"เราก็มีแต่สอนเขาว่าถ้าในชีวิตที่ต้องทำงานด้วย เรียนไปด้วย พยายามประคองทุกอย่างให้ผ่านนะ ไม่ได้แปลว่าจะเป็น BNK48 จนกระทั่งไม่ได้เรียนหนังสือ หรือจะเรียนอย่างเดียวโดยไม่เป็น BNK48 วันนี้ก็จะเป็นวันที่เขาต้องผ่านอะไรยากเย็นมากเพราะว่า นึกถึงความลำบากที่ต้องทั้งเรียน ทั้งซ้อม ทั้งการแสดง ความกดดันเยอะๆ ที่เด็กคนนึงในวัยนี้มีมันก็เยอะกว่าคุณแม่ในสมัยที่อายุเท่ากัน ก็บอกเขาว่าเป็นความโชคดีที่มาถึงจุดนี้ในวัยที่คนอื่นยังไปไม่ถึงก็ให้เขาประคองไป"

ความคาดหวังในตัว "จูเน่-เพลินพิชญา"
"พอลล่า-ภรวรรณ" : ถึงวันนี้เราก็ต้องบอกว่า เราดีใจที่เขาได้เป็นตัวของเขา ได้ทำและได้ในสิ่งที่เขียนเอาไว้ คนๆ นึงจะสามารถรู้จักตัวเองและไปถึงจุดที่ตัวเองคิดเอาไว้ตั้งแต่เด็ก มันยากมากนะ คนๆ นึงที่จะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ยังมีคนอีกหลายคนที่อายุ 40-50 ปี ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองคือใคร ตัวตนคืออะไร เราก็ถือว่า ณ จุดนี้เราเลี้ยงลูกมาได้ดีเพราะทำให้รู้ว่าเขามีจุดที่นี่คือตัวเขา และได้ทำในสิ่งที่อยากทำโดยที่เราไม่ได้ไปกำหนด ไปตีกรอบอะไรทั้งสิ้น ก็เลยเหมือนเป็นคนเลี้ยงลูกแบบตามใจ แต่จริงๆ ไม่ได้ตามใจ เป็นคนมีกรอบให้ลูกแต่มันอาจจะไม่ได้แคบ มันกว้างนิดนึงให้ลูกคิดตัดสินใจเอง

"วิธีที่เขาจะตัดสินใจอะไรเราสอนให้ตั้งแต่เล็กๆ แล้วว่า ให้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และพยายามสอนให้คิด แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่เขา เราเป็นแม่เรามีหน้าที่ดูว่า ลูกอยู่ปากเหวหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับเขามากให้เขาคิดเอง แต่ถ้าลูกอยู่ปากเหวเราก็ต้องเตือน แต่ ณ วันนี้ก็ถือว่าเขาไม่ได้อยู่ปากเหว เขาก็มีหน้าที่ในการเดินทางของเขาต่อ ในขณะที่แม่ก็มีหน้าที่ดูว่าถ้าอะไรเป็นอันตราย อะไรที่เราคิดว่าลูกคนนึงยังต้องเป็นกังวลเรื่องอะไรเราก็จะเตรียมส่วนนั้นไว้ให้เขาและก็อยู่ตรงนั้น แค่นั้นเอง"



เรื่อง : ดรงค์ ฤทธิปัญญา
ภาพนิ่ง : นิชาภา สิงคูบอน , ภูสุดา พินชนะ
ภาพเคลื่อนไหว , ตัดต่อ : ดรงค์ ฤทธิปัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น