ศึกวิวาทะพาราควอต "นักวิทย์เซเล็บ" บอกใช้ดี ราคาประหยัด ประเทศที่แบนเพราะมีคนเอาไปใช้ฆ่าตัวตาย ถามจะให้เกษตรกรเอาอะไรไปฆ่าหญ้า ด้าน "ไบโอไทย" ฝ่ายต้านยก 7 ประเด็น ชี้ประสิทธิภาพพาราควอตได้แค่สัปดาห์แรก แถมแพงกว่าตัวอื่น ส่วนใหญ่ที่แบนเพราะค่าความเป็นพิษสูง ตกค้างในดินยาวนาน ชี้ไม่ควรให้เกษตรกรตัดสินใจฝ่ายเดียว เพราะผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมต้องรับกรรมไปด้วย
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า พาราควอต เป็นยาฆ่าหญ้าที่มีประสิทธิภาพดีมาก ราคาประหยัด สลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี ขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นพิษสูง เมื่อใช้ในความเข้มข้นสูง จึงเกิดปัญหาที่คนนำพาราควอตไปใช้ฆ่าตัวตาย กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บางประเทศยกเลิกการใช้ ขณะที่ประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอต ก็จะหามาตรการความปลอดภัยในการใช้ เช่น การเจือจางก่อนบรรจุขาย การอบรมก่อนใช้อย่างเข้มงวด รวมถึงการขายให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น จึงเห็นว่าการยกเลิกใช้พาราควอตกำจัดศัตรูพืช จะบีบให้เกษตรกรไปใช้สารกำจัดศัตรูพืชตัวอื่นที่อันตรายเช่นกัน และมีราคาแพงกว่า
ส่วนเรื่องสารตกค้างในอาหารนั้น รศ.ดร.เจษฎา เห็นว่า เกษตรกรไม่เอามาฉีดลงบนพืชโดยตรงในช่วงเก็บเกี่ยว แต่จะใช้ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่แรก หรือใช้ฉีดตอนที่มีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นตามรอบโคนต้น เช่น อ้อยหรือพืชไร่อื่นๆ ส่วนประเทศที่ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ทางออกหนึ่งก็คือ ให้ไปใช้ยาฆ่าหญ้าที่พิษน้อยกว่า คือ ไกลโฟเสต ซึ่งความเป็นพิษน้อยกว่าเกลือแกง ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ความสามารถในการฆ่าหญ้าจะเป็นแบบดูดซึมเข้าไปแล้วพืชค่อยๆ ตาย ไม่ใช่แบบที่ใบไหม้เหมือนพาราควอต อีกทั้งไกลโฟเสทไม่ได้อันตรายและไม่ได้ก่อมะเร็ง แต่มีกลุ่มงาน IARC ขององค์การอนามัยโลก บอกว่า ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าถ้าให้เป็นปริมาณมากมันอาจจะก่อมะเร็งได้ จึงกลายเป็นประเด็นโจมตี
รศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยจะเลิกใช้ทั้งพาราควอต และไกลโฟเสท ตามที่กลุ่มเอ็นจีโอเรียกร้อง จะให้เกษตรกรใช้สารอะไรในการฆ่าหญ้า ซึ่งเป็นการผลักภาระเรื่องค่าใช้จ่ายไปให้เกษตรกรที่ยากจนอยู่แล้ว ต้องยากจนหนักขึ้นไปอีกอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้พ่อค้าสารเคมีได้กำไรมากขึ้น จากการไปขายสารตัวอื่นที่ไม่ถูกแบนและมีราคาแพง ส่วนเรื่องที่มีการฟ้องศาลในสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า ยาฆ่าหญ้าเครื่องหมายการค้า "ราวน์อัพ" ของบริษัท มอนซานโต้ ทำให้เกษตรกรเป็นมะเร็งนั้น คดีนี้ใช้ระบบศาลลูกขุนของอเมริกา และเชื่อว่าทางบริษัท มอนซานโต้ ไม่ได้พูดถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จึงตัดสินให้ผิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง จึงเห็นว่าควรจะเอาเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้โดยตรง เป็นคนตัดสินเรื่องนี้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (21 ก.พ.) มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ได้ออกมาตอบโต้ข้อเขียนของ รศ.ดร.เจษฎา รวม 7 ประเด็น ระบุว่า ข้อมูลในข้อเขียนดังกล่าวบางส่วนผิดพลาด บางส่วนคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงชี้แจงว่า คำกล่าวที่ว่า พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีมาก ไม่เป็นความจริง เพราะการวัดประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่ได้วัดจากการฉีดพ่นแล้ววัชพืชแห้งตายไปโดยเร็ว แต่ในทางวิชาการนั้น วัดจากปริมาณของวัชพืชที่แห้งตาย (Dry weight) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาการฉีดพ่น (WAT หรือ Weeks after the treatment) ซึ่งพาราควอตอาจทำให้วัชพืชแห้งตายภายในสัปดาห์แรก แต่ประสิทธิภาพลดลงในสัปดาห์ถัดไป ดังนั้น ประสิทธิภาพของพาราควอตจึงไม่ดีเท่าสารอื่นๆ อีกหลายชนิด
ส่วนคำกล่าวที่ว่า พาราควอตมีราคาประหยัดมาก ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันราคานำเข้าของสารออกฤทธิ์พาราควอต สูงกว่าสารอื่นๆ ทั้งหมด ในสารเคมีกำจัดวัชพืชที่นำเข้ามากที่สุด 7 ชนิด โดยพบว่าข้อมูลการนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตรในปี 2560 สารออกฤทธิ์พาราควอตมีราคาสูงถึง 222.47 บาทต่อกิโลกรัม มากกว่าไกลโฟเซต ราคา 108.20 บาทต่อกิโลกรัม และ 2,4-ดี ที่มีราคานำเข้า 74.67 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากวัดถึงความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชเปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายต่อไร่ก็ไม่ใช่ข้อสรุปทั่วไป ซึ่งเคยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย 3 แห่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่า พาราควอตมีความคุ้มค่าน้อยที่สุดในการกำจัดวัชพืชในสวนปาล์ม เมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีอื่นอีก 2 ชนิด ซึ่งนิยมใช้ในสวนปาล์มและยางพารา
ขณะที่คำกล่าวที่ว่า ประเทศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต มักจะใช้สาเหตุของการที่กลัวคนเอาไปฆ่าตัวตาย ไม่เป็นความจริง เพราะจากการสำรวจเหตุผลที่มีการแบนพาราควอต 51 ประเทศทั่วโลก พบว่าเหตุผลใหญ่ในการใช้เป็นเหตุผลการแบน เนื่องจากความเป็นพิษสูง ที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้งาน และมีผลต่อสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเหตุผลในการแบน 30% เพราะเหตุผลว่าก่อโรคพาร์กินสัน และมีประเทศต่างๆ เพียง 3% เท่านั้นที่อ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการนำไปใช้การฆ่าตัวตาย
ส่วนคำกล่าวที่ว่า พาราควอตสามารถสลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี ไม่เป็นความจริง เพราะพาราควอตสามารถตกค้างในดินประเภทต่างๆ อย่างยาวนาน ฐานข้อมูลของ EXTOXNET ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า “พาราควอตต้านทานต่อการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์และแสงอาทิตย์ ตกค้างยาวนาน โดยครึ่งชีวิตของพาราควอตมีระยะเวลาตั้งแต่ 16 เดือน (ในห้องทดลอง) จนถึง 13 ปีในพื้นที่จริง” ในขณะที่ EPA แคลิฟอร์เนียระบุว่า “การย่อยสลายทางเคมี แสงอาทิตย์ และจุลินทรีย์นั้นเป็นกระบวนการที่ “extremely slow” มีงานวิจัยชั้นหลังอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าพาราควอต สามารถตกค้างได้นานกว่านั้นหลายเท่า หากพาราควอตย่อยสลายได้ดี ย่อมเป็นไปได้ยากที่พบการตกค้างในสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบการตกค้างเกินมาตรฐานในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดบริเวณใกล้พื้นที่ฉีดพ่น รวมทั้งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบการตกค้างในขี้เทาของทารกแรกคลอดสูงถึง 54.7%
ขณะที่คำกล่าวที่ว่า มีประเทศที่ยังใช้พาราควอตมากมายทั่วโลก เป็นคำกล่าวที่ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง เนื่องจากประเทศที่กล่าวอ้างส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา และมีการนับประเทศเล็กๆ หรือรัฐเล็กๆรวมอยู่ด้วยเพื่อให้มีตัวเลขจำนวนมาก และที่สำคัญไม่ได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศจำนวนมากที่มีกฎหมายอ่อนแอ หลายสิบประเทศในจำนวนนั้นมีการอนุญาตให้ใช้แต่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวดมาก เช่น ในบราซิลอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องใช้เครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตาม ANVISA องค์กรด้านสุขภาพของรัฐบาลบราซิลยังเห็นว่าไม่ปลอดภัยเพียงพอ และดำเนินการเพื่อให้มีการยุติการใช้ในปี 2020 นี้ เป็นต้น
ส่วนคำกล่าวที่ว่า ไกลโฟเซตมีพิษต่ำ มีพิษน้อยกว่าเกลือแกง เป็นคำกล่าวที่ขาดความเข้าใจ เพราะพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แบ่งออกได้ 2 แบบ คือ พิษเฉียบพลัน (acute toxicity) และพิษเรื้อรัง (chronic toxicity) ไกลโฟเซตมีพิษต่ำหากวัดจากปริมาณการกินทางปาก เมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอื่น แต่มีพิษเรื้อรัง โดยเฉพาะจากงานศึกษาของ IARC ขององค์การอนามัยโลก ที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A ทั้งนี้ไม่นับโรคอีกหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กับสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงชนิดนี้ อีกทั้ง คำกล่าวที่ว่า "ไกลโฟเซตมีพิษต่ำกว่าเกลือแกง" เคยเป็นคำโฆษณาของบริษัท มอนซานโต้ ขณะนี้ถูกถอดออกไปแล้ว แต่มีเกษตรกรจำนวนมากได้ยกคำโฆษณาดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีต่อบริษัทดังกล่าว
นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ว่า การคัดค้านการแบนพาราควอต โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นคำกล่าวที่ไม่เข้าใจกระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย ที่ต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคม ภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายมีข้อมูลและเหตุผลครบถ้วน เพราะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของผู้บริโภค ปัญหาภาระของระบบบริการสุขภาพ และปัญหาของสิ่งแวดล้อม โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดกับเกษตรกรเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กับผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวประกอบกัน ซึ่งในกรณีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรจากทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ มีคำแถลงส่งถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวแล้ว ในขณะที่แกนนำกลุ่มที่สนับสนุน เช่น “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” กลับเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นและดำเนินการโดยสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช