xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลังมุสลิมใช้ขบวนแห่ศาสนาบังหน้า! ถล่มปืนใหญ่ชิงราชบัลลังก์ให้สมเด็จพระนารายณ์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเครื่องแบบเปอร์เซีย ในรูปที่ฝรั่งเขียน
ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราว พ.ศ.๒๑๔๓ มีพ่อค้าสองพี่น้อง เป็นชาวเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน ชื่อ เฉกอะหมัด และ มหะหมัดสอิด แล่นสำเภานำสินค้าเข้ามาขายยังกรุงศรีอยุธยา เฉกอะหมัด ผู้พี่ ได้ปักหลักตั้งร้านค้าขึ้นในกรุงศรีอยุธยา และได้แต่งงานกับสาวไทยชื่อ เชย มีบุตรด้วยกัน ๓ คน ส่วนมหะหมัดสะอิด ผู้น้อง อยู่ค้าขายในกรุงศรีอยุธยาได้พักเดียว ก็กลับไปเปอร์เซีย บ้านเกิด

การค้าของกรุงศรีอยุธยายามนั้นรุ่งเรืองมาก เพราะพระเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรขจรไกลหลังทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนในประเทศของตนได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกันมาก หลายชาติได้นำสินค้าข้ามาค้าขายกันคึกคัก ท่าเรือของกรุงศรีอยุธยาจึงเนืองแน่นไปด้วยสำเภา ทำให้เกิดปัญหาเพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้กันนัก เจ้าพระยาพระคลังจึงขอให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้ามาหลายประเทศเข้าช่วย ท่านเฉกอะหมัดเข้าจัดระเบียบการท่าและการเก็บภาษีเสียใหม่ ทำให้มีเงินเข้าพระคลังเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพระคลังเสียชีวิต พระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดเกล้าฯให้ท่านเฉกอะหมัดเข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมท่าขวา มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯให้เป็น จุฬาราชมนตรี และพระราชทานที่ดินตำบลท้ายคูให้ตามที่ทูลขอ ซึ่งท่านได้สร้างบ้านเรือนเป็นหมู่ใหญ่ เป็นที่อยู่ของผู้ที่ติดตามมาจากเปอร์เซีย สร้างสุเหร่ากระดีย์เจ้าเซ็นใหญ่โตรโหฐาน และสร้างป่าช้าขึ้นในบริเวณนี้ด้วย

ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมนี้ ปรากฏว่าญี่ปุ่นราว ๕๐๐ คนที่เข้ามาในฐานะพ่อค้า ได้แสดงตัวเป็นซามูไรเข้าล้อมพระราชวังจับพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายไทยไม่ทันระวังตัวจึงเสียท่า แต่พระยามหาอำมาตย์ไม่ยอมแพ้ เมื่อเห็นว่ากำลังของตนน้อยกว่าคงสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ จึงไปขอความช่วยเหลือจากท่านเฉกอะหมัด จากนั้นกองกำลังผสมไทยกับเปอร์เซียที่คนไทยเรียกกันว่า “แขกมะหง่น” ก็เข้าลุยจนเหล่าซามูไรต้องถอยร่นลงสำเภาแล้วชักใบหนีออกทะเลไป

ความดีความชอบครั้งนี้ พระยามหาอำมาตย์ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้ ส่วนท่านเฉกอะหมัดได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณคนละครึ่งประเทศ ตามระบบการปกรองสมัยนั้น

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๗๓ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ สหายผู้ร่วมตะลุยซามูไรของท่านเฉกอะหมัด ได้เข้ายึดอำนาจปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งขณะนั้นท่านเฉกอะหมัดอยู่ในวัย ๘๗ ปีแล้วและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็ยังคงรับราชการอยู่ในตำแหน่งสมุหนายก พระเจ้าปราสาททองมีพระราชประสงค์จะให้พักผ่อน จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมหมาดไทย มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และได้โปรดเกล้าฯให้บุตรชายคนโตของท่านที่ชื่อ ชื่น ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวรเชษฐ์ อายุเพียง ๓๐ ปี เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาอภัยราชา สืบตำแหน่งสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือแทนบิดา

ท่านเฉกอะหมัดเข้ารับตำแหน่งเจ้าพระยาบวรราชนายกได้เพียงปีเดียวก็ป่วยหนัก เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จมาเยี่ยมไข้ ท่านเฉกอะหมัดก็กราบทูลเป็นครั้งสุดท้าย ฝากธิดาที่ชื่อ ชีไว้ด้วย ซึ่งพระเจ้าปราสาททองก็ทรงรับไว้เป็นพระสนม

ท่านเฉกอะหมัดถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๑๗๔ ศพฝังไว้ที่ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

ส่วนท่านมหะหมัดสะอิด ผู้น้องชายที่กลับไปบ้านเกิด ก็ตั้งห้างค้าขายรุ่งเรืองมาก ได้เล่าให้บุตรชายคนเดียวที่ชื่อ อากามหะหมัด ทราบว่า มีลุงและญาติพี่น้องอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อท่านมหะหมัดสะอิดเสียชีวิตแล้ว อากามหะหมัดจึงได้ขายมรดกนำทรัพย์สินทั้งหมดลงสำเภาเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา อาศัยอยู่กับพระยาอภัยราชา (ชื่น) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ต่อมาจึงสร้างบ้านขึ้นที่ใกล้วัดอำแม เป็นตึกหลายหลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ นอกกำแพงแก้วก็สร้างเรือนให้เป็นที่อยู่ของบริวารล้อมรอบ ชาวบ้านเรียกหมู่บ้านมุสลิมแห่งนี้ว่า บ้านแขกกะฎีใหญ่ อากามหะหมัดจึงได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำชุมชนชาวเปอร์เซียในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ได้ทูลขอน้องสาวคือ ท่านชี ต่อสมเด็จพระนารายณ์ให้กลับมาอยู่บ้าน และได้แต่งงานกับอากามหะหมัด

เมื่อครั้งที่พระยามหาอำมาตย์ร่วมกับพระเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีร่วมกันนำกำลังขับไล่ซามูไรญี่ปุ่นให้แตกกระเจิงออกไป แก้วิกฤติของชาติไว้ได้ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาด้วยกันทั้งคู่นั้น ทั้งสองท่านก็คงจะรักใคร่สนิทสนมกันมาก ทั้งตัวเองจนถึงชั้นลูกด้วย จึงมีข้อมูลว่าสมเด็จพระนารายณ์ในวัยเยาว์ มักจะไปสมาคมอยู่กินกับชุมชนเปอร์เซียเสมอ จนทรงคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมของชาวเปอร์เซียเป็นอย่างดี

เมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคตโดยไม่ทรงตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาทไว้ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระเชษฐาของสมเด็จพระนารายณ์จึงนำกำลังเข้าล้อมวัง แล้วขึ้นครองราชย์แทน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลจะได้ขึ้นครองราชย์ จึงร่วมกับสมเด็จพระนารายณ์เข้าชิงอำนาจมาได้ แต่พระศรีสุธรรมราชาซึ่งพระเจ้าปราสาททองเคยรับสั่งว่า “เป็นคนกักขฬะ” ครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือนเศษ ก็คิดไม่ดี รับสั่งให้พระราชกัลยาณี พระกนิษฐาผู้เลอโฉมของสมเด็จพระนารายณ์ ให้ขึ้นไปหาบนพระที่ พระราชกัลยาณีจึงหนีกลับพระตำหนักและแจ้งให้พระนมทราบ พระนมจึงให้พระราชกัลยาณีเข้าซ่อนในตู้หนังสือ แล้วให้คนหามไปวังหน้า พอไปถึงพระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าเฝ้าพระเชษฐา ทรงกรรแสงทูลให้ทราบเหตุ

พงศาวดารไทยกล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพิโรธ จึงนำกำลังวังหน้าบุกวังหลวงในทันที แต่ในหนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ที่อาลักษณ์ชาวเปอร์เซียผู้เดินทางเข้ามากับคณะทูตในขณะนั้น ได้บันทึกไว้ว่าไม่ได้ง่ายๆอย่างนั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงวางแผนอย่างแยบยลในการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยให้ทหารของพระองค์แทรกเข้าไปในขบวนแห่ “พิธีตะเซยัต” ของมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ประจำปีของชาวชีอะห์ มีการแห่เป็นขบวนทัพ จำลองเหตุการณ์ในการพลีชีพในสงครามศาสนาของอิหม่ามมหุสัยน์ และขอพระบรมราชานุญาตนำขบวนแห่ให้ทอดพระเนตรในวังหลวงด้วย

มื่อเข้าวังได้แล้ว กองกำลังของสมเด็จพระนารายณ์ และแน่นอนว่าต้องมีกองกำลังของอากามหะหมัดด้วย ได้กระจายกันออกยึดคลังอาวุธในพระราชวังรวมทั้งปืนใหญ่ไว้ได้ทุกจุด เมื่อการต่อสู้อย่างดุเดือดได้เริ่มขึ้น อาวุธเผด็จศึกในการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือปืนใหญ่ที่ถล่มฝ่ายวังหลวงจนกระเจิง และขณะที่ชาวเปอร์เซียยิงปืนใหญ่นั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จมาร่วมด้วย ทั้งส่งพระสุรเสียงดังว่า “ข้าแด่ท่านอาลี” ซึ่งอิหม่ามอาลีก็คือบุตรเขยของท่านนบีมหะหมัด และเป็นบิดาของอิหม่ามมหุสัยน์ การยึดอำนาจชิงราชบัลลังก์จึงสำเร็จเรียบร้อย ขณะที่สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือน ๑๗ วัน

อากามหะหมัดได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็น พระยาศรีนวรัตน์ และบุตรชาย ๒ คนที่เกิดจากท่านชียังได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ขณะที่คนโตชื่อ ยี อายุ ๒๒ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอนุรักษ์ราชา คนเล็กชื่อ แก้ว อายุ ๒๐ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็น หลวงศรียศ ทั้งสองเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ ราษฎรพากันเกรงบารมี เรียกกันว่า “เจ้าคุณใหญ่” และ “เจ้าคุณน้อย” ทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ต่อมาพระอนุรักษ์ราชาได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรี หลวงศรียศ เป็น จุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา

สายสกุลของท่านอากามหะหมัด ได้ขาดหายไปแต่เพียงเท่านี้ ไม่ปรากฏเรื่องราวต่อ ส่วนสายสกุลท่านเฉกอะหมัด ได้สืบสายต่อมากว่าสิบๆสกุลทั้งพุทธและอิสลาม

นี่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของชาวเปอร์เซียในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินอินเตอร์ มีขุนนางหลายเชื้อชาติ ไม่ได้มีแต่ชาวกรีกอย่างเจ้าพระยาวิชเยนทร์เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น