ในระบบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราช ศูนย์อำนาจรวมอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว แต่ระบบราชการในยุคนั้นก็มีความเด็ดขาด และถือเอาความสงบสุขของบ้านเมืองเป็นสำคัญ อย่างคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น หากไม่สามารถจับผู้ร้ายมาลงโทษได้โดยเร็ว เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จนถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ แม้จะเป็นถึงพระเจ้าน้องยาเธอก็ต้องไปด้วย
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงเล่าไว้ใน “เรื่องอำแดงเทียบ” ว่า ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบ้านปืน เมืองเพชรบุรีเสมอ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงเสด็จประทับที่พลับพลาไม้ริมแม่น้ำ พระองค์หญิงพูนพิศมัยได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาผู้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปด้วย ซึ่งเสด็จพ่อได้โปรดให้พวกนายตำรวจภูธรสอนให้พระองค์หญิงและน้องๆได้หัดขี่ม้าทุกเช้า
เช้าวันหนึ่งในปี ๒๔๕๒ ได้ออกไปขี่ม้ากันตามเคยจนถึงเขาบันไดอิฐ แล้วลงจากหลังม้าปีนขึ้นไปเที่ยวบนเขาอยู่นาน พอกลับวิ่งลงเขามาถึงเชิงเขา เห็นบรรดาน้องๆหน้าซีดเป็นกระดาษ ตะโกนบอกว่า
“คนหัวขาดๆอยู่ตรงนั้นแน่ะ”
บางคนก็วิ่งตามมือชี้ไปดู แต่พระองค์หญิงพูนวิ่งไม่ออก ใจเต้นตูมๆ ต้องนั่งแปะอยู่กับที่ จนพวกตำรวจที่ไปตรวจกลับมา จึงพากันกลับไปรายงานสมเด็จฯเสนาบดี คืนนั้นพวกที่ไปดูมาซึ่งอายุไม่เกิน ๑๒-๑๓ ปีก็พากันนอนละเมอกันอึงคะนึง ตอนเช้าก็ไม่ได้ออกไปขี่ม้าอีก เพราะตำรวจที่เป็นครูต่างหายหน้าไปหมด ทั้งยังมีคนมาสั่งว่า
“ถ้าพบครูที่ไหนในหมู่นี้ ไม่ต้องทักไม่ต้องรู้จักนะ” ซึ่งก็ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไม
พอตอนสาย สมเด็จฯเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็พระพักตร์บึ้ง ตรัสกับเจ้าเมืองเพชรบุรีว่า
“ถ้าไม่ได้ใน ๗ วันนี้ เราต้องออกหมด เพราะเห็นแล้วว่าเราไม่มีความสามารถจะปกครองได้ ฉันจะสั่งปลดนายตำรวจ เจ้าเมืองเทศา แล้วฉันก็จะกราบถวายบังคมลาออกด้วย”
จากนั้นก็ไม่มีใครยิ้มแย้ม ทุกคนอยู่ในอาการเครียด แต่ก็มีคนมาเฝ้าเสด็จในกรมฯ เข้าออกบ่อยๆ เป็นที่รู้กันว่ากำลังตามจับผู้ร้ายกันอยู่
พอถึงวันที่ ๖ ก็ได้ตัวฆาตกร เพราะรู้ว่าผู้ตายคือนายคุ่ย เป็นชู้รักของอำแดงเทียบ แต่อำแดงเทียบโกรธว่านายคุ่ยจะไปแต่งงานกับหญิงสาว จึงให้นายแดงผู้เป็นหลานไปตีกระบาลให้หายแค้น เผอิญนายคุ่ยเกิดสู้ นายแดงหนุ่มกว่าเลยตีหนักไปหน่อยจนตาย แต่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วก็เกรงว่าจะถูกจับได้ เลยตัดหัวผู้ตายไปฝังไว้อีกแห่ง
เมื่อตำรวจสืบจนได้เรื่องถึงตัวนายแดง จึงเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพเพื่อโทษจะได้เบาลง นายแดงก็รับสารภาพแล้วพาไปขุดหัวนายคุ่ย
พอรู้ว่าจับผู้ร้ายได้โดยเร็ว ก็ไม่มีใครเชื่อ หาว่าเจ้าพนักงานสมรู้กันหาแพะมาสารภาพแทน เสนาบดีมหาดไทยจึงต้องทรงขอให้ศาลมีการไต่สวนคดีนี้เป็นพิเศษโดยเปิดเผย ให้ผู้สงสัยเสนอข้อท้วงติงได้ จึงเป็นคดีที่มีคนแน่นศาลทุกครั้งที่มีการพิจารณา
เรื่องนี้พิจารณากันได้ไม่ยาก ถ้าเอาคนอื่นมาเป็นแพะ ก็คงไม่รู้ว่าหัวนายคุ่ยถูกฝังไว้ที่ไหน และเมื่อนายแดงรับแล้ว อำแดงเทียบก็ยอมรับสารภาพอีกคน จึงเป็นอันว่าถูกจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองคน
ท่านหญิงพูนพิสมัยเล่าต่อไปว่า พวกเด็กๆอยากเห็นยายเทียบเป็นกำลัง จึงอ้อนวอนผู้ใหญ่ให้พาไปดูที่ศาลจนได้ในวันหนึ่ง พอเห็นแล้วต่างก็ร้องว่า พิโธ่! กันทุกคน เพราะนึกว่าเป็นสาวสวย ที่แท้ก็อายุ ๓๐-๔๐ แล้ว หน้าตาก็ไม่สวย ซ้ำฟันยังเขยิน ใครไปดูต่างก็ซักเรื่องราวกับแกทุกคน จนยายเทียบเห็นใครเข้าไปหา ก็เล่าเรื่องของตัวเองอย่างคล่องโดยไม่ต้องถาม
เสร็จการพิจารณาพิพากษา นักโทษทั้ง ๒ ก็ถูกส่งตัวไปไว้ที่คุกราชบุรี พวกครูม้าของพระองค์หญิงก็สิ้นเคราะห์ที่ถูกสงสัยกันไป