ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่คนต่างชาติจะได้ขึ้นไปเยือนบนเรือรบอันทรงอานุภาพลำหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่าง "ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส" (USS John C. Stennis (CVN 74) ) จึงต้องบอกว่าเป็นโชคดีมากๆ สำหรับ MGR online ที่ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเทพมหานคร ได้เชิญให้ขึ้นไปร่วมสัมผัสความยิ่งใหญ่ในเรือ ซึ่งแล่นมาเทียบท่ายังท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา
เรือรบบรรทุกอากาศยานลำนี้ สร้างโดย นิวพอร์ท นิวส์ ชิปบิวดิ้ง (Newport News Shipbuilding) อู่ต่อเรือที่สร้างให้กับกองทัพในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เริ่มต่อเรือเมื่อ 13 มี.ค.2534 เปิดตัวเมื่อ 13 พ.ย.2536 แต่เริ่มประจำการในกองทัพเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2538 ด้วยทุนสร้างราว 4,500 ล้านเหรีญสหรัฐ หรือราว 112,500 ล้านบาท (คำนวนด้วยค่าเงิน ณ เวลานั้นราว 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ) เป็นเรือรบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ มีความยาวทั้งสิ้น 332.8 เมตร (1,092 ฟุต) กว้าง 78.3 เมตร (257 ฟุต) มีความสูงที่วัดจากเสากระโดงเรือถึงกระดูกงูเรืออยู่ที่ 74.3 เมตร (244 ฟุต) หรือราวตึก 24 ชั้น มีลิฟท์ 4 ตัว มีดาดฟ้าเป็นลานจอดและลานบิน สามารถบรรทุกเรือได้ 10 ลำ รองรับนาวิกโยธินได้ 6,200 นาย โดยมีอาหารบริการให้ 18,600 ชุดต่อวัน นอกจากนี้ยังแล่นด้วยความเร็วสูงสุดที่ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับเคลื่อนไปได้ไกลกว่า 1,000,000 ไมล์ต่อการเติมเชื้อเพลิงแต่ละครั้ง
เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ได้พาคณะสื่อมวลชนไปพบกับ น.ต.หญิง เจสสิก้า แอนเดอร์สัน เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานกิจการสาธารณะ กองเรือบรรทุกอากาศยาน ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส กระทรวงกลาโหม เพื่อพาเยี่ยมชมภายในเรือบางส่วน ที่ทางกองทัพเรือสามารถอนุญาตให้เข้าไปได้ โดยจุดแรกที่พาเข้าไปคือโรงเก็บและซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งอยู่บริเวณห้องโถงกลางลำเรือ บรรจุเครื่องบิน 3 ประเภท คือ เครื่องบินรบขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินคุ้มกันเรือ นอกจากนี้ยังได้เห็นถังบรรจุเชื้อเพลิงแขวนอยู่เรียงรายเหนือหัวด้วย
ขณะที่ น.อ.แพทริค ธอมป์สัน รองผู้บังคับการกองเรือบรรทุกอากาศยาน ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส ได้ออกมาตอนรับพร้อมกล่าวว่า กองกำลังสหรัฐอเมริกาที่ประจำการบนเรือ ยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทย โดยการมาในครั้งนี้เพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีอันยาวนานกับไทย และเป็นช่วงเวลาที่กำลังพล 5,100 นาย บนเรือจะได้พักผ่อน ซึ่งปกติแล้วลูกเรือก็จะไม่มีกำหนดเวลาว่าจะได้พักเมื่อไหร่ เพราะเรือสามารถอยู่กลางทะเลได้อย่างยาวนาน โดยสามารถนำเสบียงต่างๆ นำมาส่งได้กลางทะเล แต่ก็อาจจะมีบ้างที่เรือจะต้องกลับเข้าฝั่งเพื่อบำรุงดูแลรักษา
น.อ.แพทริค ยังเล่าถึงภารกิจหลักๆ ของเรือลำนี้ว่า ภารกิจหลักคือการออกไปควบคุมและดูแลความสงบในท้องทะเลเพื่อให้แต่ละประเทศในน่านน้ำปฏิบัติตามกฏหมายสากล โดยไม่ใช่เป็นการนำไปใช้เพื่อจู่โจมทำสงครามเสมอไป เรือจะเดินทางไปตามจุดที่ได้รับมอบหมายเพื่อตรวจสอบว่าในน่านน้ำนั้นๆ ยังดำรงไว้ซึ่งตามกฏหมายนานาชาติ ซึ่งเรือลำนี้ก็มีอายุ 25 ปีแล้ว และได้เดินทางเข้ามาที่ไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 ขณะที่เรือสามารถบรรทุกเครื่องบินได้มากกว่า 70 ลำ ส่วนช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็คือการได้ใช้ชีวิตร่วมกับลูกเรือทั้งหมด เรามีทีมที่ดีที่คอยทำงานและแก้ไขปัญหาที่ยากๆ การที่นำทีมปล่อยและรับเครื่องบินกลับมาได้อย่างปลอดภัย การที่ได้แล่นไปทั่วโลกเพื่อรักษาความเรียบร้อยในน่านน้ำ นี่คือสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด
พอถามถึงปัญหาในการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ น.อ.แพทริค ก็พูดติดตลกว่า การจราจรทางน้ำ เพราะมีเรือเยอะ แต่ก็แล่นผ่านไปได้
ด้วยความสงสัยว่า แล้ว 5,000 กว่าคนนี่เขาอยู่กันยังไง? น.ต.หญิง เจสสิก้า ก็บอกว่า จริงๆ บนเรือมีโรงอาหารอยู่หลายจุด รวมทั้งสถานที่ออกกำลังกาย หรือ ยิม ซึ่งก็มีคลาสเรียนหลายรูปแบบให้ลูกเรือได้ผ่อนคลายด้วย แต่ด้วยขณะที่คับแคบ เธอจึงไม่ได้พาเราเข้าไปชมภายใน โดยบนเรือลำนี้มีทั้งหมด 19 ชั้น แต่ไม่มีสถานที่สันทนาการ จึงมักจะใช้ห้องโถงกลางลำเรือทำกิจกรรมแทน ก่อนที่เธอได้พาคณะไปชมแผนผังผู้บัญชาการกองเรือ และพาไปยังจุดที่ 2 นั่นคือพิพิธภัณฑ์ จอห์น คอร์เนลิอัส สเตนนิส ผู้ที่ถูกนำชื่อมาใช้เรียกเป็นเรือลำนี้นี่เอง แล้วเขาเป็นใคร ทำไมต้องนำชื่อมาใช้ด้วยเล่า?
"จอห์น คอร์เนลิอัส สเตนนิส" เป็นชื่อของอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา แห่งรัฐมิสซิสซิปปี้ ผู้ที่ครองตำแหน่งมายาวนานกว่า 41 ปี เกิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2447 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2538 สิริรวมอายุ 93 ปี เจ้าของวลี "Look Ahead" ซึ่งหมายถึงการมองไปข้างหน้า เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือสหรัฐ จนได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งกองทัพเรือสมัยใหม่ของสหรัฐอเมริกา" ก่อนจะถูกนำชื่อมาเรียกใช้กับเรือลำนี้เมื่อ 30 มิ.ย.2531 โดยนายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ซึ่งในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ ถูกจัดวางให้คล้ายกับห้องทำงานในวุฒิสภา ด้านข้างมีผลงาน ภาพถ่ายของคุณจอห์นร่วมกับประธานาธิบดี และเหรียญตราเกียรติประวัติต่างๆ ตรงกลางมีแท่นยืนบรรยาย หรือ โพเดียม เสมือนของจริง ที่มีการเขียนสลักลายมือชื่อของผู้บังคับการกองเรือฯ ที่ได้เข้ามาประจำการบนเรือเอาไว้ มีฐานสีขาวรูปทรง 8 เหลี่ยมที่แปะชื่อของประธานาธิบดีทั้ง 8 คนที่คุณจอห์น ได้เคยร่วมทำงาน ส่วนผนังห้องด้านในสุดมีรูปคุณจอห์น พร้อมวลีประจำตัว ด้านข้างมีเก้าอี้ทำงานที่คุณจอห์น เคยใช้จริงตั้งวางเอาไว้
จุดต่อมา น.ต.หญิง เจสสิก้า พาเราขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นบนของเรือ ซึ่งเรียกกันว่า สะพานเดินเรือ หรือ ห้องที่ใช้ควบคุมการเดินเรือ เป็นห้องติดกระจก มีปุ่มและจอเรดาห์มากมายบนนี้ มีที่นั่งที่ดูทรงพลังของกัปตันเรืออยู่ฝั่งซ้าย และที่นั่งของต้นหน หรือ หัวหน้าแผนกเดินเรือ ผู้วางแผนเส้นทางเดินเรือในแต่ละจุดหมาย เป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์ของเรือดีที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งเวลาทำงานจริงนั้น จะมีนายทหารร่วมปฏิบัติการณ์ในห้องนี้รวม 15 นาย และแบ่งเป็นกะราว 4-5 ชั่วโมง
ในส่วนสุดท้ายที่เราสามารถไปเยือนได้ก็คือ ลานบินดาดฟ้า ซึ่งมีพื้นที่ 18,225 ตารางเมตร (4.5 เอเคอร์) ที่มีเครื่องบินรบ เอฟ 18 ซูเปอร์ฮอร์เน็ต (F-18 super hornet) เรียงราย โดยลานแห่งนี้สามารถบรรทุกเครื่องบินได้ 70 ลำ และยังมีเครื่องดีดส่งเครื่องบินรบที่อยู่บนเรืออีก 4 ตัว พร้อมระบบลงจอดด้วยเลนส์เฟรสเนล (Fresnel lens) เป็นเครื่องมือช่วยลงจอดเสมือนจริงที่นักบินใช้เพื่อวางแนวเครื่องบินกับดาดฟ้าบินขณะที่เข้าใจกับเรือ นอกจากนี้ยังมีรถดับเพลิง P-25 คอยกู้ภัยบนเรือด้วย
น.ต.หญิง เจสสิก้า ให้อยู่บนดาดฟ้าเป็นเวลาไม่นานนักก็เชิญพวกเราลงจากเรือสู่พื้นดินเป็นอันจบสิ้นภารกิจของเธอ ซึ่งเรือที่ใช้ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในน่านน้ำทั่วโลกลำนี้ได้เดินทางออกจากน่านน้ำอ่าวไทยในวันที่ 14 ก.พ.หลังจากปล่อยให้นาวิกโยธิน 5,100 นายได้พลัดเปลี่ยนกันออกไปเที่ยวใน จ.ชลบุรี โดยมีรถบัสรับส่งไปสู่ด้านนอกท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีบริการรถแท็กซี่ให้เช่าไปพัทยาคันละ 1,200 บาท ส่วนบริเวณท่าที่ถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนามีเครื่องสแกนวัตถุต้องสงสัยตรวจค้นถึง 2 จุด และมีสุนัขตำรวจตรวจสอบรถชนิดต่างๆ ที่เข้ามา ก็มีพ่อค้าแม่ค้านำขนอาหารปรุงสุกตั้งแต่ พิซซ่า ขนมปัง ไปจนถึงผัดไทย ข้าวผัด และขนมบรรจุห่อ มาขายในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด และยังมีบริการซิมการ์ดให้ได้ใช้อินเตอร์เน็ตภายในประเทศอีกด้วย
ส่วนเรือลำนี้จะแล่นไปยังจุดหมายใดนั้น เป็นความลับทางราชการสหรัฐอเมริกา