พบสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) เปิดช่องให้นำยาเสพติดประเภท 5 “กัญชา-กระท่อม” ไปใช้ทางการแพทย์ ครอบคลุมถึงยาแผนโบราณและยาสมุนไพร แต่ระยะ 5 ปีแรกได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือร่วมกับหน่วยงานอื่นเท่านั้น แต่ผู้ลักลอบครอบครองและจำหน่ายรับโทษเหมือนเดิม ส่วนผู้เสพถ้าไม่ใช่รักษาโรค คุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น ถ้าเป็นกระท่อมปรับ 2 พัน
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องตามหลักสากล ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ขึ้นไว้ และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (19 ก.พ.) เป็นต้นไป
ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบางบัญญัติที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ปรากฏผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เดิมกัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดเสพหรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้แก่ มาตรา 3 เพิ่มคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการเพิ่ม เฉพาะในวาระที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย)
มาตรา 9 พบว่าได้ปรับแก้มาตรา 26/2 ถึง 26/6 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 โดยมาตรา 26/2 ให้ยกเว้นผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ในกรณีที่เป็นกัญชง (Hemp) ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ในกรณีที่เป็นการนำติดตัวเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็น สำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
ส่วนมาตรา 26/3 ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต การผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย และห้ามห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต แต่ไม่ใช้บังคับแก่ผู้ที่ครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรอง, ใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร แต่ถ้ายานพาหนะดังกล่าวจดทะเบียนในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต
ส่วนผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็น (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย (2) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม การสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย (3) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
(4) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตตามหน่วยงานของรัฐตาม (1) และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม (3) สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ (5) ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (6) ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ติดตัวเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว (7) ผู้ขออนุญาตอื่น โดยในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีสำนักงานในไทย
ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดให้โทษ หรือการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดให้โทษ อาจมีมติให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อทดลองเพาะปลูกพืชที่ให้ผลผลิต หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผลิตและทดสอบ เสพหรือครอบครอง ในปริมาณที่กำหนด โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา อย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเสพและการครอบครอง ในเขตพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 11 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออก จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย โดยผู้ผลิตต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ยาเสพติดที่ผลิตขึ้นก่อนนำออกจากสถานที่ผลิต โดยต้องมีการวิเคราะห์ทุกครั้ง และมีหลักฐานแสดงรายละเอียดซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ ส่วนผู้นำเข้าหรือส่งออกจัดให้มีใบรับรองของผู้ผลิตแหล่งเดิม แสดงรายละเอียดผลการวิเคราะห์คุณภาพ รวมทั้งจัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ผลิตขึ้น และจัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น และเก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
ส่วนผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดเป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น และเก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน ดูแลให้มีฉลากและเอกสารกำกับ หรือคำเตือน ข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ มิให้ชำรุดบกพร่อง ในกรณีถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า และจัดให้มีการทำบัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษและเสนอรายงานต่อเลขาธิการเป็นรายเดือนและรายปี บัญชีดังกล่าวให้เก็บรักษาไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดทำการ ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี
มาตรา 12 ได้เพิ่มความในมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 จากเดิมยกเว้นโฆษณายาเสพติดให้โทษได้เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง และเฉพาะยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ยาบางชนิดที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น โคเคน โคดีอีน ไดฟินอกซิเลต เฟนทานิล ฝิ่นที่ใช้ทางการแพทย์ เมทาโดน มอร์ฟีน และเพทิดีน) และยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (ยาน้ำแก้ไอที่มีโคดีอีน หรือฝิ่นเป็นส่วนผสม ยาแก้ปวดหัวผสมโคดีอีน ยาแก้ท้องเสียที่มีไดฟินอกซิเลต) ให้เพิ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) และเพิ่มการโฆษณากับผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย หรือเป็นฉลากหรือเอกสารกำกับ โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะใช้โฆษณาได้
มาตรา 13 ได้ปรับแก้ข้อความจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 โดยมาตรา 57 เหลือเพียงแค่ ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาเสพติดให้โทษร้ายแรง) ส่วนมาตรา 58 จากเดิมห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เว้นแต่การเสพนั้นเป็นการเสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือทันตกรรมที่ได้รับใบอนุญาต ได้เพิ่มวรรคสอง ให้ยกเว้นการเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) เฉพาะเพื่อรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ที่ได้รับใบอนุญาต หรือเป็นการเสพเพื่อการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ ตำรับยาที่เสพได้ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 17 ได้ปรับแก้ข้อความจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 75, 76 และ 76/1 สาระสำคัญ คือ มาตรา 75 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยฝ่าฝืนมาตรา 26/2 (ที่ปรับแก้แล้วในมาตรา 9) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท ถ้าเป็นพืชกระท่อม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนมาตรา 76 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26/3 (ที่ปรับแก้แล้วในมาตรา 9) โดยมีปริมาณไม่ถึง 10 กิโลกรัม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ามีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท ถ้าครอบครองพืชกระท่อม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ในส่วนของผู้เสพ มาตรา 19 ระบุว่า ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 วรรคสอง (เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งจากแพทย์ ที่ปรับแก้แล้วในมาตรา 13) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นพืชกระท่อม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
มาตรา 18 ได้เพิ่มข้อความใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 79/1 สาระสำคัญ คือ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืน ไม่มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไม่มีการวิเคราะห์ยาเสพติดที่ผลิตขึ้นก่อนนำออกจากสถานที่ผลิต ไม่มีใบรับรองของผู้ผลิตแหล่งเดิม แสดงรายละเอียดผลการวิเคราะห์คุณภาพยาเสพติดที่นำเข้าหรือส่งออก ไม่มีฉลากและเอกสารกำกับ คำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ ไม่แยกเก็บยาเสพติดเป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น ไม่เก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน ไม่แจ้งผู้อนุญาตกรณียาเสพติดถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ไม่จัดทำบัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษและไม่รายงานต่อเลขาธิการเป็นรายเดือนและรายปี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
มาตรา 20 ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ประเมินผลการดำเนินงาน เกี่ยวกับการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชาทุก 6 เดือน ภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา 21 ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลา 5 ปี การขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย ให้อนุญาตได้เฉพาะกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นร่วมกับหน่วยงานของรัฐ แตึ่่ไม่ใช้บังคับแก่กรณีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายที่ตนเองเป็นผู้ให้การรักษา หรือกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ
มาตรา 22 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ เมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในกรณีไม่ได้รับอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ในราชกิจจานุเบกษา