บีทีเอสเริ่มลงทะเบียนบัตรแรบบิท ตามกฎหมายฟอกเงินวันนี้วันแรก ผู้โดยสารที่เติมเงินหรือเที่ยวเดินทางต้องแสดงบัตรประชาชน พร้อมเบอร์มือถือ หรืออีเมล เพื่อให้บัตรใช้งานได้ตามปกติ
วันนี้ (15 ก.พ.) จะเป็นวันแรกที่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) บริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit) สำหรับโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสด จะเริ่มลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
โดยเมื่อผู้โดยสารทำการเติมเงิน ซื้อหรือเติมมูลค่าเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี เจ้าหน้าที่จะขอบัตรประชาชน (หรือหนังสือเดินทางสำหรับชาวต่างชาติ) เพื่อลงทะเบียน พร้อมแจ้งเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล
หรือสามารถยื่นบัตรแรบบิท พร้อมบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนก่อนได้เช่นกัน สามารถทยอยมาลงทะเบียนได้ โดยไม่มีกำหนดวันหมดเขตการลงทะเบียน และเป็นการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นบัตรแรบบิทจะใช้งานได้ตามปกติโดยไม่ต้องลงทะเบียนอีก
เจ้าของบัตรแรบบิท #ทุกใบ โปรดฟังจ้า แอดมิน Rabbit Card ฝากมาแจ้งข่าว☺️
— BTS SkyTrain (@BTS_SkyTrain) 4 กุมภาพันธ์ 2562
ตั้งแต่ 15 ก.พ.นี้ #ตอนไปเติมเงินหรือเติมเที่ยวเดินทาง ที่ห้องตั๋วบีทีเอส, บีอาร์ที และศูนย์บริการแรบบิท (สถานีสยาม) เจ้าหน้าที่จะขอบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียนยืนยันตัวตนให้ท่านด้วยนะครับ pic.twitter.com/ZOFDUwG30H
สำหรับบัตรแรบบิททุกประเภทที่ต้องลงทะเบียน ได้แก่ บัตรแรบบิทสำหรับบุคคลทั่วไป บัตรแรบบิทสำหรับนักเรียน นักศึกษา และบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งบัตรร่วมแรบบิทธนาคารกรุงเทพ (บัตรเครดิต และบัตรเดบิต) และบัตรสมาชิกอิออนแรบบิท ต้องลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงข้อมูลในบัตรให้เป็นปัจจุบัน
ส่วนผู้ที่ใช้บัตรแรบบิทที่ผูกกับบริการแรบบิท ไลน์ เพย์ บนโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องนำบัตรมาลงทะเบียนเช่นเดียวกัน
การลงทะเบียนครั้งนี้ไม่ครอบคลุมถึงบัตรโดยสารรถไฟฟ้าประเภทเติมเงินอื่นๆ เช่น บัตรรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) และบัตรรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เนื่องจากบัตรเหล่านี้ใช้ชำระค่าโดยสารอย่างเดียว ไม่สามารถทำธุรกรรมอื่นได้ จึงได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
ผู้ที่เคยลงทะเบียนก่อนหน้านี้ เช่น ลงทะเบียนแรบบิท รีวอร์ด (แครอท รีวอร์ด เดิม) ก็จะต้องลงทะเบียนบัตรด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนคนละประเภท ซึ่งครั้งนี้ทำตามกฎหมาย ป.ป.ง. ที่เจ้าของบัตรทุกคนต้องปฏิบัติตาม โดยบัตรประชาชน 1 ใบ สามารถลงทะเบียนบัตรแรบบิทได้ไม่จำกัดจำนวน
ทั้งนี้ บัตรแรบบิทที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะไม่สามารถเติมมูลค่าเงิน และเที่ยวโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ทีได้ จนกว่าจะได้รับการลงทะเบียนบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่ยังสามารถใช้บัตรได้จนกว่าเงินจะหมด และเติมเงินที่จุดบริการอื่นๆ ได้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบัตรแรบบิทใบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อลงทะเบียนด้วยเช่นกัน
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับอย่างหนึ่งหลังการลงทะเบียน คือ หากบัตรที่ลงทะเบียนแล้วสูญหาน สามารถขอคืนมูลค่าเงิน และเที่ยวเดินทางคงเหลือในบัตรได้ โดยติดต่อขอระงับการใช้บัตรได้ที่ ศูนย์แรบบิท ฮอตไลน์ โทรศัพท์ 0-2617-8383 โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ชี้แจงว่า บัตรแรบบิทเข้าข่ายเป็นการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กำหนดให้จำเป็นต้องแสดงตัวตนด้วยระบบ KYC (Know Your Customer)
“ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ใคร่ขอความร่วมมือผู้โดยสารไปลงทะเบียนบัตรแรบบิทด้วยตนเอง หลังจากลงทะเบียนแล้วจะได้รับประโยชน์ ในกรณีบัตรแรบบิทสูญหาย จะสามารถแจ้งระงับการใช้งานบัตร และสามารถขอคืนมูลค่าเงินและเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอสที่คงเหลือในบัตรได้” นายสุรพงษ์ กล่าว
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันมีบัตรแรบบิททุกประเภทรวมกันกว่า 10.3 ล้านใบ จากจำนวนผู้ถือบัตรรวมกัน 2.9 ล้านคน แต่มีผู้ใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านราย
(แก้ไขเพิ่มเติม 15 ก.พ. 2562 เวลา 12.10 น.)