xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมุรธาภิเษก! น้ำสำคัญที่สุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วพระราชอาณาจักร!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สระเกษ ๑ ใน ๔ ของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ สุพรรณบุรี
คำว่า บรมราชาภิเษก มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่ง อภิเษก แปลว่า รดน้ำ ต่างกับทางตะวันตก การขึ้นครองราชย์จะใช้คำว่า CORONATION ซึ่งมาจากคำว่า โคโลนา หมายถึงมงกุฎแห่งชัยชนะ ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของตะวันออก แม้จะมีการสวมมงกุฎ แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนที่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่น้ำ น้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า น้ำมุรธาภิเษก มาจากคำว่า มูรธา + อภิเษก ซึ่งมูรธาแปลว่า พระเศียร น้ำมูรธาภิเษกจึงหมายถึงน้ำรดพระเศียรนั่นเอง

น้ำที่เป็นมงคลยิ่งนี้ จึงต้องนำมาจากแหล่งที่มีความหมายเป็นมงคล ทั้งยังรวบรวมมาจากหลายแห่งด้วย

ตามตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำมุรธาภิเษกจะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมทิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งแม่น้ำทั้ง ๕ ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่ซึ่งศาสนาพราหมณ์และฮินดูถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร

ในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันอาจเป็นเรื่องพ้นวิสัย เพราะตามธรรมเนียมประเพณีแต่เดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดได้ขึ้นครองราชย์ จะต้องทำพิธีบรมราชาภิเษกภายใน ๗ วันหรืออย่างช้าภายในเดือนเศษ และกระทำก่อนที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์องค์ก่อน การจะนำน้ำมาจากชมพูทวีปจึงเป็นไปไม่ได้ ในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมได้กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองสุโขทัย มีข้อความว่า

“น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้นครจำปาศักดิ์นั้นใช้เป็นน้ำอภิเษก”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากน้ำในสระเกศ สระแก้ว สระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เท่านั้น
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ ของเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน เป็นตำนานเนิ่นนานจนไม่ทราบว่าเหตุใดจึงใช้น้ำในสระเหล่านี้เป็นน้ำสำคัญที่สุดในพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เปลี่ยนชื่อจาก ท่าว้า เป็น ท่าเสด็จ ทรงมีพระราชหัตถ์เลขาไว้ว่า

“...แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…”

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ นี้ อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี ตรงข้ามทางเข้าสวนนกท่าเสด็จ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๓กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญอีก ๕ สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” อนุโลมตามตำราพราหมณ์ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป โดยตักมาจากแม่น้ำ ๕ สายในพระราชอาณาจักร ดังนี้

            ๑. น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี
            ๒. น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม 
            ๓. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
            ๔. น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
            ๕. น้ำในแม่น้ำบางประกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก

โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีต่อที่พระนคร

แหล่งน้ำมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ นี้ ได้ใช้เป็นน้ำอภิเษกในรัชกาลต่อๆมา
ในรัชกาลที่ ๔พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย ๔ รูป สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมุรธาภิเษก เพิ่มขึ้นอีกอย่าง

สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อต้นรัชกาลได้เสด็จไปอินเดีย ทรงนำ “น้ำปัญจมหานที” มาด้วย และทรงใช้เพิ่มเป็นน้ำอภิเษกในคราวบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นว่าราชการด้วยพระองค์เอง

ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้น้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชครั้งที่ ๒ นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง ๔ สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นและแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล มาร่วมเป็นน้ำมุรธาภิเษกด้วย

การนำน้ำมาจากแหล่งต่างๆทั่วทุกมณฑลในประเทศ อาจมีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์อย่างพร้อมเพรียงทั่วพระราชอาณาจักร


กำลังโหลดความคิดเห็น