หลังจากประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงคาดว่า อย่างไรเสียพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจะต้องยกทัพใหญ่มาแน่ในไม่ช้า แต่กำลังไทยยังมีน้อย หากจะต้องแยกกันรักษาเมืองก็คงทานข้าศึกไม่อยู่แน่ จึงกราบทูลพระราชบิดาขออพยพผู้คนทางเมืองเหนือลงมารวมกันที่กรุงศรีอยุธยา ปล่อยให้หัวเมืองเหนือร้างไปก่อน ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงเห็นชอบ มอบราชกิจให้พระราชโอรสบัญชาการโดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรจึงอพยพผู้คนในเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และเมืองเล็กเมืองน้อยทั้งหลาย ล่องเรือแพลงมาตามลำน้ำ และจัดทหารป้องกันไว้ทั้ง ๒ ฝั่ง ไม่ให้ครัวพวกนี้หนีได้
การณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงคาด พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๒๙ ซึ่งในยามนั้นกองทัพพม่าเกรียงไกรมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และเข้มแข็งยิ่งขึ้นในรสมัยพระเจ้าบุเรงนอง แต่เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์นั้น กรุงศรีอยุธยาเหลือแค่เปลือกเมือง พม่ากวาดต้อนเอาไพร่พลตลอดจนอาวุธไปหมด ที่สำคัญคนไทยทั้งทหารไทยก็ยังไม่หายเกรงกลัวพม่า สมเด็จพระนเรศวรคงจะทรงทำสงครามจิตวิทยาเรียกขวัญกำลังใจให้เหล่าทหารของพระองค์ได้เห็นว่าพม่าไม่มีความน่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อมีโอกาสเหมาะเมื่อใดพระองค์จะนำทหารหมู่หนึ่งออกไปปล้นค่ายพม่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน
ครั้งหนึ่งทรงนำทหารออกไปปล้นค่ายพม่า และปะทะกับกองกำลังที่ป้องกันค่าย ทรงไล่ฟันข้าศึกจนถอยร่นไปถึงค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง และเมื่อทรงตามไปถึงค่ายหลวงก็ทรงลงจากม้าพระที่นั่ง คาบพระแสงดาบคู่พระหัตถ์นำทหารขึ้นปีนค่ายหลวงของพม่าจนพระองค์ถูกแทงตกลงมา ทหารพม่าหน้าค่ายจึงกรูกันเข้ามา แต่พระองค์ก็นำทหารแหวกวงล้อมกลับสู่พระนครได้
จากนั้นขวัญกำลังใจของทหารไทยก็หมดความเกรงกลัวในทหารพม่า ขนาดค่ายหลวงของพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ดำยังนำทหารเพียงน้อยนิดไปปีนค่ายเย้ยได้ ฝ่ายที่เกรงกลัวข้าศึกจึงกลับเป็นฝ่ายทหารพม่า
พระแสงดาบที่ทรงคาบขึ้นปีนค่ายนี้ ได้ชื่อต่อมาว่า “พระแสงดาบคาบค่าย” และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชพิธีสำคัญต่างๆตลอดมา
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับเยอรมันออสเตรียฮังการีในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระแสงดาบคาบค่ายก็ยังมีบทบาทร่วมด้วย
โดยหลังจากลงพระนามประกาศสงครามแล้ว ในวันรุ่งขึ้นทรงจัดขบวนพยุหยาตราเสด็จไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประเพณีของบูรพกษัตริย์ที่จะไปราชการสงคราม ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์ทรงเครื่องด้วยชุด “มหาพิชัยยุทธ” อันเป็นเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ในยามออกศึก ประกอบด้วยภูษาม่วงไหมสีแดงเลือดนก โจงกระเบนแบบไทยเดิม ฉลองพระองค์เป็นแพรสีแดงเช่นเดียวกัน ทั้งผ้าคาดฉลองพระองค์ ถุงพระบาท และรองพระบาท ต่างก็สีแดงทั้งชุด พระอังสาเบื้องขวาสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบคาบค่าย ทรงทัดใบสน พระหัตถ์ขวาถือใบยอ
นอกจากเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องทรงชุดมหาพิชัยยุทธ และเครื่องประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระแสงดาบคาบค่ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้ ยังถือเป็นพระแสงสำคัญองค์หนึ่งในหมู่พระแสงรายตีนทอง สำหรับให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จในพระราชพิธีใหญ่ๆ ทั้งยังเป็นพระแสงที่ใช้จุ่มลงในหม้อน้ำพระพุทธมนต์ต่อหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพิธีอ่านโองการแช่งน้ำในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย