xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น..นักพากย์หนังระดับตำนาน : เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดชีวิตผู้มอบเสียงภาษาไทยให้กับหนังต่างประเทศมาแล้วหลายร้อยเรื่อง “เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง” นักพากย์มืออาชีพที่ทุกคนต่างยอมรับ พร้อมเผยเคล็ดลับแนวทางการพากย์ให้ “ดี” และ “โดน”





...สำหรับคอหนังจีน-ฮ่องกง คงไม่มีใครไม่รู้จัก “อู๋ม่งต๊ะ” ดาราตลกที่พูดได้ว่าเป็นคู่หูดูโอ้ต่างวัยทางด้านการแสดงของดาราและผู้กำกับชื่อดังอย่าง “โจวซิงฉือ”

และจริงๆ ก็สามารถพูดได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ “อู๋ม่งต๊ะ” โด่งดังเป็นที่รู้จักของนักดูหนังบ้านเราตั้งแต่ยุคหลายสิบปีก่อน ก็คือเสียงพากย์ที่มีชีวิตชีวา มีความฮาความตลก ชนิดได้ใจคนดูผู้ชม แม้แต่ตัวของ “อู๋ม่งต๊ะ” เอง ก็ยังต้องทึ่ง เมื่อรู้ว่า คนที่พากย์เสียงของเขา ทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตกในเมืองไทย

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก คนผู้ให้เสียงพากย์อู๋ม่งต๊ะในฉบับภาษาไทย และเขาคือนักพากย์มืออาชีพที่คนในแวดวงต่างให้การยอมรับ ... “เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง” นักพากย์ที่หลายคนยกย่องให้เป็นหนึ่งในตำนาน ผ่านการพากย์หนังมาหลายร้อยเรื่อง ทั้งหนังฮ่องกง หนังฮอลลีวูด แม้แต่หนังชุดดังๆ อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์, เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ไปจนถึง สตาร์ วอร์ส เขาก็มีส่วนร่วมในการพากย์มาแล้ว นั่นยังไม่ต้องพูดถึงการยึดครองบทพากย์เสียงอู๋ม่งต๊ะที่กลายเป็นเอกลักษณ์ให้คนจำได้เมื่อเอ่ยถึงเขา

หลังจากไปด้อมๆ มองๆ นักพากย์หนังตามงานวัดงานบุญเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง เกิดความรักและหลงใหลในงานพากย์ และพยายามเรียนรู้แบบครูพักลักจำ เรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันที่สร้างชื่อให้กับตัวเอง..

“ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชอบดูหนัง มีใจรัก แล้วเราเป็นคนต่างจังหวัด มันก็จะมีงานประจำปีของวัด ทั้งงานบวช งานแต่งงาน ส่วนใหญ่ก็จะมีหนังกลางแปลงมาฉาย เราชอบดู เราก็รู้สึกว่าทำไมคนนี้เก่งจัง เขาทำเสียงผู้หญิงได้ เสียงพระเอก เสียงเด็ก เราก็พยายามนั่งมองปากเขานะว่าทำไมเขาเก่งจังเลย นั่งมองแบบใจจดใจจ่อ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็ไม่รู้สึกตัวหรอกว่าชอบเมื่อไหร่ แต่ชอบแล้ว ชอบว่าอยากเป็นนักพากย์จังเลย อยากพากย์หนังเป็น แต่เมื่อก่อนมันเป็นเรื่องที่ยากมาก แล้วเครื่องไม้เครื่องมือในการพากย์มันไม่เหมือนสมัยนี้ คือต้องช่วยตัวเองทั้งหมด อยากเป็นนักพากย์ก็ต้องหาอุปกรณ์เอง ซึ่งรุ่นก่อนหน้าของอา เราก็จะดูเขาว่าทำยังไง เสียงปืนต้องทำยังไง เสียงขี่ม้าทำยังไง แล้วพอถึงเวลาเราก็จะเอาไปใช้ในหนัง แล้วสถานที่ที่เราไปเพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานวัด เป็นวิก หรือโรงหนังชั้น 2”

“ทีนี้พอเราเข้าสู่วงการแล้วเราก็เริ่มดูหนังมากขึ้น ดูนักพากย์ให้มากขึ้น ถ้าเราชื่นชอบนักพากย์คนไหน เราก็จะไปดูเขาบ่อยหน่อย ไปดูเพื่อที่จะรู้ว่าเป็นครูของเรา อาชีพนักพากย์ไม่มีโรงเรียน ไม่มีใครสอนได้ แล้วก็ไม่มีใครสอนให้พากย์หนังได้ ได้แค่แนะแนวให้ อย่างรุ่นผมที่เป็นนักพากย์ เอากันแบบลงสนามได้ก็ต้องไปนั่งซ้อม ฝึกดูครูบาอาจารย์เขาพากย์กัน พวกนั้นถือว่าเป็นครูหมด แล้วก็เราลักจำมาว่าเวลาพูดอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ ถึงจังหวะนี้ต้องพูดอย่างนี้ ใหม่ๆ ก็เหมือนกันทุกคนครับ ได้บทหนังมาก็พากย์ไป จนหนังหมดแต่ยังเหลือหนังอีก 1 ม้วน นั่นเพราะว่าเราไม่รู้จังหวะในการพากย์ แต่พอเราไปดูเขาบ่อยๆ มันเลยเริ่มชินขึ้น

“อาชีพนักพากย์ อาเกรียงจะเปรียบเหมือนคนขับรถ ทั้งสองหน้าที่นี้อามองว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่ มี 4 หลักคือ ขับได้ ขับเป็น เข้าใจและชำนาญ ถ้ามีครบ 4 อย่างนี้คนขับรถไม่ชนใครหรอก แล้วคุณสามารถหลบหลีกอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าคุณขับได้ สตาร์ทเครื่องเป็น ใส่เกียร์แล้วก็เดินหน้าแล้วอยู่อย่างนั้น นั่นคือขับได้ แต่ถ้าคุณขับเป็น คุณไปได้หน่อยแล้วก็เปลี่ยนเกียร์ คุณจะเลี้ยวก็ตบไฟประมาณนี้ แสดงว่าคุณเริ่มขับเป็นแล้ว พอขับเป็นก็จะใส่เกียร์ 2 เกียร์ 3 ได้ แล้วก็วิ่งขับไป เข้าใจ แต่นี่คือคุณขับเป็นนะ คุณเข้าใจเลยว่าระยะกี่เมตร คุณจะเปิดไฟเลี้ยวขนาดไหน ข้างหน้าคุณควรจะเบรก ไม่งั้นคนขับรถเขาไม่เข้าใจเพราะเห็นไฟแดงก็เหยียบแล้ว พอเห็นหน้าเขาก็เหยียบบ้าง ซึ่งไม่มีเหตุผลยอมรับเพราะเราไม่เข้าใจไง ถ้าเราเข้าใจแล้วก็โอเค”

“เหมือนกัน พากย์หนังพอเราเข้าใจเราก็รู้จังหวะแล้วว่าแต่ละช่วงควรพูดอย่างนี้ พูดได้ตรงนี้ผู้หญิงตรงนี้ผู้ชาย อย่างที่ 4 ก็คือชำนาญ ถ้าคุณขับรถชำนาญ คุณสังเกตไหมครับ คุณสามารถจะแซงได้ ก่อนจะแซงคุณตบซ้ายเลี้ยวขวา รถข้างหลังมาข้างหน้า แล้วข้างหน้ามีอุบัติเหตุคุณเปิดไฟฉุกเฉิน แล้วข้างหลังก็รู้ว่าอย่าเพิ่งมานะ เพราะไฟเห็นแว้บๆ แสดงว่าเห็นอะไรแว้บๆ เพราะรถข้างหลังมันไม่เห็นเราไง แต่เราชำนาญแล้วเราก็จะบอกเขาหมดเลย เช่นถ้าชำนาญแล้วก็อย่างที่บอก นักพากย์พอชำนาญปุ๊บ เห็นอะไรปั๊บมันก็จะนึกถึงภาพ แล้วนึกถึงความสนุกให้คนดูนะ เล่นลูกเล่น-ใส่ลูกเล่นไป อะไรต่อมิอะไรไปเป็นธรรมชาติ แล้วพอเป็นธรรมชาติแล้ว ก็มีคนถามเหมือนกันว่าต้องดูหนังก่อนกี่รอบ ถ้าคนที่ชำนาญแล้วแทบจะไม่ต้องดู มาถึงก็ได้เลย หยิบหนังมาเอาบทมากางดู ตัวไหนที่เราจะพากย์ก็ขีดเส้นใต้ แล้วก็ดูไดอะล็อก อ่านไดอะล็อกก็จะรู้ว่าตัวเราเป็นอะไร ตัวเรารับบทเป็นอะไร หมายถึงที่จะพากย์ เป็นผู้ร้ายหรือเปล่า หรือเป็นตัวตลก หรือเป็นพ่อเป็นลุงเป็นอา แล้วเราก็จะเข้าใจ”

“ตั้งแต่ที่ได้พากย์หนังมาตัวละครที่เรารับผิดชอบ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวร้ายๆ ตัวเจ้าพ่อ หรือตัวละครที่ออกแนวตลกบ้าง ตัวละครที่คนดูจะรู้จักผมมากๆ เลยก็คือ อู๋ม่งต๊ะ เขาจะเป็นที่รู้จักมากเพราะว่าเขาจะแสดงคู่กับโจวซิงฉือ อยากตัวละครที่ทั้งสองคนเล่นนี้ ทั้งคนพากย์พระเอกและคู่หูเขาจะต้องไปด้วยกันได้ สองคนนี้เขาเล่นหนังไม่หยุด เขาจะเป็นคนที่เก่งมาก คือเราทำยังไงให้คนดูรู้สึกว่าสองคนนี้น่ารัก ถึงแม้ว่าจะเป็นคนดุหรือว่าเป็นนักเลงก็แล้วแต่ วิธีการเก็บเสียงวิธีการพากย์ ห้าวแต่ไม่ดุ หนักแน่นแต่ไม่โหดร้าย ฉะนั้น วิธีการเก็บก็จะไม่รบกวนตัวละคร เล่นด้วยกันแล้วอีกคนหนึ่งพูด อีกคนไม่ได้พูดแต่เก็บความรู้สึก คือเรารับคำเขาไปเรื่อย ตอดเขาไปเรื่อย นี่คือตัวละครที่เรารู้สึกว่าโดดเด่นมาก กับอีกคนหนึ่งคือ เฉิน ขุยอัน เขาจะมีคาแรกเตอร์ที่เป็นแบบคนทึ่มๆ หน่อย”

“ถามว่ารู้สึกยังไงกับการถูกพูดถึง ข้อนี้ต้องขอบคุณผู้ชมเลย หลังจากที่เราได้แสดงหนังแสดงละครที่ทำให้ได้เห็นหน้าแล้วพอเขาได้ยินเสียง เขาก็จำได้ เป็นคนนี้นี่เอง เขาก็มาทักทายกัน เราก็รู้สึกภาคภูมิใจ แต่ว่าอย่างที่บอกครับ มันต้องหยุดพัฒนาไม่ได้ เพราะว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อย่างวิธีการพากย์มันก็อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เพียงแต่ว่าทำยังไงให้มันทันสมัยขึ้น ให้เด็กรุ่นใหม่ทราบว่าการภาคภาษาไทยมันยังเป็นภาษาที่น่ารัก เป็นภาษาที่น่าฟังกันอยู่นะ เราจะทำยังไง ให้เขาติดตามหนังที่พากย์ไทย คือเดี๋ยวนี้เวลาไปที่ไหนคนก็รู้จัก ส่วนตัวเราก็ขอขอบคุณ อย่างมาขอถ่ายรูปด้วยกันเราก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ ไม่เคยเกี่ยงงอน แล้วก็อยากจะขอฝากถึงนักพากย์รุ่นใหม่ๆ คือ อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง เหมือนผู้หญิงอะ คือหยุดสวยไม่ได้ ต้องสวยตลอด นักพากย์ก็เช่นเดียวกัน หาวัตถุดิบหาคำพูดใหม่ๆ ฟังเพลงหรืออ่านข่าวเยอะ คือ หูฟังตาดูปากพูด คือเป็นหลักของนักพากย์เลย”

“คือมันเป็นเรื่องที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปมากเลยนะ มันทันสมัยซะจนมึนไปหมดเลย จากตอนแรกๆ ที่เราต้องพากย์หนังกับคนดู ผ่านมาแป๊บเดียวหนังกลางแปลงก็ค่อยๆ หายไป ตอนนี้เหลือแค่หนังในโรง จากนักพากย์ที่เคยพากย์หนังกลางแปลงเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว บันทึกเสียงไปหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็จะหมดไปเรื่อย แต่ปัญหามันอยู่ที่คนดู ก็จะแบ่งกันเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ดูแบบ SOUND ON FILM แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเป็นคนไทยยังรักภาษาไทย ก็ยังอยากจะดูหนังพากย์ไทย ต่อให้เป็นหนังจากชาติไหนก็ตาม พอเขาได้ดูหนังเขาก็มีความสุข”

“หนังที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับคนดู อย่างซีรีส์พระพุทธเจ้า ถ้าจะฉายเป็นเสียงต้นฉบับ คนไทยจะรู้เรื่องเปล่า ก็จะมีแค่คนกลุ่มหนึ่งที่รู้ภาษาอินเดียเขาก็จะเข้าใจแค่นั้น รู้จักหนังจีนฮ่องกงเขาก็จะรู้แค่ภาษาของเขา เขาดูเขาก็ฟังกันออกแค่นั้น เขาสนุกแบบไหนเราไม่รู้ แต่พอมาพากย์ภาษาไทย ผมพากย์ตัวอู๋ม่งต๊ะแบบเละเลย ใส่ไม่ยั้งเลย คนไทยที่เป็นหนึ่งในกองถ่ายหนังจีนไปบอกตัวจริงเลยว่า คุณดังในประเทศไทยมากเลย เขาก็งงว่าดังได้ยังไง ก็บอกกลับไปว่าคุณไม่ได้ดังเพราะตัวคุณดัง แต่ดังเพราะว่าคนพากย์เสียงคุณนั้นทำให้คุณดัง แล้วก็ทำให้คนพากย์ดังไปด้วย แต่ตอนหลังเขามาเมืองไทยผมก็เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้เจอกัน ถ้าเจอกันก็ไม่รู้ว่าจะคุยรู้เรื่องหรือเปล่า คงจับปากแล้วคุยกันละมั้ง (ยิ้ม)”


กำลังโหลดความคิดเห็น