ชื่อของ สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนี้ในฐานะนักเคลื่อนไหว หรืออดีตคอมมิวนิสต์คนดังที่ปล้นขบวนรถไฟให้ผู้โดยสารลงมาเข้าแถวแล้วขึ้นหลังคารถพูดปลุกระดม ถูกทหารล้อมจับในขณะแอบมาจิบกาแฟกับผู้ว่าราชการจังหวัดถึงในจวน แม้จะถูกศาลตัดสินประหารชีวิต เขาก็ยังออกจากคุกมาเคลื่อนไหวได้อีก แต่วันนี้เขาหายไร้ร่องรอย ขณะที่ ๒ คนสนิทกลายเป็นศพในแม่น้ำโขง เรื่องราวของเขานับว่าเป็นนิยายสนุกได้เรื่องหนึ่ง
สุรชัยเป็นช่างซ่อมนาฬิกาในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่มามีชื่อเสียงเป็นผู้นำปลุกระดมประชาชนในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแจกเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสพอุทกภัย จนเป็นเหตุเผาจวนผู้ว่าฯ นายสุรชัยจึงต้องหลบหนีคดีเข้าป่า ทำงานด้านมวลชนให้พรรคคอมมิวนิสต์ที่ค่ายกรุงชิง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กับค่ายช่องช้างที่อำเภอเวียงสระ มีบทบาทสำคัญหลายเรื่อง
วีรกรรมที่โด่งดังของนายสุรชัยก็คือ นำพลพรรคปล้นรถไฟที่สถานีพรุพรี อำเภอนาสาร ยิง ร.ต.อ.ไสว พลชนะ เจ้าหน้าที่คุมเงินราชการ ๑.๒ ล้านเสียชีวิต แล้วนำเงินไป แต่ที่โด่งดังในเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือนายสุรชัยได้ให้ผู้โดยสารรถไฟทั้งขบวนลงไปเข้าแถว แล้วขึ้นบนหลังคารถไฟปราศรัยปลุกระดม ก่อนจะปล่อยขบวนรถไป ทำให้ชื่อเสียงของสุรชัยโด่งดัง ทั่วทั้งภาคใต้รู้จักเขาในฐานะ “คอมมิวนิสต์ใหญ่”
ในช่วงต้นปี ๒๕๒๔ มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งมาร้องกับ ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา นายอำเภอเวียงสระ สุราษฎร์ธานี ว่าฝายพันปูนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์เกิดชำรุด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ นายอำเภอก็ไม่สามารถเข้าไปซ่อมให้ได้ ทั้งตัวนายอำเภอเองก็ถูกหมายหัวไว้ ถูกถล่มรถเกือบตายมาหลายครั้ง เพราะเป็นรถราชการเพียงคันเดียวของอำเภอที่ไม่ยอมลบตราราชการข้างรถออก ถือว่าเป็นการท้าทาย
เผอิญ นายวินัย โลกประดิษฐ์ ปลัดอำเภอฝ่ายพัฒนา รู้จักสนิทสนมกับนายสุรชัยตั้งแต่ครั้งยังไม่เข้าป่า จึงขออาสาจะเข้าไปเจรจาเอง ทั้งนายอำเภอพิมลและนายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เห็นด้วย จะขอใช้วิธีส่งวัสดุก่อสร้างไปให้ชาวบ้านทำกันเอง ไม่ใช้วิธีเหมาแบบที่ราชการทำมา
ผลการเจรจา ฝ่าย ผกค.ยินยอมตามคำขอ เพราะเป็นประโยชน์ของชาวบ้าน โดยปลัดวินัยได้ถ่ายรูปร่วมกับนายสุรชัยมายืนยันว่าพบกันจริง การซ่อมแซมฝายพันปูนจึงสำเร็จจากความร่วมมือของ ผกค.กับทางราชการ ขณะที่ทหารและ อส.ก็ยังรบกับ ผกค.ไม่เลิกรา
ผู้ว่าฯสนองชักได้ใจ ให้ปลัดวินัยไปพบนายสุรชัยอีก ครั้งนี้เชิญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จวนผู้ว่าฯกันเลย จะขอให้ ผกค.ยุติการโจมตีเจ้าหน้าที่พลเรือนที่เข้าไปพัฒนาหมู่บ้าน เพราะผู้ที่เดือดร้อนก็คือชาวบ้านนั่นเอง นอกจากจะมอบจดหมายลับให้ปลัดถือไปแล้ว ผู้ว่าฯยังมีเสื้อแจ็คเกตฟิลด์ กางเกงวอร์ม เป็นของขวัญไปให้นายสุรชัยด้วย โดยกำชับให้เป็นความลับที่สุด
หลังจากเจรจากันหลายครั้ง นายสุรชัยก็ได้รับอนุมัติจากหน่วยเหนือให้เข้ามาพบผู้ว่าฯได้ ฉะนั้นในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๔ ผู้ว่าฯสนองจึงให้ปลัดวินัยพร้อมด้วยป้องกันจังหวัด นำรถประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดไปรับนายสุรชัยที่ อ.เวียงสระ ในเวลาเช้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจังหวัดเป็นคนขับ
นายสุรชัย แซ่ด่านได้มาพร้อมกับสหายเติม (นายมะลิ สาคร) หัวหน้าค่าย ๕๑๑ บ้างกงตาก อ.กาญจนดิษฐ์ และสหายพร (นายประวิทย์ แป้นเจริญ) ทหารหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว และเปิดเจรจากับนายสนอง รอดโพธิ์ทองที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดในบ่ายวันนั้น โดยมี พ.ต.อ.ผาด ดวงฤทธิ์ ผกก.สุราษฎร์ธานี นายเฉลิม พรหมเลิศ รอง ผวจ. นายลาภ ลาภชูรัตน์ ป้องกันจังหวัด ร่วมเจรจา
เย็นวันนั้น ผู้ว่าฯสนองยังได้เลี้ยงอาหารคณะของนายสุรชัยที่บังกะโลบนเกาะลำพู ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมี พ.ต.อ.ผาด ดวงฤทธิ์ นายเฉลิม พรหมเลิศ พ.ต.ท.วีระ ปานจันทร์ สวญ.อ.เมือง อดีต สวญ.อ.เวียงสระนายลาภ ลาภชูรัตน์ และปลัดวินัยร่วม จากนั้นก็ให้คณะของนายสุรชัยพักที่บังกะโลนั้น โดยมี พ.ต.ท.วีระและปลัดวินัยพักอยู่ด้วย รุ่งเช้าให้นำไปกินกาแฟคุยกันที่จวนผู้ว่าฯ
แม้เรื่องนี้จะเป็นความลับสุดยอด ไม่มีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทราบเรื่องเลย แต่ฝ่ายทหารก็ทราบตั้งแต่ตอนบ่าย เป็นที่เปิดเผยต่อมาว่า หลังจากส่งคณะนายสุรชัยที่จวนแล้ว คนขับรถได้นำรถไปล้างที่ปั๊มน้ำมัน และเผลอพูดกับคนใกล้ชิดว่าที่รถเลอะก็เพราะไปรับนายสุรชัยมาพบผู้ว่าฯ หลังจากนั้นไม่นานเรื่องก็ไปถึงฝ่ายข่าวของกองทัพภาคที่ ๔
ระหว่างที่คณะผู้ว่าฯพานายสุรชัยไปรับประทานอาหารที่เกาะลำพู ฝ่ายทหารก็ติดตามดูตลอด จนเช้า ๐๕.๐๐ น.เศษ ขณะที่ พ.ต.ท.วีระและปลัดวินัยพาคณะนายสุรชัยนั่งเรือข้ามฟากจากเกาะลำพูจะมาขึ้นที่ท่าหน้าจวน พอใกล้ถึงฝั่งก็เห็นทหารและตำรวจมากมายพร้อมอาวุธตรูออกมา นายสุรชัยสั่งให้คนขับเรือหันหัวเรือกลับทันที แต่ พ.ต.ท.วีระห้ามไว้ เพราะแน่ใจว่าถ้าหันหัวเรือกลับก็จะถูกถล่มกลางน้ำแน่
พ.ต.ต.อุดม ระวิวงค์ สวป.ผู้นำกำลัง ตร.จาก สภ.อ.เมือง และร.ต.วัฒนา ดวงมณี ผบ.หมวดปืนเล็กชุดคุ้มครอง ๑๕๑ จะนำตัวนายสุรชัยกับพวกไปที่ค่ายทหาร แต่ พ.ต.ท.วีระและปลัดวินัยแจ้งว่านายสุรชัยกับพวกเป็นผู้ที่ผู้ว่าฯเชิญมาพบและรออยู่ที่จวนซึ่งอยู่ห่างเพียง ๒๐ เมตรเท่านั้น ขอไปพบผู้ว่าฯก่อน หลังเจรจากันอยู่พักใหญ่ ฝ่ายทหารก็ยอมให้นายสุรชัยกับพวกเข้าไปในจวนโดยล้อมจวนไว้ ต่อมา พ.อ.กิตติ รัตนฉายา ผบ.กรมทหารราบที่ ๑๕ ได้เข้าไปที่จวน เจรจากันอยู่นานก็ออกมาสั่งให้ทหารที่ล้อมอยู่ถอนกำลังกลับ โดยมีตำรวจประมาณ ๕๐ นายมารักษาการแทน ห้ามผู้ใดเข้าออก
ทหารที่ถอนกำลังออกไปนี้ได้ขึ้นรถยีเอ็มซี.๒ คันกลับที่ตั้ง ใช้เส้นทางผ่านกลางเมือง พากันไชโยโห่ร้องไปตลอดทาง ประกาศให้คนทั้งจังหวัดรู้ว่า
“จับสุรชัยคอมมิวนิสต์ใหญ่ได้แล้ว ไปดูตัวได้ที่จวนผู้ว่าฯ”
ราว ๑๓.๐๐ น. นายสนอง รอดโพธิ์ทอง แถลงกับผู้สื่อข่าวถึงการพบกับนายสุรชัย แซ่ด่านว่า เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นการจับกุมหรือมอบตัว กว่าจะตกลงมาพบกันได้ก็ใช้เวลาถึง ๒ เดือนเศษ การพบกันครั้งนี้จึงเป็นการปรึกษาหารือเพื่อให้สถานการณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีดีขึ้น และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองทำงานพัฒนาชนบทได้สะดวก ไม่มีการขัดขวางของ ผกค. และเพื่อยุติการจับอาวุธต่อไป
“ผมรับรองกับเขาก่อนจะมาพบว่า ด้วยเกียรติของลูกผู้ชายและตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเดิมพัน หากมีการจับกุมหรือมีข้อเสียหายใดๆเกิดขึ้นกับนายสุรชัยและพวก ผู้ว่าฯสนอง รอดโพธิ์ทองจะต้องลาออกจากตำแหน่งทันที ฉะนั้นจะให้เกิดความเสียหายใดๆไม่ได้โดยเด็ดขาด” ผู้ว่าฯสนองยืนยันหนักแน่น
เรื่องนี้ถูกรายงานเข้ากรุงเทพฯทันที แต่ฝ่ายต่างๆคงรายงานไปคนละทิศละทางจึงเกิดความสับสน พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รมต.มหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์ยกย่องผู้ว่าฯสนอง รอดโพธิ์ทอง ที่ทำงานอย่างได้ผลในการ “จับคอมมิวนิสต์ใหญ่” ซึ่งทำให้ผู้ว่าฯสนองกลับอึดอัดใจยิ่งขึ้น ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ขณะขึ้นเครื่องบินไปร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายเฟอร์ดินันด์ อี มาร์คอส ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ว่า
“เราไม่ได้จับเขา เขาเข้ามามอบตัวเอง”
นักข่าวถามว่าที่มีการจับกุมกันเพราะฝ่ายทหารกับฝ่ายจังหวัดไม่มีการประสานงานกันใช่หรือไม่ นายกฯเปรมยืนงงๆ แล้วว่า
“คงไม่ใช่เช่นนั้น ข้อมูลที่นักข่าวทราบอาจสับสน เชื่อว่าฝ่ายทหารจะแถลงอย่างเป็นทางการ รออีกหน่อย”
ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่ยอมรับในข้อตกลงระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับนายสุรชัย แซ่ด่าน ไม่ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงส่งนายสุรชัยฟ้องศาลในคดีอาญาที่ได้ก่อไว้รวมทั้งมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งศาลได้ตัดสินประหารชีวิต
แต่ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อขจัดความขัดแย้งทางความคิด นายสุรชัยจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวจนได้ติดคุกอีกหลายคดี และต้องลี้ภัยไปเคลื่อนไหวต่อในลาวหลังศาลทหารออกหมายจับในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ในปี ๒๕๕๗ และได้หายตัวไปจากบ้านพักในลาวเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
นี่ก็เป็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ ในยุคที่มีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงในสังคม ถึงกับจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันในป่า จนมาถึงในเมืองวันนี้อย่างไม่เห็นทางจบ