xs
xsm
sm
md
lg

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มแล้ว! จากขั้นตอนที่ ๑ จนถึงขั้นตอนสำคัญในต้นพฤษภาคม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกรัชกาลที่ ๙
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยึดถือตามแบบอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกรุงศรีอยุธยา แต่บางรัชกาลก็โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีเต็มตามแบบแผนโบราณ บางรัชกาลก็โปรดเกล้าฯให้ประกอบการพระราชพิธีอย่างย่อ หรือมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามสภาวะ เพื่อให้เหมาะสมกับเสถานการณ์และพระราชนิยมในแต่ละรัชกาล สำหรับในรัชกาลที่ ๑๐ นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูรรับสั่งว่า ให้จัดอย่างประหยัด อย่าให้สิ้นเปลือง ขอให้ครบตามจารีตประเพณีเท่านั้น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีขั้นตอนพิธีที่แบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำมูรธาภิเษก กับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

พิธีเบื้องต้น มีการเชิญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก แล้วประทับพระแท่นอัฐทิศอุทุมพร รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ รับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์

พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและพยุหยาตราทางชลมารค

สำหรับขั้นเตรียมพิธีนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๒ ม.ค.นี้ ถึงการเตรียมการส่วนของกระทรวงมหาดไทยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะการเตรียมพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศเพื่อทำน้ำมูรธาภิเษก โดยให้จังหวัดสำรวจแหล่งน้ำต่างๆใน ๗๖ จังหวัดรวม ๑๐๗ แห่ง ที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ ให้มีความพร้อมสำหรับการทำพิธีตักน้ำมาเข้าพิธี

คำว่า บรมราชาภิเษก มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่ง อภิเษก แปลว่า รดน้ำ

ต่างกับทางตะวันตก การขึ้นครองราชย์จะใช้คำว่า CORONATION ซึ่งมาจากคำว่า โคโลนา หมายถึงมงกุฎแห่งชัยชนะ ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของตะวันออกความสำคัญจึงอยู่ที่น้ำ แม้จะมีการถวายพระมหามงกุฎเป็น ๑ใน ๕ ของเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ทรงรับมาแล้ววางไว้ข้างพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศมีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น จึงทรงรับพระมหามงกุฎแล้วนำมาสวม ไม่ได้วางไว้ข้างพระองค์อย่างแต่ก่อน รัชกาลต่อๆมาจึงมีการสวมมงกุฎในพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

น้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า น้ำมูรธาภิเษก มาจากคำว่า มูรธา + อภิเษก ซึ่งมูรธาแปลว่า พระเศียร น้ำมูรธาภิเษกจึงหมายถึงน้ำรดพระเศียรนั่นเอง

น้ำที่เป็นมงคลยิ่งนี้ จึงต้องนำมาจากแหล่งที่มีความหมายเป็นมงคล ทั้งยังรวบรวมมาจากหลายแห่งด้วย

ตามตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำมูรธาภิเษกจะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งแม่น้ำทั้ง ๕ ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่ซึ่งศาสนาพราหมณ์และฮินดูถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร

ในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันอาจเป็นเรื่องพ้นวิสัย ในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมได้กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองสุโขทัย มีข้อความว่า

“น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้นครจำปาศักดิ์นั้นใช้เป็นน้ำอภิเษก”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากน้ำในสระเกศ สระแก้ว สระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เท่านั้น

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญอีก ๕ สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” อนุโลมตามตำราพราหมณ์ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป โดยตักมาจากแม่น้ำ ๕ สายในพระราชอาณาจักร ดังนี้

            ๑. น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี
            ๒. น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม 
            ๓. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
            ๔. น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
            ๕. น้ำในแม่น้ำบางประกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก

โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีต่อที่พระนคร

แหล่งน้ำมูรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ นี้ ได้ใช้เป็นน้ำในพระราชพิธีในรัชกาลต่อๆมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย ๔ รูป สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมูรธาภิเษก เพิ่มขึ้นอีกอย่าง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ก็ใช้น้ำเบญจสุทธิคงคา และน้ำในสระ ๔ สระจากเมืองสุพรรณบุรี เป็นน้ำมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับที่เคยใช้ในรัชกาลก่อนๆ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดียในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงได้นำน้ำปัญจมหานทีที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์ กลับมายังประเทศสยามด้วย และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ จึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง ๔ ของเมืองสุพรรณบุรี

ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงใช้น้ำบรมราชาภิเษกสมโภชมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีใน พ.ศ. ๒๔๕๔ นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง ๔ สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆ และแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล มาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของมหานครโบราณในย่านนั้น

เมื่อได้น้ำที่ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยอัญเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงวันงานจึงอัญเชิญเข้าพิธีสวดพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำน้ำตามมณฑลต่างๆเช่นเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกจากมณฑลมาเป็นจังหวัด ตามระบบการปกครองใหม่

การนำน้ำมาจากแหล่งต่างๆทั่วประเทศมาทำพิธีบรมราชาภิเษก อาจมีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์อย่างพร้อมเพรียงทั่วพระราชอาณาจักร


กำลังโหลดความคิดเห็น