xs
xsm
sm
md
lg

“คพ.” โพสต์โต้ “นิด้า” โลหะหนักในฝุ่น PM2.5 ชาวเน็ตวิจารณ์ยับอธิบายเข้าใจยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมควบคุมมลพิษ” โพสต์ชีแจง หลัง “นิด้า” วิจัยพบสารก่อมะเร็งลอยละล่องในอากาศ ระบุ ต้องพิจารณาหลากหลายประเด็นอย่างรอบคอบ ทำชาวเน็ตหัวเสียอธิบายเข้าใจยาก

จากกรณี นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวข้องกับโลหะหนักในฝุ่นละออง PM2.5 ที่วัดได้ในชั้นบรรยากาศทั่ว กทม. ประเด็นที่ 1. ผลวิจัย 1 ปี พบธาตุทางเคมีที่เป็นโลหะหนัก ซึ่งเป็นธาตุก่อมะเร็งปะปนอยู่ในอากาศระดับต้องเฝ้าระวังอยู่ถึง 3 ชนิด คือ “สารหนู” “ซีลีเนียม” และ “แคดเมียม” โดยกลุ่มธาตุพวกนี้เกิดจากการเผาไหม้ของอุตสาหกรรมและยานพาหนะ

2. คณะวิจัยฯ ได้เก็บค่าระดับความเข้มข้นของโลหะหนักในฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 จากสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง ที่จุฬาฯเป็นเวลา 2 ปี พบธาตุโลหะหนักเพิ่มอีก 2 ชนิด คือ “ทังสเตน” และ “แคดเมียม” โดยธาตุ 2 ชนิดนี้พบในส่วนผสมของโลหะดิสก์เบรกยานยนต์ เพราะปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศตอนนี้ทั้งหมดมีฤทธิ์ก่อมะเร็งในร่างกายได้ หากสะสมไว้ปริมาณมาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. กรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมาชี้แจงว่า

“ปริมาณฝุ่น รวมทั้งองค์ประกอบของฝุ่นจะมีความแตกต่างกันตามฤดูกาล และกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียง การวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นสามารถใช้เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้ เช่น โปแตสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไม้ (wood burning), สังกะสี (Zn) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผามูลฝอย, โซเดียม (Na) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นละอองจากทะเล, นิกเกิล (Ni) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไหม้น้ำมัน (oil burning), อะลูมิเนียม (Al) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) แคลเซียม (Ca) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นในเมืองหรือฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน และ สารหนู (As) แคดเมียม (Cd) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นจากอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายประการ เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว อุปนิสัย เป็นต้น การพิจารณาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นที่บุคคลได้รับ ในประเด็นนี้ จึงต้องมีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ”

อย่างไรก็ตาม หลังกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงออกไปนั้น ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ได้ระบุในทำนองเดียวกันว่า กรมควบคุมมลพิษ อธิบายเกี่ยวกับ โลหะหนักในฝุ่นละออง PM2.5 เข้าใจยากเกินไป

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pancheeva ... ได้ระบุข้อความว่า “สรุปคืออะไร อ่าน 3 รอบก็ยังงง ใครที่ป่วย ก็เพราะไม่แข็งแรงเอง ช่วยไม่ได้ ประมาณนั้นเหรอคะ ร่ายยาว แต่เข้าใจยาก แทบหาประเด็นที่จะสื่อไม่เจอ เหมือนเด็กมัธยม ที่พยายามทำรายงายให้ถึงขั้นต่ำ 10 หน้า ตามที่ครูสั่ง เอานู่นนี่นั่นมาแปะจนเปะปะไปหมด”

Vorachaet ... ระบุข้อความว่า “คนฉลาดจะมีวิธีสื่อสารอย่างง่ายให้เข้าใจ
คนเก่งจะมีวิธีคิดและแก้ปัญหาชัดเจน รวดเร็ว กรมควบคุมมลพิษควรหาผู้อำนวยการฯ ที่ฉลาดและเก่งบ้างนะครับ”

Sirichot ... ระบุว่า “อยากได้องค์กรที่พูดแล้วเข้าใจง่าย สื่อง่ายๆ ครับ เช่น คุณต้องเตรียมหน้ากากนะ ลักษณะนั้นนี้ นฝตอนนี้ค่ามันเกินมาตรฐานแล้ว เดวทางเราจะติดต่อกับรัฐบาล ทำการผลิตหน้ากากเพิ่ม หรือแจกจ่ายประชาชนแบบนี้อ่ะครับ ไม่ใช้เอาบทความ ทฤษฎีมาพล่ามให้ฟัง คนที่ไม่อยู่ในสายงานคุณ ไม่เข้าใจหรอกครับ // ไอเรื่องเอามาตรวจสอบมันคือหน้าที่คุณ ประชาชนไม่ได้อยากรู้ กระบวนการขั้นตอนอะไรแบบนั้นครับ อยากรู้ แค่ว่า ฝุ่นมันเยอะไม่เยอะยังไง ต้องเตรียมการยังไง แค่นั้นครับ”

Susu ... ระบุว่า “อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายประการ เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว อุปนิสัย เป็นต้น การพิจารณาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นที่บุคคลได้รับ ในประเด็นนี้ จึงต้องมีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ...“หมายความว่าไง หมายความว่า ต่อให้เกินมาตรฐานแต่ก็มีผลกะคนที่ไม่แข็งแรงเท่านั้น โดยรวมๆแล้วยังไม่มีผลเท่าไหร่ คนแข็งแรงไม่ต้องกลัวงี้เหรอเผอิญว่าของแบบนี้มันสะสมอะดิถ้าเกินมาตรฐานก็แปลว่าอันตรายละล่ะ จะปฏิเสธข้อมูลที่ว่าเกินมาตรฐานมั้ยล่ะ”

Napat ... ระบุว่า "จะบอกว่าที่ป่วยๆ กันน่ะ ไม่ใช่เพราะฝุ่นมันเกินมาตรฐาน แต่ประชาชนที่ป่วยมันร่างกายอ่อนแอเองว่างั้น? เขียนให้เข้าใจง่ายๆ หน่อยสิครับ”









กำลังโหลดความคิดเห็น