ในสงครามครั้งที่ ๒ ระหว่างไทยกับพม่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์หนุ่มผู้กระหายสงคราม เห็นว่ากรุงศรีอยุธยากำลังยุ่งเหยิงในการกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา จึงกรีฑาทัพมาล้อม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๖ เดือน ทรงนำทัพออกไปเผชิญหน้าข้าศึกที่ทุ่งภูเขาทอง สมเด็จพระสุริโยทัย เอกอัครมเหสี ได้แต่งองค์เป็นพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับออกรบ ทรงช้างตามเสด็จพระสวามีไปด้วย พร้อมพระเจ้าลูกยาเธอ ๒ พระองค์ พระราเมศวรและพระมหินทร์ เมื่อกองทัพทั้งสองเข้าปะทะกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ช้างทรงของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเสียทีหันหลังหนีข้าศึกจนควาญเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรขับช้างไล่ตามกระชั้นชิด สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะมีอันตรายจึงขับช้างเข้าขวาง พระเจ้าตะเบงชะเวตี้เข้าใจว่าเป็นชาย จึงฟันด้วยพระแสงของ้าวเข้าที่ไหล่สมเด็จพระสุริโยทัยขาดถึงกลางองค์ สวรรคตคาคอช้าง
วีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย นอกจากจะทำให้กษัตริย์หนุ่มผู้คะนองศึกเกิดละอายพระทัยที่ได้ทำยุทธหัตถีกับสตรี จนต้องยกกองทัพกลับไปแล้ว ยังเป็นที่กล่าวขวัญและสรรเสริญเลื่องลือไปทั่วแคว้นแดนต่างๆ หลังจากนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ได้รับสาส์นจากพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีความว่า
“...ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราช ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา...ข้าพระองค์ยังไม่มีเอกอัครราชกัลยาณีที่จะสืบศรีสุริยวงศ์ในกรุงศรีสัตนคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญาในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นดินเดียวกันชั่วกาลปาวสาน...”
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตพระองค์นี้มีนามว่า สมเด็จพระไชยเชษฐาธิดา เป็นโอรสของพระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง ประสูติจากพระมารดาซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าตาสวรรคต เหล่าอำมาตย์ของล้านนาได้ขอพระไชยเชษฐาไปครองนครเชียงใหม่ แต่ครองได้ ๒ ปีพระเจ้าโพธิสารสวรรคต พระไชยเชษฐาได้มาเคารพศพพระบิดาที่ล้านช้าง โดยได้นำพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปให้ชาวล้านได้สักการะในงานศพด้วย แต่ก็ต้องขึ้นครองราชย์กรุงศรีสัตนาคนหุตแทนพระราชบิดา เลยไม่ได้กลับเชียงใหม่ ต่อมาได้ทรงสร้างราชธานีใหม่ขึ้นที่เวียงจันทน์ และได้นำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่นครหลวงแห่งนี้ด้วย
ราชอาณาจักรลาวในสมัยของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช เป็นยุครุ่งเรือง มีกองทัพที่เข้มแข็ง พระองค์ได้รับยกย่องเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว ต่อจากพระเจ้าฟ้างุ้ม แม้แต่กองทัพหงสาวดีในยุคบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศ ก็ยังไม่สามารถปราบพระไชยเชษฐาให้ราบคาบได้ ครั้งนั้นพระเจ้าบุเรงนองส่งกองทัพใหญ่ไปล้อมเวียงจันทน์ สมเด็จพระไชยเชษฐาเห็นว่ากำลังสู้กันไม่ได้ จึงยกทัพหลบเข้าป่า เป็นกองโจรคอยซุ่มโจมตีจนไพร่พลพม่าล้มตายเป็นอันมาก ออกหาเสบียงนอกเมืองก็ไม่ได้ ทหารในเมืองพากันอดอยาก จึงต้องถอยกองทัพส่วนใหญ่กลับไป พระไชยเชษฐาเลยได้ทีเข้าตีเอาเวียงจันทน์กลับมาได้ แต่ก็ถูกพม่ากวาดต้อนครอบครัวไปหมด ทั้งพระราชชนนี พระนางยอดทิพ พระนางยอดคำ มเหสีซ้ายขวา รวมทั้งพระสนมทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้พระไชยเชษฐาส่งพระราชสาส์นมาถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในครั้งนี้
เมื่อได้รับพระราชสาส์นขอพระราชธิดาของพระไชยเชษฐา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ประชุมปรึกษาเหล่ามุขมนตรีว่า กรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีก็เป็นอริกัน หากมีพระไชยเชษฐาที่เป็นอริกับกรุงหงสาวดีด้วยกันมาเป็นพันธมิตร ก็น่าจะเสริมความมั่นคงให้ได้ จึงพระราชทานให้ตามคำขอ
เมื่อได้รับคำตอบ สมเด็จพระไชยเชษฐายินดียิ่งนัก แต่งทูตกับเถ้าแก่และไพร่ ๕๐๐ คนมารับ แต่ขณะคณะทูตมาถึงนั้น พระเทพกษัตรีทรงประชวรหนัก ไม่สามารถเดินทางได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเกรงว่าหากบอกไปตามความจริงว่าประชวร พระไชยเชษฐาอาจจะเข้าใจไปว่าบ่ายเบี่ยงไม่ทำตามวาจา จึงทรงส่งพระแก้วฟ้า พระราชธิดาอีกองค์ไปแทน
ฝ่ายสมเด็จพระไชยเชษฐาทรงทราบว่าพระราชธิดาที่ทรงส่งมาเป็นพระราชธิดาต่างพระมารดากับพระเทพกษัตริย์ตรี ก็เสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสว่า เราจำนงขอพระเทพกษัตรีซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย ที่เสียพระชนม์กับคอช้างแทนพระราชสวามี อันเป็นวีรกรรมอันประเสริฐ จึงขอส่งคืนพระแก้วฟ้ามายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระราชสาส์นที่มีข้อความว่า เดิมพระองค์พระราชทานพระเทพกษัตรีให้ กิติศัพท์นี้ก็รู้กันไปทั่วขอบขัณฑเสมากรุงศรีสัตนาคนหุตแล้ว บัดนี้ทรงส่งพระแก้วฟ้ามาแทน ถึงมาตรว่าพระแก้วฟ้าจะโสภากว่าพระเทพกษัตรีร้อยเท่าพันเท่า ก็ยังล้างกิตติศัพท์พระเทพกษัตรีเสียมิได้ จะเป็นที่อัปยศชั่วกัลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าคืน ขอพระราชทานพระเทพกษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจพระราชสาส์นแต่ก่อน
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแจ้งในพระราชสาส์นก็ละอายพระทัยนัก พอพระเทพกษัตรีหายจากพระประชวรจึงส่งพระราชธิดาเลือดเนื้อเชื้อไขสมเด็จพระสุริโยทัยไปให้ตามคำสัญญา
ครั้นเรื่องนี้รู้ถึงขุนพิเรนทรเทพ ผู้นำในการกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา แล้วไปเชิญพระเทียรราชามาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักพรรดิ ได้รับการตอบแทนสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา ไปครองเมืองพิษณุโลก พร้อมพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาองค์โตให้เป็นอัครมเหสี แต่ต่อมาพระมหาธรรมราชามีใจฝักใฝ่พระเจ้าบุเรงนอง เกรงว่าพระน้องนางของอัครมเหสีจะตกไปอยู่เมืองลาว จึงส่งม้าเร็วแจ้งเรื่องไปยังกรุงหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งคนคุมพล ๑๐,๐๐๐ คนมาดักซุ่มอยู่ที่ตำบลมะเริง นอกด่านเมืองเพชรบูรณ์ และชิงเอาพระเทพกษัตรีไปกรุงหงสาวดีได้
เมื่อทราบข่าวพระเทพกษัตรีถูกชิงตัวไปกลางทาง สมเด็จพระไชยเชษฐาก็รู้ว่าพระมหาธรรมราชาต้องเป็นตัวการในเรื่องนี้แน่ จึงจัดทัพจะไปตีเมืองพิษณุโลกชำระแค้น แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ตรัสมาห้ามไว้
นี่ก็เป็นประวัตศาสตร์ช่วงหนึ่งที่แสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละของวีรสตรีไทย ที่ได้รับการกล่าวขวัญสรรเสริญเลื่องลือไปทั่ว และเป็นวีรกษัตรีที่มหาราชเพื่อนบ้านยังต้องการเลือดเนื้อเชื้อไขไปสืบรัชทายาท