xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ทดสอบโดรน 12 ลำ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ​ (สปท.)​ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ​ (สวทช.)​ และกรมควบคุมมลพิษ​ ปฏิบัติการแก้ไขฝุ่นละอองด้วยการนำอากาศยานไร้คนขับฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศทำให้ละอองฝุ่นในอากาศมีค่าลดลงเล็กน้อย​ ณ​ สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร​

วันนี้ (22 ม.ค.) สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ​ หรือ สวทช. และกรมควบคุมมลพิษ​ ปฏิบัติการแก้ไขฝุ่นละออง PM 2.5 ทดลองและทดสอบการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเริ่มจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการทดสอบนำโดรนทั้งหมด 12 ลำ มาฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน

อากาศยานไร้คนขับที่ขึ้นบินสูงจากพื้นดินประมาณ 25 เมตร ในการฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นขนาดเล็กที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ใช้เวลาในการบินต่อครั้งประมาณ 42 นาที และใช้น้ำต่อลำในครั้งละ 10 ลิตร สามารถปล่อยต่อเนื่อง 190 ลิตรต่อการบิน 1 ชั่วโมงวันนี้ถือว่าเป็นการทดลองครั้งที่ 5 ที่จะนำอากาศยานไร้คนขับขึ้นบินเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นขนาดเล็กที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ทดสอบที่สวนวชิรเบญจทัศ สวนรถไฟ ที่มีเนื้อที่ 3,200 ตารางเมตร หรือประมาณ 2 ไร่

การตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะมีหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ กรมควบคุมมลพิษค่อยตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งต้องใช้เวลาหลังจากบินเสร็จประมาณ 1 ชั่วโมงจึงจะทราบผล

สำหรับการทดสอบ 4 ครั้งที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ลดลงประมาณ 10 ไมโครกรัม จะลดน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่วันนี้การทดสอบครั้งที่ 5 วัดจากการบินโดรนขึ้นจากสภาพอากาศแบบเรียลไทม์จาก 54 ไมโครกรัม ลดลงเหลือ 49 ไมโครกรัม สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กตอนนี้ที่สวนรถไฟดีขึ้นกว่าเมื่อวาน ซึ่งการทดสอบนำโดรนขึ้นพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นขนาดเล็กในครั้งนี้ทำให้หลายหน่วยงานหวังเป็นอย่างยิ่งจะสามารถช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้

นอกจากนี้ยังมีแผนในการดำเนินการประสานงานและขอรับการสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศที่มีขีดความสามารถและมีประสบการณ์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งแผนการปฏิบัติในอนาคต หากผลการทดสอบ ประสบความสำเร็จจะได้พิจารณา ขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นต่อไป























กำลังโหลดความคิดเห็น