xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือยัง พระเจ้าอู่ทองที่แท้ก็เป็นโอรสตัณหาจัดของพระเจ้ากรุงจีน! ทั้งยังเป็นผู้สร้างนครวัด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

หน้าตาของวันวลิตที่เขียนกันไว้
อ่านหัวเรื่องนี้แล้วก็ต้องงงกันแน่ แต่เรื่องราวอันพิลึกพิลั่นนี้ปรากฏอยู่ใน “พงศาวารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ.๒๑๘๒” หนังสือเล่มของภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ซึ่งมีคำอธิบายไว้ว่า

“พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ.๒๑๘๒ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าแก่ มีอายุประมาณ ๓๔๐ ปี โดย วันวลิต ชาวฮอลันดาซึ่งเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้เขียนขึ้นจากหลักฐานของไทยและคำบอกเล่า งานนี้กว่าจะพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี และด้วยความร่วมมือของนักวิชาการหลายประเทศ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ใหม่มากมาย ควรแก่การพินิจพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนวันวลิตก็ได้กล่าวอารัมภบทไว้ว่า

“เรื่องราวต่อไปนี้ ซึ่งได้ค้นคว้าและวิจัยด้วยความอยากรู้อยากเห็น เพื่อที่จะได้ทราบที่มาของชาติสยามผู้ก่อตั้งประเทศ ผู้สร้างราชอาณาจักร และพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกมาจนถึงปัจจุบันเป็นใครบ้าง เรื่องราวที่ได้สืบสาวได้มานี้ ไม่ได้รับการเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ แต่เป็นเรื่องนิยายเสียหลายเรื่อง (บางเรื่องก็สมเหตุผลและมีร่องรอยความจริงปรากฏอยู่) ดังนั้น ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด...” และเล่าว่า

“เป็นเวลานานกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งซึ่งปกครองแว่นแคว้นหลายแว่นแคว้นในประเทศจีน (ชาวสยามไม่ทราบพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้) พระองค์มีโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าอู่ ซึ่งเป็นเจ้าชายที่ตัณหาจัด ได้ข่มเหงภรรยาขุนนางจีนสำคัญๆไปหลายคน หญิงคนใดที่ไม่ยอมให้พระองค์ข่มเหงก็ถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าร้องเรียนพระเจ้าแผ่นดินถึงความประพฤติตัวไม่ถูกต้องทำนองครองธรรมของพระราชโอรส และขู่จะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินออกจากราชบัลลังก์ถ้าหากพระองค์ทรงปฏิเสธไม่ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและตั้งใจที่จะปลงพระชนม์พระราชโอรส แต่สมเด็จพระราชินีทรงคัดต้าน และเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้พระราชโอรสออกนอกประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและเล่าความคิดนี้แก่พวกขุนนาง พวกขุนนางก็พออกพอใจและเห็นด้วยกับพระองค์

เมื่อพระราชโอรสได้ทราบข่าวการเนรเทศ พระองค์ไม่ทรงแปลกพระทัยมากนัก พระองค์ตรัสว่า “พวกขุนนางพิจารณาว่าฉันประพฤติตัวเลวมากถึงขนาดจะฆ่าฉันหรือฆ่าพระราชบิดา และพระบิดาตัดสินว่าฉันควรจะไปเสียให้พ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ฉันจะยอมรับพระบรมราชโองการทุกประการ”

พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเรือสำเภาหลายลำพร้อมทั้งเสบียงมากมาย เช่น ข้าว อาวุธยุทธภัณฑ์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเดินทางไกลให้แก่พระราชโอรส พระองค์ยังพระราชทานข้าราชบริพารให้อีก ๒๐๐.๐๐๐ คน และของมีค่าต่างๆ ดังนั้นพระราชโอรสก็ออกเดินทางจากประเทศจีนพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติดังกล่าว พระราชโอรสทรงตั้งพระทัยที่จะตั้งถิ่นฐานตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและกระแสลมพัดพาขบวนเรือของพระองค์ไป

ขบวนเรือของเจ้าอู่มาถึงปัตตานีโดยบังเอิญ พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ขึ้นบกที่นั่น แต่เมื่อพระองค์ทรงพบว่าปัตตานีเป็นเมืองที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นแล้ว พระองค์จึงไม่ต้องการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปัตตานีอีก เสด็จลงเรือเดินทางเลียบชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดินจนถึงอุสุปัตตานี พระองค์ได้สร้างเมืองลังกาสุกะขึ้นที่นั่น หลังจากที่พระองค์ได้จัดการเมืองใหม่ให้เป็นปึกแผ่น ประกอบด้วยประชาชน ทหาร มีกฎหมายและระเบียบเรียบร้อยแล้ว พระองค์เสด็จลึกต่อไปในแผ่นดินจนถึงบริเวณที่เรียกว่า ลีคร (นครศรีธรรมราช) เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นแต่เพียงป่ารกร้าง พระองค์ทรงฉวยโอกาสตั้งเมืองขึ้นที่นั่นเอง เรียกว่า เมืองลีคร พระองค์ได้ปกครองเมืองลีครและจัดให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง และเสด็จต่อไปจนถึง กุย และถึงแม้พระองค์ทรงพบว่าเป็นแต่เพียงป่าก็ตาม พระองค์ยังทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง และประทับอยู่ที่เมืองนี้ตลอดมา

ในเวลานั้น มีเรือสำเภาจากจักรพรรดิจีนสองลำมาปรากฏที่เมืองกุย และมีข่าวเข้าหูเจ้าอู่ว่า นายเรือและพ่อค้าจีนยินดีที่จะได้รับไม้ฝาง พระองค์จึงใช้วิเทโศบายให้ไม้ฝางแก่บุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนมากเท่าที่เรือทั้งสองจะบรรทุกไปได้ ดังนั้นพวกพ่อค้าจึงกลับเมืองจีนไปด้วยความปีติอย่างล้นพ้น เมื่อมาถึงเมืองจีนก็ได้รายงานให้จักรพรรดิทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ไม้ฝางมาเป็นของกำนัล พระเจ้าจักรพรรดิทรงปีติเป็นอย่างมาก จึงยกพระธิดาพระนามว่า นางปะคำทอง ให้อภิเษกกับเจ้าอู่ พระองค์ได้จัดพิธีส่งพระราชธิดาอย่างเอิกเกริก นอกจากนี้ยังพระราชทานนามเจ้าอู่ว่า ท้าวอู่ทอง เพื่อเป็นรางวัลอีกด้วย

หลังจากเจ้าอู่ซึ่งมีพระนามใหม่ว่าท้าวอู่ทอง ครองราชย์สมบัติอยู่ที่เมืองกุยกับพระมเหสีธิดาจักรพรรดิจีนชั่วระยะเวลาอันสั้น พระองค์ก็ตัดสินพระทัยที่จะตั้งบ้านเมืองในประเทศสยามให้ดีกว่านี้ เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีโอกาสที่จะทำได้ พระองค์ก็ทรงเดินทางออกจากเมืองกุย และสร้างเมืองอื่นๆขึ้นอีก เมืองแรกได้แก่ พริบพลี(เพชรบุรี)

ขณะที่กำลังขุดดินอยู่นั้น คนงานก็ได้พบรูปปั้นทองแดงสูงประมาณหกสิบฟุตนอนอยู่ใต้ดิน ซึ่งนำความแปลกใจมาให้พระเจ้าอู่ทองเป็นอันมาก แต่หลังจากที่พระองค์ได้สดับคำอธิบายเกี่ยวกับรูปปั้นและรากฐานของศาสนาชาวสยาม พระองค์จึงได้เปลี่ยนจากนับถือศาสนาของจีนมานับถือศาสนาของชาวสยาม
หลังจากนั้นพระเจ้าอู่ทองก็ได้สร้างเมือง คองขุดเทียม และ บางกอก ขณะนั้นพระองค์ทรงทราบข่าวเกี่ยวกับเกาะซึ่งจะเป็นที่ตั้งเมืองอยุธยา และพระองค์ทรงฉงนพระทัยเป็นอย่างมากที่สถานที่สวยงามเช่นนั้นไม่มีผู้คนอาศัยหรือมีใครตั้งบ้านเรือน แต่พระองค์ก็ทรงได้พบพระฤาษีตนหนึ่งซึ่งได้ทูลว่า เมื่อก่อนนี้มีเมืองๆหนึ่งตั้งอยู่ ชื่อว่า อยุธยา แต่พระฤาษีไม่สามารถกราบทูลได้ว่าเมืองนั้นได้เสื่อมโทรมไปอย่างไร และยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ไม่มีใครจะสร้างเมืองบนเกาะนั้นได้อีก เหตุผลก็คือมีสถานที่หนึ่งชื่อ วัดตะแลงแกง ปัจจุบันอยู่ใจกลางเมือง มีบ่อซึ่งเป็นที่อาศัยของมังกรดุร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งชาวสยามเรียกว่า นาคราช เมื่อไรก็ตามที่มังกรตัวนี้ถูกรบกวน ก็จะพ่นน้ำลายพิษออกมา ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆบริเวณนั้นเกิดโรคระบาด เสียชีวิตเพราะกลิ่นเหม็น ท้าวอู่ทองตรัสถามพระฤาษีว่าจะฆ่ามังกรแล้วถมสระเสียจะได้หรือไม่ พระฤาศีกราบทูลว่าไม่มีวิธีที่จะแก้ไขได้ นอกจากจะต้องหาฤาษีที่มีลักษณะเหมือนฤาษีองค์นั้นทุกอย่าง โยนลงไปให้มังกร ดังนั้นท้าวอู่ทองจึงมีพระบรมราชโองการให้สืบหาฤาษีลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ’

พระฤาษีได้กล่าวต่อไปว่า เมื่อฆ่ามังกรและถมสระแล้ว หากท้าวอู่ทองต้องการจะอยู่ในที่นั้นด้วยสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ จะต้องทำ ๓ ประการดังนี้ ยิงลูกธนูออกไปและต้องให้กลับมาเข้ากระบอกธนู ชโลมร่างกายทุกวันด้วยมูลโค และเป่าเขาสัตว์ทุกวัน เฉกเช่นพราหมณ์ปฏิบัติเมื่อเวลาลงโบสถ์ หรือไปยังสถานที่สักการะ
ท้าวอู่ทองตรัสว่าพระองค์สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ แล้วพระองค์เสด็จลงเรือเล็กมุ่งสู่กึ่งกลางแม่น้ำ ยิงลูกธนูไปยังต้นน้ำ ขณะที่ลูกธนูไหลตามน้ำมายังพระองค์ ก็ใช้กระบอกลูกธนูตักลูกธนูไว้ได้ และแทนที่จะใช้มูลโคชโลมพระวรกาย พระองค์กลับใช้เมล็ดข้าวผสมกับน้ำมันขี้ผึ้งเล็กน้อย ตรัสว่าข้าวขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยมูลโค ทั้งนี้พระองค์ทรงหมายความว่ามูลโคเป็นส่วนหนึ่งของข้าว ในเรื่องเป่าเขาสัตว์นั้นพระองค์ได้มีพระราชโองการให้มวลใบพลูและเสวยเป็นหมากพลู ซึ่งย่อมจะมีลักษณะเหมือนเป่าเขาสัตว์

พระฤาษีทูลว่า “พระองค์ทรงสามารถทำให้ลูกธนูหวนกลับมาหาพระองค์ได้ หมายความว่าประชาชนของพระองค์จะสามัคคีซึ่งกันและกัน สงครามในอาณาจักรจะไม่ปรากฏ”

“ประการที่สอง เนื่องจากพระองค์ใช้วิเทโศบายในการใช้มูลโค ดังนั้นพระองค์และประชาชนของพระองค์จะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไข้ทรพิษบ้างเล็กน้อย”

“ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสุดท้าย เนื่องจากพระองค์ใช้ใบพลูมวนให้เหมือนเขาสัตว์ เทพยดาจะรักพระองค์มากมาย จะนำโชคชัยมาสู่พระองค์ด้วย”

ในระหว่างนั้นผู้ส่งข่าวซึ่งได้ออกไปสืบหาพระฤาษี ได้กลับมาทูลว่า ไม่สามารถจะหาฤาษีลักษณะเช่นนั้นได้ ท้าวอู่ทองทรงเก็บข่าวนี้ไว้เป็นความลับ และได้เสด็จพร้อมฤาษีไปที่ปากสระซึ่งเป็นที่อยู่ของมังกร และโดยที่ไม่ได้ตรัสให้พระฤาษีรู้ตัว พระองค์ทรงเหวี่ยงพระฤาษีลงสระไป และถมสระเสีย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มังกรก็ไม่ได้ปรากฏตัวขึ้นมาอีก และแผ่นดินก็พ้นจากโรคระบาด

ต่อจากนั้น ท้าวอู่ทองก็เริ่มบูรณะเมืองในวันขึ้นห้าค่ำ เดือนสี่ ปีขาล และเรียกเมืองนี้ว่า อยุธยา พระองค์ยังทรงสร้างวัดขึ้นอีกสามวัด ซึ่งถือว่าเป็นวัดสำคัญคู่พระราชอาณาจักรแห่งนี้ คือ วัดนพธาตุ ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่สุด วัดราชบูรณะ มีขนาดและลักษณะเหมือนวัดนพเกตุ แต่ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปที่วัดนี้ เนื่องจากคำทำนายที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่เสด็จไปจะสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน และวัดเดือน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นโรงเรียนสำหรับสงฆ์ ที่สำคัญที่สุด เมื่อท้าวอู่ทองได้สร้างเมืองอยุธยาเรียบร้อยแล้ว ก็เป่าประกาศเรียกประชุมราษฎรและสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์มีพระราชโองการให้ราษฎรแสดงความจงรักภักดี มิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง และยังขยายความรุ่งโรจน์ของพระองค์ออกไปด้วยการเปลี่ยนพระนามใหม่ เป็น สมเด็จพระราชารามาธิบดีศรีศรินทบรมจักพรรดิราชราเมศวรธรรมมิกราชดิ์เจ้า ศรีบรมเทพตรีภูวนารถธิเบศรบรมพิตรพระเจ้าอู่ทอง พระราชทินนามที่บ่งให้เห็นถึงความภาคภูมิใจและโอ่อ่าของพระองค์ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใดใช้พระนามเช่นนี้อีก

หลังจากพระองค์ได้ปกครองอยุธยาแล้ว ก็ได้ประกาศองค์เป็นกษัตริย์และสร้างเมืองนครชัยศรี เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย และเมืองกำแพงเพชร ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเมืองสำคัญในอาณาจักรสยาม จักรพรรดิจีนทรงทราบข่าวการตั้งถิ่นฐานของพระราชบุตร ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงส่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นสลักบนแผ่นทองมายังสยาม ความสัมพันธ์อันมั่นคงระหว่างพระเจ้าแผ่นดินจีนและพระเจ้าแผ่นดินสยามก็มีตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองถึงปัจจุบันนี้ นี่เป็นเหตุผลที่พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเอกสิทธิ์ จะส่งเรือสำเภาและราชทูตไปเมืองกวางตุ้ง พระเจ้าอู่ทองครองราชย์อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาได้ประมาณ ๑๐ ปี บรรดาโหรหลวงและหมอดูทั้งหลายกกราบทูลว่า ได้เห็นดวงดาวโคจรไปในทางนำความพินาศมาสู่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งดูเหมือนว่าประชาชนทั้งหมดจะต้องตายลง ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอู่ทองจึงมีพระบรมราชโองการให้ประชาชนทุกคนฝังทอง เงิน และ ฯลฯ แล้วหนีไปกับพระองค์สู่นครกัมพูชาโดยทางบก พระเจ้าอู่ทองและข้าราชบริพารได้พบเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในป่า แต่ยังไม่เป็นที่พอพระทัย พระองค์จึงสร้างเมืองใหม่ขึ้น และก่อด้วยหินธรรมชาติ ซึ่งพระองค์ขนานนามว่า นครหลวง (ชื่อหนึ่งของนครวัด) ประวัติศาสตร์เก่าแก่ของสยามระบุว่าเมืองนี้ได้รับการก่อสร้างอย่างสวยงามเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะทำได้ ดังนั้นจึงมีคำกล่าวกันว่าเทพยดาลงมาจากสวรรค์มาช่วยก่อสร้างเมืองที่สวยงามแห่งนี้ในเมืองกัมพูชา แต่ชาวสยามหลายคนว่าท้าวอู่ทองสร้างเมืองนี้

พระเจ้าอู่ทองประทับอยู่ที่กัมพูชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นเวลา ๙ ปี แต่เนื่องจากเมืองนี้อยู่ไกลจากทะเล และไม่มีเรือสำเภาจากเมืองจีนหรือเมืองอื่นๆแวะมาเลย ประกอบทั้งโหรหลวงได้กราบทูลว่า ความวิบัติอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาได้ผ่านไปแล้ว พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และให้พระราชโอรสปกครองนครหลวงแทน และพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงศรีอยุธยานั้นเอง รวมพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา และเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ได้อ้างว่าทรงมีพระราชอำนาจบังคับบัญชาและปกครองสูงสุดเหนือแผ่นดินกัมพูชา พระเจ้าอู่ทองเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ชาญฉลาด มีโวหารดี รอบคอบ กล้าหาญ คล่องแคล่วว่องไว เสรีนิยม เป็นห่วงใยทหารและประชาชน รวมทั้งอุทิศตนให้ศาสนาอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีราชทินนามและตำแหน่งหลายอย่างก็ตาม พระองค์ก็ไม่เคยลำพองเลย กลับถ่อมพระองค์ มีเมตตาและเข้ากับประชาชนได้ดี พระองค์มิทรงเป็นผู้ผลีผลามและขาดความยั้งคิดเมื่อพิจารณาลงโทษ แต่พระองค์จะเข้มงวดและยุติธรรม เนื่องจากพระองค์ทรงไว้ซึ่งคุณความดีหลายประการ จึงเป็นที่รักของไพร่ฟ้าทั่วไป

นอกจากบันทึกเรื่องราวในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทองนี้แล้ว ในเอกสารฉบับนี้วันวลิตยังบันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยต่างๆต่อไปจนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์พระองค์ที่ ๒๔ ซึ่งวันลิตได้รับการเชื่อถือว่าเป็นผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ไทยโดยผู้อยู่ในร่วมสมัย เขาเป็นพ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปี พ.ศ.๒๑๗๖-๒๑๘๕ เป็นเวลาถึง ๙ ปีในสมัยพระเจ้าปราสาททอง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ถึง ๓ เล่ม แต่การเขียนถึงพระเจ้าอู่ทองซึ่งอยู่ในช่วง พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๑๒ จึงเป็นการเขียนย้อยยุคราว ๓๐๐ ปี ในช่วงนี้วันวลิตจึงต้องไปค้นคว้าหาเรื่องเก่ามาเขียน จนทำให้เรื่องพระเจ้าอู่ทองนี้กลายเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ไป แต่ก็สนุกดี และทำให้เรารู้ว่ามีเรื่องเล่าพิสดารถึงขั้นนี้ในอดีตเมื่อราว ๔๐๐ ปีที่แล้ว
หนังสือของวันวลิตฉบับที่ใช้ในการเขียนเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น