xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ยังไม่วิกฤต “ค่าฝุ่นละออง” ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก สาเหตุใน กทม.จากรถวิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาครัฐ เผย ค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เขตดินแดง ตามมาตรฐาน ระบุ หากเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงจะมีผลต่อสุขภาพ และหากมีค่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเกิน 3 วันติดต่อกัน จะเข้าสู่สภาวะวิกฤต ย้ำ ขณะนี้ยังคงสามารถรักษาสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนร่วมกันบูรณากันอย่างด่วนที่สุด

จากสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 13 ม.ค. โดยค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ล่าสุด วันนี้ (14 ม.ค.) รายการ เดินหน้าประเทศไทย ตอน ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เชิญ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ โฆษก คสช. พลตำรวจตรี นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร ร่วมดำเนินรายการ

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ PM2.5 เราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า PM2.5 ก่อน คือ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ถามว่าเล็กขนาดไหน มันเล็กกว่าปลายเส้นผมของพวกเรา 20 เท่า เส้นผมเรามัน 50-70 ไมครอน แต่นี่ 2.5 เพราะฉะนั้นเมื่อมีขนาดเล็ก ปัญหาก็คือเขาสามารถเข้าไปสู่ในส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจได้

“PM2.5 เขามีสาเหตุมาจากหลักๆ เลย ก็คือ เรื่องของมลพิษจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซล และการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็คือ อาจจะเป็นรถที่ไม่ได้ดูแลในเรื่องของระบบเครื่องยนต์ ไม่มีการทำให้มันครบรอบระยะเวลา ประมาณเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ อีก 35 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเรื่องของการเผาในที่โล่ง ก็คือ เวลาทำเรื่องของการเกษตร เช่น นาข้าว ซังข้าวต่างๆ เสร็จแล้วก็จะมีการเผาเกิดขึ้น อีก 4-5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็เกิดจากมลพิษในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อเรารู้สาเหตุ ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ กรมควบคุมมลพิษในฐานะที่ดูแลเรื่องระเบียบและแนวทาง ท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พล.อ.สุรศักดิ์ ก็ได้เชิญหน่วยงานประชุมตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม เราก็ประชุมออกแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะก่อนที่จะดำเนินการ หรือว่าช่วงระหว่างเกิดปัญหา ก็คือธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน และหลังจากนี้ เราจะทำอะไรต่อไป เราก็วางกัน หน่วยงานต่างๆ ทั้ง กทม. บก.จร. กองบัญชาการกองทัพไทย หรือทหาร หรือแม้แต่ขนส่งเอง ก็มาร่วมกันทำ” นายประลอง กล่าว

ด้าน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในเชิงของพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ปริมณฑล ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีการแก้ไขปัญหา การบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จริงๆ แล้วด้วยสภาพปัญหาในปัจจุบัน ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านก็เป็นห่วง ท่านก็สั่งการมาที่กรุงเทพมหานคร ผ่านท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง วันนี้ก็เลยมีการประชุมกันเมื่อบ่ายโมง โดยมีหน่วยงานหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก หน่วยงานของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานของตำรวจจราจร บก.จร. และตำรวจนครบาล แม้กระทั่งท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หลายหน่วยงานก็มาคุยกันว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมา จะเป็นเรื่องของ PM10 หรือ PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เพราะว่าผ่านเข้าระบบทางเดินหายใจ ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบกระแสเส้นเลือดได้ทันที ถึงแม้ว่าปัจจุบันมันจะยังไม่ได้เกินค่าสูงสุด คือ 90 อยู่ประมาณสัก 60-70 แต่ว่าค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ก็มีมาตรการเข้ามาดูแลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ละอองน้ำเข้ามาช่วยแก้ไขในช่วงของ PM2.5 หรือแม้กระทั่งการฉีดล้างถนนที่เราจะช่วยแก้ไขปัญหา PM10 แต่อย่างน้อยให้ประชาชนได้รู้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

ด้าน พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษก คสช. เปิดเผยว่า กองทัพบกได้เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ โดยในช่วงเช้า ท่านหัวหน้า คสช.ท่านก็ห่วงใยต่อปัญหานี้ ผ่านมาทางกระทรวงกลาโหม ทางกองทัพบกขณะนี้ก็ต้องเตรียมทั้งเรื่องคนและเครื่องมือ เครื่องมือก็คือ รถน้ำ หลักๆ ในของ 2 หน่วย ก็คือพื้นที่ส่วนกลาง จะเป็นกองทัพภาคที่ 1 และยังมีส่วนกลางก็คือ กรมการทหารช่าง ซึ่งขณะนี้ยอดที่เตรียมเครื่องมือ รถน้ำไว้ ลักษณะการทำงาน 2 แบบก็คือ ฉีดทั้งแบบฝอย และชำระล้างติดผิวดิน ประมาณ 60 คัน แต่ว่าวันนี้ท่านผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ดำเนินการเลยในช่วงเย็นวันนี้ ผมว่าช่วงนี้อาจจะเริ่มมีดำเนินการแล้วบ้าง ประมาณสัก 20 คัน ก็เริ่มดำเนินการแล้ว และมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับทางหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อกี้ก็ไปประชุมกันมา สำหรับเรื่องของการแก้ไขปัญหาในระยะต่อๆ ไป ทางกองทัพบกก็ยังเฝ้าที่จะประสานงานกันอยู่อย่างใกล้ชิด

ด้าน พลตำรวจตรี นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร ระบุว่า ความจริงแล้วตำรวจจราจร ผมว่าความจริง ผู้บังคับบัญชาน่าจะตื่นเต้น ตื่นตระหนกมากกว่าพี่น้องประชาชนทั่วไป เพราะตำรวจจราจรเราอยู่บนท้องถนน สูดอากาศที่รถก่อไอเสียมาให้ตำรวจจราจรทั้งนั้น ขณะนี้ผมกำลังให้ตรวจเช็กเรื่องการใส่หน้ากากในการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เรามีการดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งฯ ในการตั้งด่านจุดวัดควันดำ หลายท่านอาจจะบอกว่าตำรวจ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่มาร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาสภาพจราจร

“ปัจจุบันเรามีการตั้งด่านในส่วนของกรุงเทพมหานคร อยู่ชั้นรอบนอก ชั้นในเรายังไม่ได้เข้ามา เนื่องจากกลัวปัญหาเรื่องการจราจร เราอยู่เส้นลาดกระบัง วงแหวนกาญจนาฯ บางนา พวกนี้เรามีอยู่ทั้งสิ้นตอนนี้น่าจะ 11 จุด แต่ถ้าเราตั้งเต็ม full จริงๆ อาจจะถึง 18 จุด ทุกด่านจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน กรมควบคุมมลพิษเป็นคนเซ็ตค่ามาตรฐานให้เรา ร่วมกันตรวจกับขนส่งฯ เราดำเนินการจับ-ปรับ ในเรื่องของ พ.ร.บ.จราจร มาตรา 71 เรามีการดำเนินการอยู่แล้ว ขนส่งฯ ก็มีอำนาจตามมาตราของขนส่งฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพักใช้และให้เปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน” พลตำรวจตรี นิธิธร กล่าว

นายประลอง กล่าวต่ออีกว่า PM2.5 เขามีความร้ายแรงขนาดไหน และสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งหลักๆ แล้ว อย่างที่ท่าน ผบก.จร.ได้นำเรียนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้แหล่งที่มา เรารู้แหล่งกำเนิด และเราก็แก้ไข ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าเราน่าจะแก้ไขได้ภายในระยะเวลาไม่นานนี้ โดยภาพรวมแล้ว ก็ไม่อยากให้พี่้น้องประชาชนต้องตระหนก แต่ท่านตระหนัก ท่านรับรู้ และส่วนราชการ วันนี้จะเห็นว่าท่านนายกฯ ท่านรัฐมนตรีทุกกระทรวง คณะรัฐบาล ให้ความเป็นห่วงเป็นใย พยายามหาหน้ากากหาการป้องกัน และช่วยกันในเรื่องการลดฝุ่นละออง PM2.5 ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนว่า ถ้าท่านเป็นเจ้าของรถที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ท่านก็ต้องเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะเจ้าหน้าที่เราก็พร้อมที่จะดูแลประชาชน และจะทำให้ประชาชนมีความสุข ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ก็คิดว่า เราเอาอยู่นะ แก้ไขกันได้รับรอง ไม่ต้องกังวล

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากตัว PM2.5 ที่ผมบอกว่ามันเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20-25 เท่า เวลาเราหายใจจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันทีเลย ไม่เหมือน PM10 ที่ขนจมูกเรายังกรองได้ เราก็ต้องใช้หน้ากากที่เหมาะสม ตัวหน้ากากตอนนี้เป็น N95 ที่ใช้ มี 2 แบบ เป็นสองแบบที่นำมาใช้ ก็อย่างที่แนะนำไว้ว่า ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สุภาพสตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว คันตามร่างกาย แสบ-คันตา หรือแม้กระทั่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง แต่นี่หมายถึงที่เกินค่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกัน 3-4 วัน ทางกรมควบคุมมลพิษก็จะประกาศภาวะของเขาเองว่า ควบคุมในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้ากลุ่มเสี่ยงควรจะใช้ ผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ใช้ได้ เพียงแต่อย่างที่รู้ว่าในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ค่าฝุ่นละอองเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ท่านก็หลีกเลี่ยง คืออยู่ในภาวะที่ควรจะเฝ้าระวัง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำ สิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ แก้ไขและคลี่คลายไป อย่างการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ก็ยังบอกว่า ใน 2 วันนี้ทิศทางก็จะดี กรมควบคุมมลพิษเองก็บอกว่าน่าจะลดลง ก็เป็นสัญญาณที่ดี และถ้าทุกหน่วยงานช่วยกันได้ในเรื่องของการลดผลกระทบ


คำต่อคำ : เดินหน้าประเทศไทย [14 มกราคม 2562]


พิธีกร- สวัสดีค่ะ ต้อนรับคุณผู้ชมสู่รายการเดินหน้าประเทศไทย สำหรับนาทีนี้สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความกังวลของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นั่นก็คือเรื่องของสภาพอากาศ ค่าฝุ่นละอองในอากาศที่เกินค่ามาตรฐานเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กลายเป็นเรื่องที่หลายๆ คนวิตกกังวล ทำอย่างไรเราจึงจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างเท่าทัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะยาวในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เพื่อการแบ่งปันข้อมูลที่จะสร้างความตระหนักแต่ไม่ตระหนกไปด้วยกัน เราจึงนำข้อมูลมาแบ่งปันกันกับทุกท่าน โดยมีแขกรับเชิญร่วมกับเราถึง 4 ท่าน ได้แก่ คุณประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คุณทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร และ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ร่วมรายการกับเราด้วย สวัสดีทั้ง 4 ท่านค่ะ


วันนี้สถานการณ์ที่หลายๆ คนกังวล คือ ปริมาณ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน เรียนถามท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษก่อนเลย PM2.5 คืออะไร อยากให้ประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้อง


ประลอง- วันนี้สถานการณ์ PM2.5 เราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า PM2.5 ก่อน คือเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ถามว่าเล็กขนาดไหน มันเล็กกว่าปลายเส้นผมของพวกเรา 20 เท่า เส้นผมเรามัน 50-70 ไมครอน แต่นี่ 2.5 เพราะฉะนั้นเมื่อมีขนาดเล็ก ปัญหาก็คือเขาสามารถเข้าไปสู่ในส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจได้


ทีนี้ ถามว่า PM2.5 เกิดมาจากอะไร และเกิดมานานหรือยัง จริงๆ แล้ว PM2.5 เขามีสาเหตุมาจากหลักๆ เลยก็คือเรื่องของมลพิษจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซล และการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็คือ อาจจะเป็นรถที่ไม่ได้ดูแลในเรื่องของระบบเครื่องยนต์ ไม่มีการทำให้มันครบรอบระยะเวลา ประมาณเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ อีก 35 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเรื่องของการเผาในที่โล่ง ก็คือเวลาทำเรื่องของการเกษตร เช่น นาข้าว ซังข้าวต่างๆ เสร็จแล้วก็จะมีการเผาเกิดขึ้น อีก 4-5 เปอร์เซ็นต์ส่วนที่เหลือก็เกิดจากมลพิษในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อเรารู้สาเหตุ ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ กรมควบคุมมลพิษในฐานะที่ดูแลเรื่องระเบียบและแนวทาง ท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พล.อ.สุรศักดิ์ ก็ได้เชิญหน่วยงานประชุมตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม เราก็ประชุมออกแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะก่อนที่จะดำเนินการ หรือว่าช่วงระหว่างเกิดปัญหา ก็คือธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน และหลังจากนี้ เราจะทำอะไรต่อไป เราก็วางกัน หน่วยงานต่างๆ ทั้ง กทม. บก.จร. กองบัญชาการกองทัพไทย หรือทหาร หรือแม้แต่ขนส่งเอง ก็มาร่วมกันทำ


ปัญหาทั้งหมดมันเกิดขึ้นเนื่องจากว่าขณะนี้ความกดอากาศสูงแผ่มาจากประเทศจีน และตัว PM2.5 ผมเรียนแล้วว่ามันมีขนาดเล็กมาก มันก็จะเบา พอความกดอากาศสูงเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร หรือประเทศไทย เมืองหลวงเราวันนี้เหมือนอยู่ในโดม ตัว PM2.5 เขาเบามาก ความกดอากาศสูงเหมือนหลังคาโดม มันก็จะครอบอยู่ เขาก็สะสมทุกวันๆๆ อย่างที่ผมเรียนว่าเกิดจากเรื่องของรถยนต์ มีรถ เขาก็ต้องวิ่งทุกวันๆๆ จริงๆ เขาเกิดมานานแล้ว 365 วันนี่ PM2.5 เกิดทุกวัน ไม่ได้เพิ่งมาเกิดช่วงนี้ แต่เนื่องจากช่วงนี้ความกดอากาศสูงมา ลมนิ่ง แสงแดดก็ไม่มี เพราะฉะนั้นวันไหนที่อากาศปิดอย่างนี้ เราจะเห็นว่าการสะสมของ PM2.5 มันสูง อย่างเช่นวันนี้ แถวเขตดินแดง เขตพญาไท และวังทองหลาง มันก็ขึ้นประมาณ 70 กว่าๆ แต่ก็อย่าลืมว่ามันขึ้นไม่สูงมากนักถึงขนาด 90 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นสถานการณ์วันนี้มันยังไม่ถึงขนาดวิกฤต ไม่ถึงขนาดเลวร้ายอย่างที่มันเป็นข่าว และหมอกควันที่เราเห็นตอนเช้าๆ มันก็เป็นแค่หมอก หมอกเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีควัน PM2.5 ผสมบ้างเล็กน้อย เพราะฉะนั้นไม่อยากให้วิตกและกังวลในเรื่องนี้มากนัก


พิธีกร- เรียนถามท่านรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบ้าง ในเชิงของพื้นที่กรุงเทพมหานครกับปริมณฑลได้รับผลกระทบมากที่สุด เรามีการแก้ไขปัญหา การบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง


ทวีศักดิ์- จริงๆ แล้วด้วยสภาพปัญหาในปัจจุบัน ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านก็เป็นห่วง ท่านก็สั่งการมาที่กรุงเทพมหานคร ผ่านท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง วันนี้ก็เลยมีการประชุมกันเมื่อบ่ายโมง โดยมีหน่วยงานหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก หน่วยงานของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานของตำรวจจราจร บก.จร. และตำรวจนครบาล แม้กระทั่งท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หลายหน่วยงานก็มาคุยกันว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมา จะเป็นเรื่องของ PM10 หรือ PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เพราะว่าผ่านเข้าระบบทางเดินหายใจ ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบกระแสเส้นเลือดได้ทันที ถึงแม้ว่าปัจจุบันมันจะยังไม่ได้เกินค่าสูงสุด คือ 90 อยู่ประมาณสัก 60-70 แต่ว่าค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ก็มีมาตรการเข้ามาดูแลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ละอองน้ำเข้ามาช่วยแก้ไขในช่วงของ PM2.5 หรือแม้กระทั่งการฉีดล้างถนนที่เราจะช่วยแก้ไขปัญหา PM10 แต่อย่างน้อยให้ประชาชนได้รู้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง


สำหรับกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็คือกลุ่มของคนท้อง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่เป็นผู้ป่วยทางเดินหายใจอยู่แล้ว และกลุ่มเด็ก พวกนี้เราแนะนำว่าถ้าออกมาแล้วมีความเสี่ยง ค่า PM2.5 ที่สูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงแม้ว่ามันเป็นช่วงต้องเฝ้าระวัง แต่ว่ากลุ่มเสี่ยงน่าจะใช้หน้ากากที่เป็น N95 และถ้าเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่เป็นค่าวิกฤต แต่วันนี้ไม่ได้เกิน อยู่ 60-70 ในบางพื้นที่เท่านั้นเอง ก็แนะนำว่ากลุ่มเสี่ยงก็ควรจะใช้หน้ากาก วันนี้ช่วงเย็นท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ได้นำหน้ากาก 1 หมื่นชิ้น ไปแจกในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระลานพระราชวังดุสิต พื้นที่ที่เป็นพื้นที่วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เราจะเห็นว่า พื้นที่วิกฤตเหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาจราจรอยู่แล้ว มีปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภค วันนี้ก็ได้พูดคุยกันแล้ว ระยะเบื้องต้นจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง ทางตำรวจจราจร ตำรวจนครบาล ก็จะควบคุมในเรื่องของรถยนต์ที่จะเข้ามาในพื้นที่ แก้ไขปัญหารถติดจากการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภค หรือแม้กระทั่งวันนี้ ขสมก.ก็ได้พูดถึงว่าได้ปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซล เป็นไบโอดีเซล ที่เป็น B20 ที่ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของ PM2.5 ได้ ระยะยาวก็คงมาคุยต่อไปอีกทีว่าจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง ในเรื่องของรถยนต์ ผู้ประกอบการต่างๆ เพราะวันนี้รถยนต์ส่วนใหญ่ก็ใช้รถยนต์ที่เป็นไฮบริด และเทรนด์ของรถยนต์ที่เป็นไฟฟ้าก็มาแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในระยะยาวต่อไปได้


พิธีกร- และวันนี้เรายังมีหน่วยงานที่สนับสนุนในปฏิบัติการของการแก้ไขปัญหามาถึง 2 หน่วยงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือตำรวจ ขออนุญาตเรียนถามท่านโฆษกกองทัพบกก่อนว่ากองทัพบกได้เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้อย่างไรบ้าง


วินธัย- ในช่วงเช้า ท่านหัวหน้า คสช.ท่านก็ห่วงใยต่อปัญหานี้ ผ่านมาทางกระทรวงกลาโหม ทางกองทัพบกขณะนี้ก็ต้องเตรียมทั้งเรื่องคนและเครื่องมือ เครื่องมือก็คือ รถน้ำ หลักๆ ในของ 2 หน่วย ก็คือพื้นที่ส่วนกลาง จะเป็นกองทัพภาคที่ 1 และยังมีส่วนกลางก็คือ กรมการทหารช่าง ซึ่งขณะนี้ยอดที่เตรียมเครื่องมือ รถน้ำไว้ ลักษณะการทำงาน 2 แบบก็คือ ฉีดทั้งแบบฝอย และชำระล้างติดผิวดิน ประมาณ 60 คัน แต่ว่าวันนี้ท่านผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ดำเนินการเลยในช่วงเย็นวันนี้ ผมว่าช่วงนี้อาจจะเริ่มมีดำเนินการแล้วบ้าง ประมาณสัก 20 คัน ก็เริ่มดำเนินการแล้ว และมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับทางหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อกี้ก็ไปประชุมกันมา


สำหรับเรื่องของการแก้ไขปัญหาในระยะต่อๆ ไป ทางกองทัพบกก็ยังเฝ้าที่จะประสานงานกันอยู่อย่างใกล้ชิด


พิธีกร- เรียนถามท่านผู้บังคับการตำรวจจราจรบ้าง ตามข้อมูล ตามสถานการณ์ เรื่องของจราจร หรือเรื่องของสถานการณ์ในท้องถนน ก็เป็นสาเหตุหลักๆ เลยของต้นตอ PM2.5 ในครั้งนี้ เรามีมาตรการทางกฎหมายอย่างไรที่จะช่วยเหลือครั้งนี้บ้าง


นิธิธร- ผมขอกราบเรียนอย่างนี้ ความจริงแล้วตำรวจจราจร ผมว่าความจริง ผู้บังคับบัญชาน่าจะตื่นเต้น ตื่นตระหนกมากกว่าพี่น้องประชาชนทั่วไป เพราะตำรวจจราจรเราอยู่บนท้องถนน สูดอากาศที่รถก่อไอเสียมาให้ตำรวจจราจรทั้งนั้น ขณะนี้ผมกำลังให้ตรวจเช็กเรื่องการใส่หน้ากากในการปฏิบัติหน้าที่


การดำเนินการในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เรามีการดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งฯ ในการตั้งด่านจุดวัดควันดำ หลายท่านอาจจะบอกว่าตำรวจ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่มาร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาสภาพจราจร นั่นเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการยกขึ้นมาทั้งนั้น ณ ปัจจุบันนี้เริ่มจะเห็นแล้วใช่ไหมว่า ที่ท่านอธิบดีฯ ท่านพูดว่า 60 เปอร์เซ็นต์นั้นเกิดจากรถดีเซล ในการสันดาปไม่เต็ม เกิดค่าฝุ่นละอองอะไรมากมาย เพราะฉะนั้นผมเคยบอกกับสื่อหลายสื่อไปแล้ว มีสื่อมาถามว่าด่านควันดำควรจะลดลงไหม ผมบอกเลยว่า ถ้ามลพิษในกรุงเทพฯ ลดลง ผมจะลดด่านควันดำ แต่ถ้าค่ามลพิษอย่างนี้ เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเข้มในเรื่องของการไม่ให้รถที่มีค่าปริมาณควันพิษเข้ามา


ปัจจุบันเรามีการตั้งด่านในส่วนของกรุงเทพมหานคร อยู่ชั้นรอบนอก ชั้นในเรายังไม่ได้เข้ามา เนื่องจากกลัวปัญหาเรื่องการจราจร เราอยู่เส้นลาดกระบัง วงแหวนกาญจนาฯ บางนา พวกนี้เรามีอยู่ทั้งสิ้นตอนนี้น่าจะ 11 จุด แต่ถ้าเราตั้งเต็ม full จริงๆ อาจจะถึง 18 จุด ทุกด่านจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน กรมควบคุมมลพิษเป็นคนเซ็ตค่ามาตรฐานให้เรา ร่วมกันตรวจกับขนส่งฯ เราดำเนินการจับ-ปรับ ในเรื่องของ พ.ร.บ.จราจร มาตรา 71 เรามีการดำเนินการอยู่แล้ว ขนส่งฯ ก็มีอำนาจตามมาตราของขนส่งฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพักใช้และให้เปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน แต่คำถามเกิดว่า ผมตรวจมาแล้วเท่าไร ตัวเลขอาจจะน่ากลัวนิดนึง เราเรียกตรวจมาทั้งสิ้นภายในปี 2561 ทั้งสิ้น 5 แสนกว่าคัน มีรถที่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 4 แสนกว่า เหลือรถที่ไม่ผ่านประมาณแสนกว่า มาตรการนี้ผมจะต้องหารือกับท่านอธิบดีฯ ว่ารถแสนกว่าคันนี้จะไปอยู่ที่ไหน แต่ตอนนี้ บก.จร.เองมีการลงข้อมูลว่ารถยี่ห้ออะไร ทะเบียนอะไร ใครเป็นคนขับ ของบริษัทอะไร ไปจอดพักรถอยู่ที่ไหน ผมจะใช้มาตรการนี้ แล้วท่านไม่ต้องคิดหรอกครับว่ารถนี้จะออกมาวิ่ง ผมไม่อยากให้รถที่มีควันดำออกมาวิ่งด้วยซ้ำ ไปตรวจถึงที่เลย ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดำเนินการ แต่ถ้าอยู่ต่างจังหวัด อาจจะต้องขอความร่วมมือจากตำรวจภูธรภาค ซึ่งนโยบายนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านได้พูดในการประชุมในเรื่องของการขับเคลื่อนประเทศไทย มีการประชุมเรื่องนี้ ค่า PM2.5 เพราะฉะนั้นฝากบอกไว้นะครับว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายที่นำรถเข้ามา ผ่านบริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด่านของตำรวจทุกที่ไม่ใช่ด่านลับ ท่านทราบอยู่แล้วว่าด่านอยู่ตรงไหน เพราะว่าตรวจอยู่ประจำ ท่านก็ไม่ต้องผ่าน ขอความร่วมมือด้วย


ส่วนเรื่องการเดินรถในเวลาห้าม ก็ยังมีอยู่ ช่วงเช้า ตั้งแต่ตี 5 ถึง 9 โมง ยังมีอยู่ ช่วงบ่าย 3 ถึง 4 ทุ่ม ยังมีอยู่ หากท่านเข้ามาในบริเวณนี้ในช่วงกลางวัน ก็จะโดนด่านของเรา และดำเนินการอย่างเข้มข้น ก็ฝากถึงผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยว่า หากมีด่านของตำรวจตรวจวัดค่าควันดำ มันไม่ใช่สาเหตุของการรถติด เราจะหาที่ๆ ไม่ทำให้เกิดปัญหาการจราจร และเป็นช่วง 10 โมง ถึงบ่ายโมง มันไม่ใช่ช่วงที่เกิดปัญหาจราจร


พิธีกร- สุดท้าย เรามาปิดท้ายกันที่เรื่องของการป้องกันและการรับมือสำหรับประชาชนบ้าง ขออนุญาตให้ท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นตัวแทนช่วยบอกประชาชนทางบ้านว่าเราควรเตรียมการป้องกัน รับมืออย่างไร โดยเฉพาะด้านสุขภาพ


ประลอง- วันนี้เราก็รับทราบโดยคร่าวๆ แล้วว่า PM2.5 เขามีความร้ายแรงขนาดไหน และสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งหลักๆ แล้ว อย่างที่ท่าน ผบก.จร.ได้นำเรียนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้แหล่งที่มา เรารู้แหล่งกำเนิด และเราก็แก้ไข ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าเราน่าจะแก้ไขได้ภายในระยะเวลาไม่นานนี้ อย่างที่ท่านได้บอกว่า 5 แสนกว่าคัน ก็ผ่านไป 4 แสนกว่าคัน อีกแสนกว่าคันเดี๋ยวเราก็ดูมีมาตรการต่อเนื่อง ส่วนการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุอีกประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑลก็สั่งหยุดไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าวันนี้เขาเหลืออะไรอยู่ ก็เนื่องจากปริมาณสะสมที่มันเกิดมาตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่เรามีการประชุมที่ท่านรัฐมนตรีฯ สุรศักดิ์ ท่านได้ให้ข้อมูลและได้สั่งการไปดำเนินการ มันก็สะสมมาเรื่อยๆ มีบางวันที่อากาศเปิด เขาก็จะลอยขึ้น เพราะฉะนั้น วันนี้ สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ถามว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพไหม วันนี้ก็เกิน 50 ไปจนถึง 70-80 บางวันก็เกิน 90 ไปบ้าง แต่จะสังเกตว่าเขาจะเกิน 90-100 ประมาณ 1-2 วัน แล้วเขาก็ดร็อปลงมาอีก เนื่องจากสถานการณ์อากาศ และการที่หน่วยงานทุกหน่วยงานเราร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพราะฉะนั้นเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า 1. สถานการณ์มันยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤต แต่ 2. ถ้าหากเพื่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน ผมว่านอกจากท่านที่เป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงอย่างที่ท่านรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กราบเรียนแล้ว บุคคลธรรมดาอย่างพวกเรา เวลาเราไปยืนข้างถนน หรือออกไปในที่โล่ง ผมว่าช่วงนี้ เพื่อสุขภาพของท่านก็อาจจะต้องสวมหน้ากากป้องกันบ้าง แต่ว่าถ้ารู้สึกรำคาญหรือไม่ไหวจริงๆ หรือสุขภาพแข็งแรง ผมว่าก็คงไม่ต้องถึงขนาดป้องกัน เพื่อความสบายใจ เพื่อความอยู่อย่างปกติสุข ท่านไม่ต้องกังวลนะครับ ถ้ามันเกิดวิกฤตจริงๆ PM2.5 ขึ้นสูง 2-3 วันติดๆ กัน ทางหน่วยราชการจะออกมาแจ้งเตือน และเราก็จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นไปอีกกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้


โดยภาพรวมแล้ว ก็ไม่อยากให้พี่้น้องประชาชนต้องตระหนก แต่ท่านตระหนัก ท่านรับรู้ และส่วนราชการ วันนี้จะเห็นว่าท่านนายกฯ ท่านรัฐมนตรีทุกกระทรวง คณะรัฐบาล ให้ความเป็นห่วงเป็นใย พยายามหาหน้ากากหาการป้องกัน และช่วยกันในเรื่องการลดฝุ่นละออง PM2.5 ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนว่า ถ้าท่านเป็นเจ้าของรถที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ท่านก็ต้องเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะเจ้าหน้าที่เราก็พร้อมที่จะดูแลประชาชน และจะทำให้ประชาชนมีความสุข ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ก็คิดว่า เราเอาอยู่นะ แก้ไขกันได้รับรอง ไม่ต้องกังวลนะครับ


พิธีกร- ทางท่านรองผู้ว่าราชการฯ บ้าง ในมือของท่าน วันนี้ท่านเตรียมหน้ากากอนามัยมาเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนด้วย ให้คำแนะนำกับประชาชนสักนิดหนึ่ง เนื่องจากเราเป็นเจ้าของพื้นที่


ทวีศักดิ์- ขออนุญาตครับ เนื่องจากตัว PM2.5 ที่ผมบอกว่ามันเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20-25 เท่า เวลาเราหายใจจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันทีเลย ไม่เหมือน PM10 ที่ขนจมูกเรายังกรองได้ เราก็ต้องใช้หน้ากากที่เหมาะสม ตัวหน้ากากตอนนี้เป็น N95 ที่ใช้ มี 2 แบบ เป็นสองแบบที่นำมาใช้ ก็อย่างที่แนะนำไว้ว่า ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สุภาพสตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว คันตามร่างกาย แสบ-คันตา หรือแม้กระทั่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง แต่นี่หมายถึงที่เกินค่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกัน 3-4 วัน ทางกรมควบคุมมลพิษก็จะประกาศภาวะของเขาเองว่า ควบคุมในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้ากลุ่มเสี่ยงควรจะใช้ ผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ใช้ได้ เพียงแต่อย่างที่รู้ว่าในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ค่าฝุ่นละอองเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ท่านก็หลีกเลี่ยง คืออยู่ในภาวะที่ควรจะเฝ้าระวัง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำ สิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ แก้ไขและคลี่คลายไป อย่างการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ก็ยังบอกว่า ใน 2 วันนี้ทิศทางก็จะดี กรมควบคุมมลพิษเองก็บอกว่าน่าจะลดลง ก็เป็นสัญญาณที่ดี และถ้าทุกหน่วยงานช่วยกันได้ในเรื่องของการลดผลกระทบ ผมเรียนอย่างนี้ ในกรุงเทพมหานครเราบอกว่า PM2.5 มาจากการสันดาปไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล แต่กรุงเทพฯ การเผาป่าเผาอะไรก็จะน้อยกว่าต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นร้อยละ 70-80 ก็จะมาจากเรื่องของปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาในเรื่องของรถติด การจราจรติดขัด ในหลายๆ พื้นที่ที่เรารู้ เพราะว่ากรุงเทพมหานครรถเยอะ งานก่อสร้างหน่วยงานสาธารณูปโภคก็เยอะ ก็ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยกัน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะตำรวจจราจร ก็ยังจะมาช่วยกันควบคุมในเรื่องของรถยนต์ที่ควันดำ หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ก่อสร้างในพื้นที่ที่จะให้การจราจรลื่นไหล สิ่งเหล่านี้ก็จะลดผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว


พิธีกร- คุณผู้ชมคะ จากข้อมูลที่เรานำมาแบ่งปันกัน ก็จะเห็นว่าสถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ได้รุนแรงและน่ากังวล สิ่งสำคัญคืออย่าลืมติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำให้ท่านได้ทราบข้อมูลอย่างรู้เท่าทัน เพื่อสร้างความตระหนักแต่ไม่ตระหนกไปพร้อมๆ กันค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น