xs
xsm
sm
md
lg

กทม.-คพ.ยันฉีดน้ำไล่ฝุ่น PM2.5 ไม่สร้างภาพ ชี้ ตามป้ายรถเมล์ควันดำเพียบ ลั่นล้างถนนจนกว่าจะดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อัศวิน” รับ แก้ปัญหาฝุ่นละอองที่ปลายเหตุ นำรถฉีดน้ำล้างถนนแต่ก็ต้องทำ ยืนยันไม่ได้ละเลย ส่วนที่ฉีดตามสถานีตรวจวัดอากาศไม่ได้สร้างภาพ และบิดเบือนค่าตรวจวัด เหตุอยู่แถวป้ายรถเมล์ รถออกตัวควันดำเยอะ ส่วนการทำฝนหลวงติดปัญหาเส้นทางบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ต้องถอยห่าง 70 ไมล์ ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ระยองรอความพร้อมของอากาศไว้แล้ว

อ่านประกอบ : แจกหน้ากาก N95 ทั่วกรุง 1 หมื่นชุด “อัศวิน” สั่งล้างถนนทุกคืนแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5



วันนี้ (14 ม.ค.) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 14.30 น. ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมเพื่อแก้ไขปัยหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 นับตั้งแต่วันที่ 7-9 ม.ค. เป็นต้นมา พบว่า สูงขึ้น แต่เมื่อวันที่ 12-13 ม.ค. มีค่าลดลง วันนี้วัดได้สูงสุดในช่วงเที่ยงวัน ประมาณ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่เขตดินแดง จากมาตรฐานคือ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเกินกว่านั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และหากเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ขึ้นสูงถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แล้วอีกวันหนึ่งค่อยๆ ลดลงมา ขณะที่ในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่มีฝนตก

ทั้งนี้ ได้ห้ามแหล่งกำเนิด คือ รถยนต์เก่า และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า 50-60% เมื่อรู้ต้นกำเนิด ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำการควบคุมมลพิษด้วยการตรวจวัดควันดำ ถ้าเกินจะหยุดใช้รถและให้ตรวจสภาพรถภายใน 1 เดือน อีกทั้งให้กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กทม. และกรมควบคุมมลพิษห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเมือง ส่วน 35% มาจากการเผาในที่โล่ง ขณะนี้ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ได้สั่งห้ามเผาในช่วง 2 เดือน คือ ม.ค. และ ก.พ.

“สถานการณ์ขณะนี้ ถ้าเราแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษ คือ เรื่องรถ และการเผาในที่โล่ง อีกทั้ง กทม. ได้แก้ไขปัญหาในระยะสั้นในระยะช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เช่น ฉีดน้ำล้างในพื้นผิวถนน ซึ่งจะช่วยเสริม เพราะดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) จะรวมตัวพารามิเตอร์ทั้งหมด 6 ตัว ตั้งแต่ค่า PM2.5, PM10, ค่าไนโตรเจน, ค่าคาร์บอนมอนนอกไซด์ แต่ขณะนี้เรากำลังโฟกัสฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เราไม่ละเลยตัว PM10 ซึ่งเป็นฝุ่นละออง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. พยายามใช้รถน้ำล้างถนนและใช้รถแรงดันน้ำฉีดสเปรย์เพื่อกำจัดฝุ่นละออง PM2.5 ส่วนที่ว่าทำไมเพิ่งมาทำนั้น เพราะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นทั้ง 365 วัน ตราบใดที่มีรถวิ่งกรุงเทพฯ ชั้นใน จึงใช้มาตรการหลายมาตรการ และขอความร่วมมือประชาชน” นายประลอง กล่าว

นายประลอง กล่าวว่า เนื่องจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 มาจากรถยนต์ จึงได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ และหารือร่วมกับ รมว.พลังงาน เรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รับสัญญาณที่ดีจากผู้ผลิตรถยนต์หลายราย จะปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซล มาเป็นน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 (B20) จากน้ำมันพืชและน้ำมันปาล์ม จะช่วยลดฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ต่ำกว่า 15% ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้หากทำตรงนี้ได้จะช่วยลดได้เยอะ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์จะพยายามผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น ถามว่าราคาจะสูงไหมก็ตอบว่าถ้าปริมาณเยอะราคาก็จะถูกเอง อีกทั้งโครงการรถไฟฟ้า 7 เส้นทางแล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2564 ต่อไประบบล้อจะเปลี่ยนเป็นระบบราง สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ฝุ่นละออง PM2.5 จะลดลงไปจากการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ไปเอง และการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ นอกจากนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง จากรถรุ่นเก่าอายุการใช้งานกว่า 20 ปี มาเป็นรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน จากการช่วยกันทุกฝ่าย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง

ด้าน พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก กล่าวว่า ทางกองทัพบกจะใช้ศักยภาพ เครื่องมือที่จะมีส่วนในการคลี่คลายปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างพร้อมเพรียง โดยจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เย็นนี้เป็นต้นไป และจะทำควบคู่กันไปโดยตลอด ในส่วนของหน่วยทหารที่กระจายตามเขตต่างๆ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากประชาชนในการงดเผา และเป็นจุดกำเนิดในการสร้างมลพิษ กองทัพยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

- “อัศวิน” รับ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ปลายเหตุแต่ก็ต้องทำ

เมื่อถามว่า การแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ออกมาจากกรุงเทพมหานคร เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ ยกตัวอย่างถนนพระราม 4 ฝุ่นเยอะมากเพราะมีรถขนดิน พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ต่อไป กทม. จะใช้ข้อบังคับของกองบังคับการตำรวจจราจร ไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งก่อน 09.00 น. และหลัง 15.00 น. แต่ช่วงกลางวันมีความจำเป็น ซึ่งฝุ่นละอองจากการก่อสร้างจะเป็นมูลเหตุให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 แต่ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากการสันดาป หรือเผาผลาญน้ำมันไม่หมดต่างๆ

“ถามว่า มาแก้ที่ปลายเหตุไหม ก็ต้องบอกว่าใช่ เราคงไม่ปฏิเสธ แต่ว่าขณะนี้เราจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ สิ่งต่างๆ เราจะต้องขอร้องจากพี่น้องประชาชน ได้คุยกับรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการจราจรว่า เราจะต้องเข้มงวดกวดขัน ไม่ใช่ว่าจะจับปรับ แต่ขอความร่วมมือว่า ห้วงเวลาห้ามขอให้ปฏิบัติตรงนี้ และต้องดูการก่อสร้างต่างๆ ทั้งขนส่งสาธารณะ ถนนหนทางหรือรถไฟฟ้าต่างๆ จะต้องมีการเข้มงวด ให้มการควบคุม และการฉีดน้ำจะช่วยแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิด แต่มาเกิดรุนแรงมากขึ้นประมาณ 1 ปี ผลกระทบจากการก่อสร้างก็มี ส่วนประกอบทั้งหมดจะหารือและค่อยๆ แก้ไข ยอมรับว่าแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ก็ต้องแก้อยู่ดี เราก็ไม่ได้ละเลย ตรงไหนที่ผิดพลาดไป เราก็มาแก้ไขกันใหม่” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

- อธิบดี คพ.ชี้ กรุงเทพฯ เหมือนอยู่ในโดม ยืนยันคุมสถานการณ์ได้

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละออง PM2.5 มีประมาณเท่าไหร่ และจะอยู่อีกนานหรือไม่ นายประลอง กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2561 เริ่มประชุมกัน โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ถึงวันนี้เรามีสถานีตรวจวัดอากาศ 32 สถานี แต่ละสถานีจะมีค่าแตกต่างกันไป โดยฝุ่นละออง PM2.5 จะเพิ่มขึ้นสูงสุดช่วงก่อนปีใหม่ แต่พอวันที่ 28-29 ธ.ค. 2561 ฝนตกก็ลดลง หลังจากนั้น ก็กลับมาสูงขึ้นในช่วงวันที่ 8-10 ม.ค. กระทั่งมีแนวโน้มลดลง ฉะนั้น ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 5-6 วันที่ผ่านมา ซึ่งถ้ามีค่าเกิน 90-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน 4 วันจะเริ่มวิกฤต จึงเริ่มระดมแก้ปัญหาเต็มที่ในช่วงวิกฤต เช่น การทำฝนเทียม ซึ่งได้ทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน หากความชื้นสัมพัทธ์และทิศทางลมพร้อมก็จะทำฝนเทียมทันที เพราะฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เรารักษาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ให้ถึงขั้นวิกฤต ยังเอาอยู่

ในส่วนสภาพอากาศนั้น กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ทั้งสัปดาห์อากาศจะดีขึ้น สังเกตจากมีแดดส่องมา กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เหมือนอยู่ในโดม ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมากดทับ ฝุ่นละออง PM2.5 ขนาดเบามาก 1 ใน 20 เท่าของขนาดปลายเส้นผม พอเกิดอากาศกดทับจากประเทศจีน ก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ แต่เมื่อไหร่ฝนตกแล้วท้องฟ้าเปิด ลมพัดเข้ามา จะช่วยให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลอยเข้าไปในชั้นบรรยากาศ เราไม่ได้รอความหวังจากดินฟ้าอากาศอย่างเดียว แต่เราก็ทำงานด้วยกัน อากาศปีนี้จะแปลกกว่าทุกปี แล้วยาวไปถึงเดือน มี.ค. แต่หลังจากต้นเดือน มี.ค. เชื่อว่า เริ่มลดลง อากาศหนาวเริ่มหมดไป อากาศร้อนจะมาแทน แต่ฝุ่นละออง PM2.5 มีทุกวัน แต่สามารถลอยถึงชั้นบรรยากาศได้

- ชี้เครื่องยนต์ดีเซลไทยยังใช้รุ่นเก่า จะเอามาตรฐาน WHO มาวัดเลยไม่ได้

ส่วนการวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 นั้น นายประลอง กล่าวว่า เพิ่งจะมาวัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะขณะนั้นไม่ได้นำมาเป็นตัวชี้วัดดัชนีคุณภาพอากาศ วัดเฉพาะฝุ่นละออง PM 10 แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงต้องวัดฝุ่นละออง PM2.5 มาเป็นตัวชี้วัดเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มองว่า ไม่มีผลกระทบ แต่เมื่อรุนแรงขึ้นจึงต้องนำมาชี้วัด ส่วนที่นักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 มาตรฐานไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำไมไม่ใช้ตัวชี้วัดนั้น เพราะหลายตัวชี้วัดไม่เหมือนกัน เช่น ในทวีปยุโรปใช้เครื่องยนต์ดีเซลยูโรซิกซ์ (EURO 6)

แต่ประเทศไทยยังใช้รถบรรทุกยูโรทรี และ รถเล็กยูโรโฟร์ (EURO 3-4) เพราะฉะนั้นจะขยับเป็นยูโรไฟว์ (EURO 5) เพื่อลดปริมาณซัลเฟอร์ลงไป แต่ก็ต้องเข้าใจผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่หมด ลงทุนมหาศาล เพราะฉะนั้นจะใช้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกไม่ได้ แต่มาตรฐานที่กำหนดในประเทศไทย เหมาะสมในบริบทในภาวะการณ์เช่นนี้ แต่ยอมรับว่าค่า PM 2.5 เหมือนกัน ก็อยากจะฝากให้ประชาชนดูแลตัวเองหากเกิดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในระดับที่สูง ส่วนราชการจะชี้แจงผ่านสื่อทุกสื่อ

เมื่อถามว่า หากภายใน 2-3 วันยังวิกฤตอยู่ จะประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากอย่างไรบ้าง นายประลอง กล่าวว่า ถ้าจำเป็นจะพิจารณาดูอีกที เช่น จังหวัดระยองที่ประกาศออกมา ส่วนกรุงเทพมหานครจะต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง

- ทำฝนหลวงในกรุงติดเส้นทางบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” เผยตั้ง “หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” รอไว้ที่ระยอง

เมื่อถามว่า การทำฝนหลวงจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ตัวแทนจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ทางกรมฯ มีการติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และความชื้นในอากาศตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่การปฏิบัติการฝนหลวงในกรุงเทพมหานครยังมีข้อจำกัด ได้แก่ เส้นทางการบิน เนื่องจากกรุงเทพฯ มีปริมาณการบินค่อนข้างหนาแน่น เป็นเส้นทางขึ้น-ลงเครื่องบิน ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ทำให้จะต้องออกจากพื้นที่ 70 ไมล์จึงจะปฏิบัติการได้ ประการต่อมา ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว ทำให้ความชื้นค่อนข้างต่ำ ซึ่งความชื้นที่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงได้จะต้องมีปริมาณ 60% ขึ้นไป ดังนั้น ช่วงก่อนหน้านี้เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำฝนหลวงได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 15-19 ม.ค. คาดว่า ความชื้นจะมากกว่า 60% ขึ้นไป ประกอบกับลมที่จะเข้ามาเป็นลมจากทางทิศตะวันออก ทำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วที่จังหวัดระยอง เพื่อที่จะรอเมฆตั้งต้นและเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้

ด้านตัวแทนกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษและในหลายหน่วยงาน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังฝุ่นละออง PM2.5 โดยจะดูข้อมูลการเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง และภาวะจากกลุ่มโรคหัวใจ ซึ่งฝุ่นละออง PM2.5 ทะลวงได้ลึกถึงโพรงจมูก แม้กระทั่งปอดก็ไม่สามารถรองรับกรองฝุ่นในส่วนนั้นได้ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดส่วนหนึ่ง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลนัยยะสำคัญที่จะบ่งบอกว่ามีความรุนแรงของโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่ก็ยังเก็บข้อมูลทุกวัน จากโรงพยาบาลในทุกสังกัด ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อดูว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

อีกด้านหนึ่งจะมีการตรวจวัดอากาศในสถานศึกษา ซึ่งจะสามารถดูข้อมูลนอกเหนือจากข้อมูลของ กทม. และกรมควบคุมมลพิษ ว่ามีความแตกต่างอย่างไร อยู่ในขั้นตอนการติดตั้งและร่วมมือสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่วนผลกระทบทางสุขภาพ พบว่ามีผลกระทบระดับหนึ่งในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีองค์ประกอบของฝุ่นละออง PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งด้วย การตื่นตัวในตอนนี้อาจจะแก้ไขปัญหาโรคต่างๆ ในอนาคตได้ด้วย ส่วนที่เป็นมาแล้วต้องยอมรับสภาพและแก้ไขไม่ให้มีเพิ่มเติม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มคนที่ปฏิบัติงานกลุ่มเสี่ยง หน่วยต่างๆ ที่รับผิดชอบ คือต้นสังกัดของผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องช่วยกันจัดหาหน้ากากที่กรองฝุ่นละออง PM2.5 แต่ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถใช้ชีวิตปกติได้

เมื่อถามว่า มาตรการควบคุมรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมรถยนต์เก่า รวมทั้งการสั่งให้หยุดก่อสร้างในกรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบจะมีการนำมาใช้หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ในส่วนการก่อสร้างจะใช้มาตรการปิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ขณะที่ตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า รถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานนาน คือ รถโดยสารสาธารณะ มีการตรวจเช็กสภาพประจำปี ปีละ 2 ครั้งอย่างเข้มงวด และมีผู้ตรวจการขนส่ง มีชุดตรวจวัดควันดำร่วมกับ บก.จร. และ กทม. ออกตรวจประจำอยู่แล้ว ปัญหาตรงนี้น่าจะลดลงไปได้มาก ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลอายุครบ 7 ปี ต้องบังคับตรวจ และรณรงค์เรื่องสภาพรถอยู่แล้ว

- กรมอุตุฯ ชี้หมอกยามเช้า-ฝุ่นละออง PM2.5 แยกไม่ออกขมุกขมัว แต่อย่าตื่นตระหนก

นายประลอง ยังอธิบายปรากฏการณ์หมอกหนาแน่นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ว่า ไม่ใช่ควันจากฝุ่นละออง PM2.5 แต่เป็นหมอกตอนเช้า ในยามสายเรียกว่าหมอกแดด ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมีฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในนั้น แต่ไม่ได้มีปริมาณที่สูง จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกว่าเป็นมลพิษ แต่เป็นหมอกผสมควัน ส่วนตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมื่อเช้านี้การเกิดหมอก มีลักษณะลมส่วนใหญ่เป็นลมเหนือ ลมตะวันออกลงมา ประกอบกับความกดอากาศสูงแผ่ลงมาถึงกรุงเทพมหานคร โดยช่วงเวลา 01.00 น. ถึงช่วงเช้า จะเป็นลมใต้นำความชื้นจากทะเลเข้ามา ประกอบกับในช่วงเช้าลมจะอ่อน ลักษณะเช่นนี้พื้นดินโดยเฉพาะคอนกรีตจะคลายตัวได้เร็วกว่า และจะเย็นจนเกิดหมอกในระดับต่างๆ สูงขึ้นไประดับถึงพื้น ไม่เกิน 100 เมตร จะเกิดลักษณะของหมอกที่มีหยดน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการบิน ปีหนึ่งจะเกิดขึ้นสูงสุด 1 ครั้ง ส่วนยามสายขึ้นมาเริ่มเห็นแสงแดด ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้หมอกจางหายไป แต่ละอองในอากาศเกิดการดูดกลืนและสะท้อนแสง ทำให้เกิดการขมุกขมัว เรียกว่าหมอกแดด และจะเกิดขึ้นละอองไอน้ำเช่นนี้ในช่วงบ่ายและค่ำ ฝุ่นละออง PM2.5 ปฏิเสธไม่ออกว่าขมุกขมัวด้วยกัน แต่ไม่เยอะขนาดนั้น เผอิญโซเชียลมีเดียถ่ายรูปชัดเจน ยิ่งชัดมากยิ่งถ่ายและแชร์

- ยืนยันฉีดน้ำหน้าสถานีตรวจวัดอากาศไม่ใช่สร้างภาพ-บิดเบือนค่าฝุ่นละออง PM2.5

ส่วนที่นักวิชาการ มองว่า รถฉีดน้ำที่ระดมมา ไม่สามารถจับฝุ่นละออง PM2.5 ได้ ถามว่ามีวัตถุประสงค์ใด พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เป็นการล้างถนน ซึ่งจะช่วยได้ ทางกองทัพ และ ปภ. ส่งมา กทม. มี 3-4 สำนักที่มีรถตรงนี้อยู่ เราคงจะล้างถนนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาย อาจจะไม่ค่อยได้ผล 100% แต่จะค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า การฉีดน้ำเกิดขึ้นบริเวณสถานีตรวจวัดอากาศ จะทำให้การวัดผลคลาดเคลื่อนหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การล้างถนนจะล้างในจุดที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในระดับที่สูงกว่า 70-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาทิ จตุจักร วิภาวดีรังสิต บางขุนเทียน เขตธนบุรี ประมาณ 10-20 จุด ไม่ได้ล้างถนนที่หน้าเครื่องเพื่อสร้างภาพ แต่ต้องการสร้างการได้ผลจริงๆ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการพูดคุยกับสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งละอองน้ำจะเป็นฝอย สามารถจับฝุ่นละออง PM2.5 ติดออกมาได้ ประมาณ 2-3 คัน แต่ถ้ารถฉีดน้ำทั่วไปเป็นการทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นละออง PM 10 ส่วนการวัดค่า PM2.5 ไม่ได้วัด ณ ขณะฉีดล้างถนนเท่านั้น แต่เป็นการวัด 24 ชั่วโมงมาเฉลี่ยกัน การไปฉีดตรงไหนไม่ใช่ประเด็น จาก 30 สถานีมี 19-20 สถานีอยู่ริมถนน อย่างจุดที่ลงไปตรวจสอบอยู่ตรงป้ายรถเมล์ เพราะฉะนั้นการฉีดล้างถนนจะทำในบริเวณที่มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงมาก เวลาที่รถรับ-ส่งผู้โดยสารและเมื่อรถเคลื่อนตัว ควันดำจะเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นการฉีดล้างถนนจะช่วยลดปริมาณตรงนี้ แต่ไม่ได้ไปฉีดเพื่อให้ค่า PM2.5 ลดลง เพราะตรวจวัด 24 ชั่วโมง

เมื่อถามว่า จะมีการกำหนดโซนนิ่งห้ามรถวิ่งในช่วงเช้ากับช่วงเย็น และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จะมีการห้ามรถดีเซลวิ่งหรือไม่ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ในส่วนของ บช.น. มีข้อบังคับไว้ห้ามรถบรรทุกวิ่งในกรุงเทพฯ ชั้นในทั้งหมด ซึ่งจะเข้ามาตั้งแต่ถนนกาญจนภิเษกเข้ามารอบในทั้งหมด ตั้งแต่ 05.00-09.00 น. และ 15.00-21.00 น. ส่วนช่วงกลางวันจะขอความร่วมมือ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะห้ามเดินรถ แม้จะอยู่นอกเวลาก็ตาม ซึ่งจะประสานกับผู้ประกอบการเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น