“การเดินทางของข้าพเจ้าผ่านซุนดามายังประเทศสยาม ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปทำสงครามกับเชียงใหม่ ร่วมไปกับกลุ่มของพวกโปรตุเกสและการทำสงครามของพระเจ้าแผ่นดินสยาม จนถึงพระองค์เสด็จคืนสู่อาณาจักรของพระองค์ อันเป็นที่ซึ่งพระราชินีของพระองค์วางยาพิษพระองค์เสีย”
นี่เป็นส่วนหนึ่งในบันทึกของ เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต หรือ เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต หรือ แฟร์นัง มังเดช ปินโต ฝรั่งอีกคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญกับการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยโดยบุคคลร่วมสมัย ได้เห็น ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ หรือได้รับรู้ในเวลาใกล้เคียงกับที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ที่ชื่อของเขาเพี้ยนไปหลายอย่างเช่นนี้ ก็เพราะหนังสือการผจญภัยที่เขาเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสนั้น ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปญ ภาษาฝรั่งเศส และอีกหลายภาษา จนเพี้ยนไปตามสำเนียงของผู้แปล
ปินโตเป็นชาวโปรตุเกส เกิดในครอบครัวยากจน เมื่ออายุ ๑๓ ขวบ หรือใน ค.ศ.๑๕๒๔ เขาได้หนีออกจากบ้านขอติดเรือสินค้าออกไปเชิญโชคในยุคที่ท้องทะเลเป็นที่ชุมนุมของโจรสลัด เป็นเหตุให้เขาต้องผจญกับการถูกปล้นและจมเรือถึง ๕ ครั้ง ถูกขายเป็นทาสถึง ๑๓ ครั้ง เมื่อคราวที่เรือแตกตอนไปเมืองจีน ไปขึ้นเกาะแห่งหนึ่งในตอนใต้ของทะเลจีน จึงช่วยกันผูกแพลอยไปจนถึงชวา พบกับผู้บังคับการป้อมมะละกาซึ่งได้รับพระราชหัตถเลขาจากพระเจ้าจอห์นที่ ๓ ให้เดินทางไปขอไถ่ตัวคนโปรตุเกสที่กรุงสยาม ที่ถูกจองจำอยู่ถึง ๒๕ ปีแล้ว และได้ชวนปินไปด้วย จึงเป็นเกตุให้เขาได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา
ปินโตได้รับการกล่าวขานว่าเป็นฝรั่งคนแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และเป็นผู้ที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้สมญาว่าเป็น “เวนิชตะวันออก” เพราะเขียนจดหมายไปถึงบาทหลวงองค์หนึ่งว่า กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ และมีคลองมากมายเป็นเส้นทางคมนาคม เหมือนเมืองเวนิชที่อิตาลี
แต่ความจริงแล้วที่คณะปินโตเดินทางมาก็เพื่อจะขอไถ่ตัวคนโปรตุเกสที่ถูกจองจำอยู่ในกรุงศรีอยุธยาถึง ๒๕ ปีแล้ว และปินโตยังบันทึกไว้ด้วยว่า การมาครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดีจริงจากทางการสยามและคนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา แต่ที่ถือกันว่าปินโตเป็นฝรั่งคนแรกที่มาเมืองไทย ก็เพราะปินโตเป็นฝรั่งคนแรกที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงสยามไว้
ปินโตได้เล่าในวันที่ผู้บังคับการป้อมมะละกาเข้าเฝ้านั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อคณะทูตโดยทันทีว่า
“ในเรื่องการปล่อยตัวโดมินโกส เดอ ซีซาส ซึ่งผู้ยังคับการแห่งมะละกาได้ขอร้องมานั้น แสดงให้ประจักษ์ว่า พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจะทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งหากฉันส่งตัวเขาให้แก่พระองค์ ฉันจึงมีความยินดีไม่แพ้กันที่จะอนุญาตให้เป็นไปตามปรารถนาของพระองค์ และท่านจะเห็นได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง โดยชาวโปรตุเกสอีก ๑๖ คนที่อยู่กับเขาจะเป็นอิสระด้วยเช่นกัน”
ความจริงแล้ว โดมินโกส เดอ ซีซาส ไม่ถูกจองจำอย่างที่เข้าใจ เขารับราชการกับกรุงสยาม ปินโตได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้ากรุงสยามจัดการให้ไปรับตัวโดมินโกส ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพอยู่ที่เมืองชายแดน เขากุมทหารราบ ๓๐,๐๐๐ คนทหารม้า ๕,๐๐๐ คน และได้รับเงินปีละ ๑๘,๐๐๐ ครูซาโต
ต่อมาใน พ.ศ.๒๐๘๘ ก็มีเหตุที่ผู้บังคับการป้อมมะละกาคนใหม่ขอไถ่ตัวพ่อค้าโปรตุเกสอีกคน ซึ่งเดินทางกลับจากจีนมุ่งไปปัตตานี แต่เจอพายุพัดจนเรือแตกแถวนครศรีธรรมราช แต่ถูกเจ้าท่ายึดสินค้าที่ลอยน้ำทั้งหมดมีมูลค่า ๑๕,๐๐๐ ครูซาโด และจับกุมคนที่รอดชีวิตไว้ มีคนโปรตุเกส ๒๕ คนและทาสอีก ๕๐ คน ฉะนั้นในวันช้างเผือกที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินออกนอกวัง พระราชทานกุศลทานแก่ผู้ขอพระราชทานทั้งหลาย อันเป็นธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมา ชาวโปรตุเกสประมาณ ๖๐ – ๗๐ คนจึงรอเฝ้าที่ถนนสายหนึ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน และในทันทีที่พระองค์เสด็จมาถึง พวกเขาต่างก็ก้มลงหมอบกับพื้นเช่นเดียวกับชาวสยาม ผู้แทนของชาวโปรตุเกสได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงพระกรุณาปล่อยผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกจองจำ
เมื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและทอดพระเนตรน้ำตาของพวกเขาบางคนที่ไหลริน ก็ทรงหยุดช้างเผือกและทอดพระเนตรเห็นของมีค่าที่บางคนถือไว้ ก็ทรงทราบว่าเป็นของที่พวกเขาจะทูลเกล้าฯถวาย จึงตรงตรัสว่า
“สำหรับของขวัญที่ท่านนำมาทูลเกล้าฯถวายแด่ฉันนั้น ท่านคงเห็นว่าฉันจะรับของนั้นไว้ ซึ่งฉันขอขอบใจ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ฉันจะไม่รับของขวัญ แต่จะให้ของขวัญเท่านั้น ดังนั้น เพื่อความเคารพรักในพระเจ้าของท่าน ในฐานะที่ฉันก็เป็นผู้ที่ศรัทธาและอ่อนน้อมต่อพระองค์เสมอมา และจะจงรักภักดีต่อพระองค์ตลอดไป ฉันขอวอนให้ท่านแจกจ่ายของขวัญเหล่านั้นให้แก่ผู้ที่ขัดสนที่สุดในหมู่พวกท่าน เนื่องจากการได้รับรางวัลจากพระผู้เป็นเจ้าที่พร้อมจะให้ท่านเป็นเจ้าของ เพื่อให้ท่านทำทานในนามของพระองค์ จะเป็นการดีกว่าเป็นอย่างยิ่ง ที่จะรับสิ่งใดก็ตามที่ฉันซึ่งเป็นเพียงแค่บุคคลที่ไม่มีความสำคัญในสายพระเนตรของพระองค์ สามารถให้ท่านนำไปช่วยเหลือพวกเขาได้ สำหรับเชลยเหล่านั้น ฉันมีความยินดีที่จะอนุญาตให้พวกเขาได้รับอิสรภาพเพื่อเป็นกุศลทานตามที่ท่านประสงค์ เพื่อให้พวกเขาออกเดินทางไปมะละกาได้อย่างอิสระ และยิ่งกว่านั้น ฉันขอบัญชาให้คืนสินค้าทั้งหมดซึ่งพวกเขาบอกว่าถูกริบไปให้แก่พวกเขา เนื่องจากสิ่งทั้งหลายที่ได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของพระผู้เป็นเจ้า น่าจะเป็นการกระทำด้วยความกรุณาปราณีที่มีค่ามากกว่าสิ่งซึ่งผู้ยากไร้ขอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร้องขอด้วยความเศร้าโศกในนามของพระองค์”
เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ชาวโปรตุเกสทั้งหมดก็หมอบคำนับลงกับพื้นดินเบื้องหน้าพระองค์
ในวันต่อมาก็โปรดเกล้าฯให้ร่างพระบรมราชโองการให้เจ้าท่านำเชลยปล่อยเป็นอิสระ พร้อมกับสินค้าที่ถูกริบ ซึ่งชาวโปรตุเกสไม่ได้ร้องขอคืนด้วย ให้เสร็จเรียบร้อยภายใน ๑๐ วัน
ปินโตได้เล่าว่า ตามปกติพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ค่อยเสด็จไปไหน ประทับอยู่ในพระราชวังที่มีแสงทองระยับตา แต่ถ้าเสด็จออกนอกพระราชวัง จะเสด็จด้วยช้างพระที่นั่ง มีข้าราชกาโดยเสด็จเป็นกระบวน และมีพวกฟ้อนรำและตลกนำหน้ากระบวน ส่วนการเสด็จทางเรือ ปินโตเล่าว่า
“ข้าพเจ้าได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเที่ยวทางเรือ ทรงเรือลำใหญ่กว่าเรือใบเดินทะเล เรือลำนั้นมีปีกด้วย ทำเป็นรูปนก ทางหัวเรือตกแต่งอย่างงดงาม และมีพายปิดทอง มีเรือตามเสด็จ ๑๒ ลำ แต่ไม่มีราชบัลลังก์ในนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงประทับเรือเมื่อใด คนอื่นก็จะต้องหมอบลง”
ปินโตได้เล่าถึงเรื่องช้างเผือกว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของราชสำนัก ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงอำนาจ ทำให้เมืองขึ้นต่างๆเกรงกลัว ยอมอยู่ใต้อำนาจ และเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างไทย-พม่าขึ้นใน พ.ศ.๒๐๙๐ – พ.ศ.๒๐๙๑ ปินโตก็ได้เห็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นี้ตอนเขาพาไปอาบน้ำที่แม่น้ำ มีคนถือร่มขาวบังแดดไห้ถึง ๒๔ คน และมีคนตามถึง ๓,๐๐๐ คน แลดูเหมือนกระบวนแห่ มีขุนนางขี่ช้างนำหน้าไป ๓๐ เชือก และตามหลังอีก ๓๐ เชือก ช้างเผือกมีสายโซ่ทองคำที่หลัง และโซ่เงินที่เอวราวกับคาดเข็มขัด แลมีโซ่เงินอยู่รอบๆคอ ถ้าเป็นวันงาน โซ่เหล่านี้จะเป็นทองทั้งนั้น ช้างเผือกเอางวงถือโลกทองไปลูกหนึ่งโตขนาด ๒ เท่าหัวคน จึงแลดูเหมือนอยู่เหนือโลก มียกพื้นให้ช้างยืนอาบน้ำที่ริมแม่น้ำ ปินโตว่าเขาไม่ได้เห็นพิธีอาบน้ำซึ่งมีมากมายหลายอย่าง ส่วนถนนที่ช้างผ่านก็ตกแต่งธงหรูหราเช่นเดียวกับวันแทงวัวในโปรตุเกส
ปินโตยังได้เล่าถึงการที่เขาได้เข้าร่วมกับนักผจญภัยโปรตุเกสรวม ๑๒๐ คน ถือปืนไฟไปในกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ขึ้นไปปราบกบฏทางเมืองเหนือ แต่เมื่อชนะศึกกลับมาก็ถูกมเหสีผู้ทรงเสน่ห์ ศรีสุดาจันทร์แอบเอายาพิษให้เสวยจนสวรรคต เพื่อปิดบังความลับที่นางมีชู้จนทรงครรภ์กับขุนวรวงศา ซึ่งปินโตก็อยู่ในกรุงศรีอยุธยาในตอนนั้นด้วย เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยโดยผู้ที่อยู่ร่วมยุคสมัย ซึ่งจะขอนำมาเล่าในตอนต่อไป