xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือภาคีเครือข่าย หารือแนวทางแก้ปัญหาสุนัขจรจัด เสนอโครงการสุนัขชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.อัศวิน พร้อมภาคีองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ ร่วมหารือแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เผยแนวคิดเรื่องโครงการสุนัขชุมชนขึ้นอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และองค์ประกอบ ภาครัฐและกลุ่มคนรักสัตว์จะช่วยเหลือในการฉีดวัคซีน ทำหมันสุนัขและแมวในพื้นที่นั้น

วันนี้ (8 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย ภาคีองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ มูลนิธิเดอะวอยซ์ มูลนิธิเดอะโฮป ไทยแลนด์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กลุ่มคนรักสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

ด้าน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สำนักงานปศุสัตว์ กรมควบคุมโรคติดต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มคนรักสัตว์หลายๆ กลุ่ม ปัจจุบันตัวเลขจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากกรมปศุสัตว์มีจำนวนประมาณ 140,000 -150,000 ตัว ส่วนมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยแจ้งว่าหากมีการค้นหาอย่างจริงจังอาจมีจำนวนมากกว่านั้น ซึ่งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ทั้งในส่วนของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดทัพทัน จ.อุทัยธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 10,000 ตัว เมื่อเทียบกับปัญหาจำนวนสุนัขจรจัดที่มีจำนวนกว่า 150,000 ตัว กทม.ไม่มีพื้นที่สำหรับรองรับได้ทั้งหมด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่ประชุมจึงมีการเสนอแนวคิดเรื่องโครงการสุนัขชุมชนขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และองค์ประกอบของสุนัขชุมชนว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง สุนัขชุมชนในแต่ละพื้นที่ต้องทำอย่างไร ชุมชนต้องดูแลสุนัขอย่างไร เป็นต้น

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ภาครัฐและกลุ่มคนรักสัตว์จะช่วยเหลือในการฉีดวัคซีน ทำหมันสุนัขและแมวในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งคาดว่าหากสามารถดำเนินการโครงการสุนัขชุมชนโดยเข้าไปทำหมันสุนัขและแมวในชุมชนและวัดต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ น่าจะสามารถตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของสุนัขและแมวในชุมชนได้ระดับหนึ่ง และนำสุนัขและแมวเหล่านั้นคืนสู่ชุมชน ให้ชุมชนดูแลต่อไป ส่วนสุนัขหรือแมวที่สร้างปัญหาหรือมีนิสัยดุร้าย ไล่กัดคน ไม่สามารถอยู่ร่วมกับสุนัขชุมชนได้ กทม. และกลุ่มคนรักสัตว์ยินดีที่จะรับมาดูแลและฟื้นฟู

ทั้งนี้ จากแนวคิดดังกล่าวหากสามารถพัฒนาหลักเกณฑ์โครงการสุนัขชุมชนและหลักเกณฑ์ที่พักพิงสุนัขในชุมชนได้ รวมทั้งการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินการ ก็สามารถจะตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของสุนัขและแมวได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่ตามมาคือสามารถควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและสุนัขที่ทำร้ายประชาชน ส่วนการร้องเรียนปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่ บางครั้งกลุ่มคนรักสัตว์และคนในชุมชนมองว่าไม่ใช่ปัญหา กทม. และกลุ่มคนรักสัตว์จะช่วยเจรจาขอข้อยุติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามแนวคิดดังกล่าว คาดว่าภายในเวลาไม่กี่ปีจะสามารถลดการแพร่ขยายของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้










กำลังโหลดความคิดเห็น