พบสายการบินโลว์คอสต์แต่ละเจ้า คิดค่าน้ำหนักสัมภาระซับซ้อนมากขึ้น หลายเจ้าใช้วิธีแยกซื้อตอนจองตั๋วราคาหนึ่ง หลังจองตั๋วแล้วอีกราคาหนึ่ง ส่วนต่างสูงถึง 400 บาท ยิ่งซื้อหน้าเคาน์เตอร์ เสียเหมาจ่าย 850-1,000 บาท
... รายงาน
ในที่สุด “ไทยไลอ้อนแอร์” สายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airlines) ที่มีจุดขายให้ผู้โดยสารโหลดกระเป๋าสัมภาระใต้ท้องเครื่องฟรีมาตั้งแต่เปิดให้บริการก็จำต้องยกเลิกตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป
โดยผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562 จะต้องซื้อน้ำหนักสัมภาระแลอุปกรณ์กีฬาโหลดใต้ท้องเครื่องล่วงหน้าในราคาพิเศษตามน้ำหนักจริง ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
ทำให้ในขณะนี้ไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำรายใดในประเทศไทยให้ผู้โดยสารโหลดกระเป๋าฟรีอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าให้ผู้โดยสารนำสัมภาระขึ้นเครื่อง (Carry-on baggage) ตามเงื่อนไขที่กำหนด
MGR Online สำรวจสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่ให้บริการเส้นทางบินในประเทศ ทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่าแต่ละแห่งมีเงื่อนไขแตกต่างกันดังนี้
สายการบินนกแอร์ หลังจากยกเลิกสัมภาระเช็กอินฟรี 15 กิโลกรัมไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการแบ่งราคาตั๋วเครื่องบินออกเป็น 3 ระดับ
ได้แก่ บินเบาๆ (Nok Lite) บัตรโดยสารราคาโปรโมชั่น, บินสบาย (Nok X-Tra) ราคาจะสูงกว่าประมาณ 300-340 บาท แต่ได้สิทธิ์น้ำหนักกระเป๋า 15 กิโลกรัม และสะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส 150 ไมล์
ส่วน บินเพลิดเพลิน (Nok MAX) ราคาจะสูงกว่าราคาบินสบายประมาณ 300-600 บาท ซึ่งจะได้อาหารร้อนหรืออาหารว่าง และสะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส 250 ไมล์
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริการซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มเติม ที่เรียกว่า นกกระเป๋า โดยหากซื้อพร้อมบัตรโดยสาร ราคาเริ่มต้นที่ 20 กิโลกรัม 450 บาท สูงสุด 40 กิโลกรัม 1,340 บาท
แต่หลังจากซื้อบัตรโดยสารแล้ว ถ้าซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่ม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทาง คิดราคาเริ่มต้นที่ 20 กิโลกรัม 625 บาท สูงสุด 40 กิโลกรัม 1,740 บาท หรือต่างกัน 175-400 บาทเลยทีเดียว
ถ้าซื้อตั๋วเครื่องบินแล้ว ไม่ได้ซื้อน้ำหนักสัมภาระในวันเดินทาง จะคิดอัตราค่าธรรมเนียมน้ำหนักสัมภาระลงทะเบียนที่สนามบินแบบเหมาจ่าย สำหรับบัตรโดยสารไม่มีน้ำหนักสัมภาระ 15 กิโลกรัม 900 บาท
นอกจากนี้ หากเป็นสมาชิกนกแฟนคลับ ระดับนกสไมล์พลัส (เลื่อนสถานภาพสมาชิกเมื่อสะสมนกพอยท์ครบ 15,000 พอยท์ ภายในสิ้นปี) จะได้รับน้ำหนักสัมภาระเช็กอินฟรี เริ่มต้นที่ 10 กิโลกรัม
สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขึ้นชื่อว่าคิดค่าน้ำหนักสัมภาระแยกจากราคาตั๋วเครื่องบินต่างหาก ปัจจุบันพบว่า ยังคิดค่าธรรมเนียมสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไป เชียงใหม่ หากซื้อน้ำหนักสัมภาระระหว่างสำรองที่นั่ง จะเสียค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 15 กิโลกรัม 388.50 บาท สูงสุด 40 กิโลกรัม 1,092.00 บาท
แต่ถ้าสำรองที่นั่งแล้ว ซื้อน้ำหนักสัมภาระที่หลังจะต้องเสียเพิ่ม เริ่มต้นที่ 15 กิโลกรัม 451.50 บาท สูงสุด 40 กิโลกรัม 1,312.50 บาท คิดเป็นส่วนต่าง 63.00-220.50 บาทเลยทีเดียว
ไม่นับรวมหากต้องเสียเงินหน้าเคาน์เตอร์ กรณีที่ไม่ได้ซื้อน้ำหนักสัมภาระล่วงหน้า ต้องเสียค่าใช้จ่าย 15 กิโลกรัม 1,000 บาทเลยทีเดียว
สายการบินไทยเวียตเจ็ท พบว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คิดค่าธรรมเนียมสัมภาระใหม่สำหรับเที่ยวบินในประเทศ เริ่มต้นที่ 15 กิโลกรัม 220 บาท สูงสุด 40 กิโลกรัม 950 บาท
แต่ถ้าซื้อน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระในสนามบิน คิดราคาเหมาจ่าย 20 กิโลกรัม 850 บาท ซึ่งแพงกว่าซื้อน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้า 20 กิโลกรัม 320 บาท หรือต่างกัน 530 บาทเลยทีเดียว
สัมภาระขึ้นเครื่อง (Carry-on baggage) หากผู้โดยสารต้องการความประหยัด โดยไม่ซื้อน้ำหนักกระเป๋า แต่ละสายการบินให้นำกระเป๋าติดตัวขึ้นเครื่องสูงสุด 7 กิโลกรัม โดยมีการกำหนดขนาดดังนี้
- สายการบินนกแอร์ กระเป๋าสูงสุด 1 ใบ ถ้าเป็นเครื่องบิน Boeing 737 ขนาดกระเป๋า (กว้าง x ยาว x สูง) 56 x 36 x 23 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นเครื่องบินใบพัด ATR/Q400 ขนาดกระเป๋า 50 x 36 x 23 เซนติเมตร
- สายการบินไทยแอร์เอเชีย กระเป๋าสูงสุด 2 ใบ รวมกันไม่เกิน 7 กิโลกรัม แบ่งเป็นกระเป๋าสัมภาระ ขนาดกระเป๋า 56 x 36 x 23 เซนติเมตร และกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ขนาดกระเป๋า 40 x 30 x 10 เซนติเมตร
- สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กระเป๋าสูงสุด 1 ใบ ขนาดกระเป๋า 30 x 40 x 20 เซนติเมตร
- สายการบินไทยเวียตเจ็ท สามารถนำสัมภาระขนาดปกติขึ้นเครื่องได้หนึ่ง 1 ชิ้น และ ขนาดเล็ก 1 ชิ้น สัมภาระพกพาดังกล่าวจะต้องมีขนาด 56 x 36 x 23 เซนติเมตร
ที่สำคัญ หากพกพาของเหลว เจล และสเปรย์ทุกชนิด ต้องบรรจุในภาชนะที่มีขนาดความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ต้องใส่รวมไว้ในถุงพลาสติกใสซึ่งเปิด-ปิดผนึกได้ โดยถุงพลาสติกใสต้องมีขนาดไม่เกิน 1 ลิตร
อีกทางเลือกหนึ่ง คือการเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดระดับพรีเมียม (Premium Economy) เช่น ไทยสมายล์ หรือสายการบินเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่น การบินไทย และ บางกอกแอร์เวย์
เพราะแต่ละสายการบินจะให้น้ำหนักสัมภาระฟรี เริ่มต้นที่คนละ 20 กิโลกรัม โดยไม่ต้องซื้อเพิ่มเติม ยิ่งถ้าเป็นสมาชิกสายการบินระดับบนขึ้นไป ก็จะยิ่งได้รับน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นโยบายแต่ละสายการบินที่ให้ซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม ถือเป็นสิ่งนักเดินทางจะได้พิจารณารูปแบบการนำสัมภาระติดตัวท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ตามไลฟ์สไตล์การเดินทางของแต่ละคน
เพราะบางคนแบกเป้ใบเดียว มีเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชิ้น เมื่อสายการบินคิดเฉพาะค่าโดยสาร ยิ่งแข่งขันกันก็จะได้ค่าโดยสารที่ถูกลง ส่วนคนที่มีสัมภาระมากชิ้น ถ้าจะซื้อความสะดวกก็ต้องเสียเงินเป็นธรรมดา