xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวตนและแนวคิด “ฌอน-ศุภศิษฏ์” ซีอีโอธุรกิจหลักหมื่นล้านแห่ง “เมตะ คอร์ปอเรชั่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดชีวิตและตัวตน ซีอีโอหนุ่มไฟแรง “ฌอน-ศุภศิษฏ์” จากศิลปินค่ายเลิฟอิส และวง เดอะ บีกินส์ สู่นักบริหารธุรกิจมูลค่าเป็นหมื่นล้านในวัย 30 ต้นๆ เผยวิธีคิดนำพาธุรกิจในเครือ “เมตะ คอร์ปอเรชั่น” พร้อมทะยานสู่การเติบโตและยิ่งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน



สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารทางด้านธุรกิจอยู่เป็นประจำ ย่อมเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาบ้างไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยที่สุด ย่อมเคยได้ยินชื่อเดิมคือ “บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน)” ที่ก่อตั้งโดยซีอีโอมากความสามารถอย่าง “โสรัจ โรจนเบญจกุล” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “เมตะ คอร์ปอเรชั่น” อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน

โดยหลักๆ “เมตะ คอร์ปอเรชั่น” ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและยังเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้อย่างครบวงจร และเราสามารถพูดได้ว่า “ฌอน-ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์” กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมตะ คอร์ปอเรชั่น คือหนึ่งในฟันเฟืองตัวสำคัญซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนผลักดันธุรกิจดังกล่าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

เราพาไปเปิดใจทำความรู้จักกับนักบริหารที่ถือว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่กับภารกิจความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งเปิดมุมมองวิธีคิดในการบริหารธุรกิจสไตล์อดีตศิลปินนักร้องผู้นี้...

มีเสียง “ดนตรี”
อยู่ในดีเอ็นเอ

“จะเรียกว่าผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวดนตรีก็ได้ครับ” ผู้บริหารรุ่นหนุ่ม เริ่มต้นไล่เรียงลำดับความเป็นมาของชีวิตตนเอง

“คุณแม่ของผมท่านเป็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์-ฮ่องกง และเป็นศิลปินนักร้อง โดยมีวงชื่อว่า บลู ทรานซิสเตอร์ โด่งดังในยุคประมาณ 40 ปีที่แล้ว สมัยก่อนท่านก็ได้ไปร้องเพลงในหลายประเทศ ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งที่ประเทศไทย

“นั่นทำให้ผมเติบโตมาพร้อมกับเสียงดนตรี ตอนเรียนหนังสือผมก็ชอบอยู่ 2 วิชา คือ วิชาเลข กับวิชาดนตรี ผมว่าเลขและดนตรีมีความคล้ายคลึงกันมาก หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่ามันจะคล้ายคลึงกันได้ยังไง เป็นศิลปะหรือเปล่า

ถ้าคุณเคยเรียนดนตรี มันก็ต้องเรียนตัวโน้ตมาก่อน คุณต้องเข้าใจเรื่องเทคนิคของดนตรีซึ่งก็คือตัวเลข หรือการเทียบคีย์ มันก็ต้องใช้ตัวเลข อย่างคอร์ดต่างๆ ก็ใช้ตัวเลข เช่น ตัว Major ก็จะใช้ลบหนึ่งบวกสอง มันก็คือตัวเลขดีๆ นี่เอง ผมจึงชอบทั้ง 2 วิชานี้ และทำเกรดได้ดีกว่าวิชาอื่นๆ นี่คือตัวตนของผมครับ”

จากการที่โตมากับดนตรี มีเสียงเพลงอยู่ในดีเอ็นเอ พร้อมทั้งฝึกซ้อมฝึกเล่นฝึกร้องมาตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ผมจบด้านการเงินจากธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในสาขาไฟแนนเชียล แต่เรื่องดนตรีก็ไม่เคยหายไปไหนนะ เรายังซ้อมและเล่นอยู่ตลอด และตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ ไปประกวดตามเวทีต่างๆ อยู่เสมอ อย่างเวทีของสยามกลการ ผมก็ได้รางวัลยุวชนชายดีเด่น ต่อจากปีที่ “ทาทา ยัง” ได้รับ ไปแข่งระดับอาเซียนก็ไปมาแล้ว ไปแข่งแล้วชนะกลับมาตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 16 ปี”

เดินตามฝัน...
ก้าวสู่การเป็นนักร้องใต้ชายคา Love Is

เพราะมีดนตรีและเสียงเพลงอยู่ในสายเลือด เมื่อจบการศึกษาที่ถือว่าเป็นเสาหลักให้กับชีวิตได้แล้ว เสียงเพรียกแห่งเสียงเพลงและดนตรีที่กระหึ่มอยู่ในใจไม่เคยเหือดหาย ก็ทำให้เขาตัดสินใจที่จะก้าวเดินตามฝัน มุ่งมั่นสู่การเป็นนักร้องอย่างจริงจังสักครั้งหนึ่งในชีวิต


“เมื่อปี 2005 ผมเรียนจบปริญญาโท ผมอยากทำตามความฝันวัยเด็ก ก็ส่งเทปเดโมไปที่ค่าย Bakery Music แล้ว Love Is เพิ่งเปิด เลยได้เป็น 11 ศิลปินใหม่ของพี่บอย โกสิยพงษ์ ออกอัลบั้มชุดนั้น ชื่อว่า Rhythm & boyd Eleven มีเพลงฮิตๆ ในชุดนั้นก็มีเพลงอย่างเช่น ‘คำถามโง่ๆ ที่ฉันรู้ ส่วนศิลปินที่ดังๆ ในตอนนั้นซึ่งมาร้องในอัลบั้มนี้ด้วยกันก็มี ‘ตู่ ภพธร’ และ ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ ส่วนผมก็เป็นคนที่ไม่ได้ดังตอนนั้น”

อดีตศิลปินหน้าใหม่ในอัลบั้ม Rhythm & boyd Eleven เว้นวรรคหัวเราะเบาๆ ก่อนจะเล่าต่อ

“ในอัลบั้มนั้นผมมีโอกาสได้ลองร้องเพลงหนึ่งเพลง ชื่อว่า ‘อยากไป’ และได้มีโอกาสขึ้นคอนเสิร์ตของพี่บอยมาตั้งแต่ตอนนั้น ได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ สนุกมาก แต่จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำวงของตัวเอง ส่วนผมก็มีโอกาสได้ทำวงชื่อว่า The Begins ที่ปัจจุบันเป็นเบื้องหลังของรายการ The Voice ขณะที่พี่ ‘วุฒิ วงศ์สรรเสริญ’ 1 ใน 5 สมาชิกของวงเราเป็นโปรดิวเซอร์เบื้องหลังให้กับเดอะ วอยซ์ ก็คือเดอะ วอยซ์ ทุกซีซัน เขาคนนี้แหละที่เป็น Music Director เช่นเดียวกับมือกลองของวง คุณเคลวิน (Kelvin)

หลังจากนั้นเราก็ได้เล่นในนามวง The Begins นี้เรื่อยมา จนได้รับรางวัลสีสันอวอร์ดส์ ในปี 2009 เป็นรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากเพลง ‘ขอบคุณ’ ก็ถือว่าเป็นจุดพีกของพวกเรา

แม้ว่าสุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่ได้ดังทะลุฟ้า แต่ก็ทำเพลงคุณภาพ ที่อยู่ๆ ไปได้การดูแลของพี่บอย โกสิยพงษ์ ได้ขึ้นคอนเสิร์ตของพี่บอยอยู่เรื่อยๆ ได้เล่นได้ร้องบ้าง หรือบางคอนเสิร์ตผมก็ได้ร้องคอรัสทั้งคอนเสิร์ตเลย”

สู่ความท้าทายใหม่
ในวันที่อยากเป็นนายของตัวเอง

ขณะที่ตัวตนด้านหนึ่งเดินอยู่บนถนนดนตรี แต่ชีวิตอีกด้าน “ฌอน-ศุภศิษฏ์” ก็มีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ และเมื่อถึงวันหนึ่ง คล้ายชีวิตถึงจุดอิ่มตัวกับงานประจำ คำถามในใจก็เกิดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเริ่มต้นอะไรที่เป็นของตัวเอง

“อันที่จริงการเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก ควบคู่กับการทำงานประจำ มันก็สนุกดีครับ คือตอนนั้นผมก็ทำงานเป็นแบงเกอร์อยู่ที่ HSBC ราวๆ 3 ปี หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปอยู่ตลาดหลักทรัพย์ เวียนว่ายอยู่ประมาณ 5 หลักทรัพย์ รวมๆ แล้วก็ประมาณ 7 ปีกับประสบการณ์ทำงาน จนถึงวันหนึ่งเรารู้สึกว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง อยากเป็นนายตัวเอง แล้วจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้ทำงานกับสถาบันการเงินระดับโลก ผมก็คิดว่าถึงเวลาที่เราน่าจะออกไปลุย

ผมก็มองว่าการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นอะไรที่ความท้าทายอย่างหนึ่ง เราก็เลยถามตัวเองว่าธุรกิจอะไรที่น่าสนใจที่จะเอาเข้าตลาดฯ ได้ดี ซึ่งวันนั้นสิ่งที่ผมบอกกับตัวเองและพาร์ตเนอร์ก็คือ ผมพูดถึง เรียล เอสเตท (Real Estate) กับธุรกิจพลังงาน สุดท้ายก็สรุปที่เรื่องพลังงาน โดยผมมองว่าธุรกิจนี้มีความปลอดภัยมาก น่าจะเข้าตลาดหุ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ แล้วถ้าบริษัทเติบโตแล้วขยายได้ ถ้าเป็นภาษาที่คุยกับเพื่อนๆ ก็ถือว่าเซ็กซี่มากๆ

คือต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ไปทำงานกับบริษัทพลังงานบริษัทหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น แล้วผมก็ใช้ Portfolio ที่ญี่ปุ่นไปสมัครสัมปทานที่พม่า จนได้โครงการ 221 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในโลกอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งวันนี้ก็น่าจะใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามตารางที่วางไว้ไม่น่าจะเกินมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ปี 2562 นี้ ก็จะเสร็จสมบูรณ์แบบ เพราะว่ามันเป็น Flagship Project ของทางพม่าเลย เพราะประเทศพม่าในปัจจุบันนี้สามารถเข้าถึงได้แค่ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4

เราถือว่าเป็นโครงการแรกๆ ที่เข้าไปในช่วงพัฒนา ถามว่าประเทศที่เพิ่งเปิด ธุรกิจอะไรที่น่าลงทุนที่สุด ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับ Infrastructure เพราะว่าเกิดจากสิ่งนี้ก่อน ถนนหนทาง สายส่ง คือถ้าไม่มีตรงนี้ประเทศก็จะพัฒนาไม่ได้ ผมก็เลยมองว่าธุรกิจไฟฟ้าเป็นที่น่าสนใจ แล้วโชคดีที่เรามีประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นมาก่อน แล้วมีวิศวกรที่เก่งมากๆ มาร่วมงานด้วย โดยผมได้ร่วมงานกับทางบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัวมากๆ เลย

นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า ผมได้มีโอกาสมาร่วมงานทางด้านโรงไฟฟ้า จนได้มาเป็น CEO บริษัทนี้ ซึ่งก็เป็นความท้าทายครับ เพราะว่าเมื่อก่อนเป็นแค่นักพัฒนาโครงการ ตอนนี้ต้องมาคุมทีม บริหารคน ก็สนุกดีครับ”

ดนตรี & ธุรกิจ ไม่ต่างกัน
หลักบริหารที่ปรับประยุกต์ได้


กล่าวสำหรับโครงการที่เขารับผิดชอบอยู่ ประเมินมูลค่าได้ว่าไม่น้อยกว่าหมื่นล้าน ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารทั้งทีมและคนและโครงการ จากเด็กหนุ่มที่มุ่งมั่นในดนตรี มาถึงวันนี้ที่ต้องนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร “ฌอน-ศุภศิษฏ์” บอกว่า จริงๆ แล้วสกิลทางด้านดนตรีก็นำมาใช้กับการบริหารธุรกิจได้เช่นกัน และ...แทบไม่ต่างกัน

“ถามว่าการเป็นศิลปินกับการเป็นศิลปินแตกต่างกันอย่างไร ผมว่าไม่แตกต่างกันนะครับ เพราะผมเชื่อว่างานทุกๆ อย่างเราต้องมีวินัย ต้องมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน ถ้าเราไม่มีจุดมุ่งหมายและปรัชญาในการทำงาน ผมว่ามันจะทำไปแบบ...ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง

อย่างในการทำอัลบั้มหนึ่งขึ้นมา เราชอบอะไร เรามี Passion กับอะไร เผอิญเราอยากทำดนตรี Rhythm and Blues แล้วเราชอบดนตรีหลายๆ แบบ ให้อาร์แอนด์บี แจ๊ซ มารวมกัน มันก็จะออกมาเป็น Rhythm & Disco แต่ถามว่าเป็นดนตรีสายแมสหรือป็อปไหม ก็ไม่ใช่ แต่เรารู้แล้วว่ามันจะออกมาแบบนี้ แล้วเราก็ตั้งใจว่าถ้าทำต้องได้รางวัล นั่นคือจุดมุ่งหมาย แล้วเราโชคดีที่เราได้รางวัลมา

พูดถึงการทำธุรกิจ อย่างการทำโรงไฟฟ้า มันก็ต้องทำให้เสร็จใช่ไหมครับ แล้วเราต้องเอาเข้าตลาดหุ้นให้ได้ ตอนนี้ก็มีโอกาสโจะเข้าตลาดหุ้นได้ อันนี้คือความฝัน ผมว่าทั้งการทำงานเป็นศิลปินหรือนักธุรกิจมันต้องมีการวางแผน มีวินัย เราต้องรู้จักกรอบ รู้จักบริหารความสุข แม้กระทั่งดนตรี ถ้าเราร้องเพลงมากเกินไป รับงานมากเกินไป ซ้อมมากเกินไปก็จะทำให้เราป่วยได้ เส้นเสียงมีปัญหา แล้วถ้าเราซ้อมน้อยเกินไป ไม่มีความตั้งใจในการซ้อม ไม่มีทีมเวิร์กในการเล่นดนตรีเป็นวง ก็พังได้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับการทำงานเป็นนักธุรกิจ ที่บริหารบริษัทมหาชนหรืออะไรก็ตาม ในฐานะหัวหน้างาน เราก็ต้องบริหารคน เราก็ต้องทำงานเป็นทีม ถ้าทุกคนไม่ทำงานเป็นทีม มันก็พังเหมือนกัน”

หากจะถามถึงหลักคิดในการทำงาน ผู้บริหารระดับซีอีโอวัยหนุ่มบอกว่า ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนอยู่ที่เรื่องของการบริหาร “คน”

“ผมว่าบริษัทจะเดินได้ ต้องอยู่ที่คนนะ คือมันต้องมี Philosophy ของบริษัทให้คนเข้าใจสิ่งนั้นว่าบริษัทเดินไปทางไหน บริษัทเราเกิดมาเพื่อทำอะไร จุดมุ่งหมายของบริษัทคืออะไร หลังจากนั้นเราก็ต้องมีแผนการเพื่อให้ทุกคนเป็นแบบนั้น ถ้าอยากให้บริษัทเดินช้าๆ เราก็ต้องให้คนเดินช้าตาม ถ้าเราเดินแบบเร็ว เราก็ต้องเดินตามระบบเร็ว สำคัญที่สุดก็คือเราต้องเดินตามแผนงานให้ได้ แล้วก็ต้องมีการตรวจสอบผล ผมว่ามันคือการทำงานที่ถูกต้อง ทุกๆ ที่ต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มีแผน มีการเช็ก มีการประเมิน หลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยน จริงๆ แม้กระทั่งดนตรี ฟังแล้วมันได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ต้องปรับ”

กุญแจดอกสำคัญ
ไขสู่ความสำเร็จในธุรกิจต่างประเทศ

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน” ผู้บริหารหนุ่มหล่อให้คำตอบอย่างรวดเร็วเมื่อถามถึงหลักการทำธุรกิจในต่างประเทศ

“อย่าคิดว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูกแล้ว เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเขา ไม่อย่างนั้นเวลาไปทำงานต่างประเทศ คุณก็จะกลายเป็นคนดื้อแพ่งแล้วทำงานไม่สำเร็จ คุณต้องเข้าใจทุกที่ที่คุณไป ก็ต้องเปิดรับในสิ่งที่เป็นความต่างทางวัฒนธรรม สามารถเรียนรู้ในสิ่งดีๆ ของเขา อันนี้คือกุญแจที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจต่างประเทศ ต้องเข้าใจ คือเรื่องกฎหมาย เรื่องภาษีในประเทศและต่างประเทศ มันต้องเรียนรู้อยู่แล้ว แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวัฒนธรรม เราต้องเข้าใจเขาให้ได้

ถ้าคุณไม่เข้าใจเขา เขาก็จะไม่คุยกับคุณ เขาก็จะไม่เชื่อคุณด้วย เพราะหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเป็นนักธุรกิจก็คือเราต้องเป็นคนน่าเชื่อถือ ฉะนั้น ถ้าเราพูดอะไรไปแล้วเขาไม่เชื่อเรา หรือพูดอะไรไปแล้วไปดูถูกวัฒนธรรมเขา เราก็คงทำงานกับเขาไม่ได้

เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดเลยก็คือ เราต้องไปด้วยใจและเข้าใจวัฒนธรรมเขา ศึกษาก่อนไป ถามและฟังเยอะๆ สังเกตเยอะๆ ว่าพฤติกรรมของคนเป็นยังไง ขณะที่การสื่อสารก็ต้องพยายามสื่อสารให้ต่อเนื่อง ให้มั่นใจว่าเขาเข้าใจเหมือนเรา บางทีตอบ Yes ตลอด แต่เข้าใจไปคนละเรื่อง เราต้องตรวจสอบเพื่อความแน่ใจ”






กำลังโหลดความคิดเห็น